โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคเหนือ

ที่มีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่มากกว่า 20 ปีนั้น เป็นอีกเสียงหนึ่งที่เชื่อมั่น และศรัทธาในแนวคิดเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ลุงอนันต์ สมจักร์ แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ได้ให้หลักคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ ต้องทำให้ครบวงจรทั้งด้านการผลิต แปรรูป มาตรฐาน ตลาด ต้องมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน โดยควบคู่กับการวางแผนด้านการผลิตที่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์, การวางผังไร่นาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศในพื้นที่ มีการรวมกลุ่ม และที่สำคัญต้องมีการวางแผนด้านการเงินด้วยถึงจะอยู่รอด” ลุงอนันต์ เริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2541 โดยการส่งเสริมของสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 22 ราย ซึ่งทำการผลิตโดยนำแนวคิดเช่นเดียวกับลุงอนันต์มาเป็นหลักในการจัดการแปลงการผลิต และจากหลักคิดดังกล่าว สมาชิกลุ่มสามารถปลดหนี้เดิมจากการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว บางรายมีเงินออมสามารถซื้อที่ดินทำการเกษตรเพิ่มดังเช่นลุงอนันต์ ซึ่งแต่เดิมทำการผลิตในที่ดินของพ่อจำนวน 1 ไร่ครึ่ง แต่หลังจากทำเกษตรอินทรีย์ก็สามารถมีเงินออมซื้อที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งมีทั้งหมด 7 ไร่ครึ่ง โดยแบ่งพื้นที่ทำการผลิต ข้าว ถั่วเหลือง กล้วยน้ำว้า พืชผักตามฤดูกาล พืชพื้นบ้าน เลี้ยงวัว หมู ไก่ เป็ด และปลา เพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากการผลิตแล้ว ทางกลุ่มยังได้ส่งเสริมให้สมาชิกมีการแปรรูปให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวกล้อง เต้าหู้ ชาสมุนไพร ข้าวแคบ เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ (ได้แก่ ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี, ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ทุกวันจันทร์, และตลาดนัดจริงใจมาร์เก็ต ทุกวันเสาร์), จำหน่ายผลผลิตให้กับร้านค้าเพื่อสุขภาพ, และการส่งผักสดให้กับโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ตำบลสบเปิงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายพื้นที่อาหารอินทรีย์ในชุมชน

ภาพ 1 ลุงอนันต์ และพี่วีนัส สมจักร ร่วมจำหน่ายผลผลิต ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่

หลักคิดของลุงอนันต์ ได้ส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ได้เริ่มต้นทำการเกษตร ที่มีความเชื่อมั่นว่าระบบเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นทำให้อยู่ได้จริงทั้งเรื่องอาหาร และอยู่รอดในเชิงเศรษฐกิจ ดังเช่น กุ้ง (สุพรรณี สมจักร) และเบนท์ (กฤษฎา ธรรมรักษา) คนรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองจากการทำงานในเมือง มาทำการเกษตรของพ่อแม่ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดอนเจียง ที่ตอนเริ่มต้นยังไม่มั่นใจในระบบการผลิต แต่หลังจากได้รับคำปรึกษาจากพ่อแม่ และแกนนำกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ทั้งสองมีความมั่นใจในการผลิตเพิ่มขึ้น “หากถามว่าทุกวันนี้อยู่ได้จริงกับการทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ ขอตอบว่าอยู่ได้จริง แต่ต้องมีการวางแผนด้านการผลิต การเงิน อย่างรอบคอบ ว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากช่องทางใดบ้าง หากจำหน่ายผักสดอย่างเดียวและไม่หลากหลายอาจมีรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้นต้องมีการปรับผลผลิตให้มีความหลากหลายและความต่อเนื่องทั้งผักสด การแปรรูปเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันทั้งกุ้ง และเบนท์ เป็นแกนนำของคนรุ่นใหม่ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียงในการพัฒนาช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มโดยทำงานเชื่อมกับโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการส่งผักสดสำหรับอาหารกลางวัน รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการแปรรูปของกลุ่มร่วมกับทีมคนรุ่นใหม่ในชุมชน

ภาพ 2 กุ้ง สุพรรณี และเบนท์ กฤษฎา ร่วมจำหน่ายผลผลิต ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่

ที่มา : ธันวา จิตต์สงวน, 2543. การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน: บทวิเคราะห์จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม. ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน. รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ 15-17 พฤศจิกายน 2543
ธันวา จิตต์สงวน, บัณฑิณี สูตรสุคนธ์, และวิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย, 2543. รายงานการวิจัย แนวทาง และนโยบายในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน กรณีศึกษาภาคเหนือ. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล, 2545. รายงานวิจัยแนวทางการพัฒนาเกษตรยั่งยืน. โครงการนำรองเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรรายย่อยภูมินิเวศน์ภูพาน
Weil. R. R, (2533). Defining and Using the Concept of Sustainable Agriculture. J. AgronE. duc1. 9:126-13

บทความแนะนำ