โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

พันธุ์ข้าวต้องเป็นของชาวนา

          “การเข้าร่วม CPTTP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประเทศไทยต้องแก้ พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองได้ เพราะจะผิดกฎหมาย แต่จะเอื้อให้การปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นบทบาทของนักปรับปรุงพันธุ์ภายใต้บริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ และหากพันธุ์พืชของเกษตรกรกลายพันธุ์ หรือมีการผสมโดยบังเอิญจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ยังคงลักษณะสำคัญบางอย่างของสายพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับบริษัทเอกชน พันธุ์พืชใหม่นั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์…….” นี่เป็นเพียงผลกระทบบางส่วนที่จะเกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ภาคประชาสังคมได้ลุกมาคัดค้านการเข้าร่วม CPTTP

ปรากฎการณ์ :วิถีชาวนากับพันธุ์ข้าว

         “ข้าวถือเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่ด้วยระบบการทำนาเพื่อตอบสนองการค้า ต้องเร่งผลผลิตให้ได้หลายรอบต่อปี ส่งผลให้ข้าวมีความแปรปรวนอ่อนไหว ในพื้นที่นาน้ำฝนไม่สามารถผลิตข้าวได้หลายรอบต่อปี แม้มีความพยายามจากหน่วยงานรัฐในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พบว่าบางครั้งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ พันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงมานั้นไม่เหมาะสมกับน้ำท่วมที่มีลักษณะน้ำขุ่น ข้าวจึงไม่เจริญเติบโต” ดาวเรือง พืชผล กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ตำบลกำแมด ได้กล่าวไว้ในเทศกาลพันธุกรรมพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 ที่สำคัญดาวเรืองกล่าวย้ำว่า “ชาวนาต้องลุกขึ้นมาปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์ รวมทั้งรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวเอาไว้ เพราะถึงที่สุดแล้วชาวนาต้องเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าว”

         ปรากฏการณ์วิถีชาวนาที่ผ่านมายืนยันได้ว่า ชาวนามีศักยภาพในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตรงตามสายพันธุ์ และมีความเหมาะสมตามระบบนิเวศที่แตกต่างกันไป ที่สำคัญชาวนาเรียนรู้ลักษณะสายพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด เช่น อายุการเก็บเกี่ยว ลักษณะสีเมล็ด การแตกกอ ลักษณะใบธง ความสูง สีใบ ลักษณะข้าวกล้อง ข้าวสาร และการใช้ประโยชน์ ฯลฯ แล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นมาเพาะขยายเพื่อให้ได้พันธุ์แท้มีสายเลือดเดียวกันต่อไป ซึ่งทำให้ชาวนามีพันธุ์ข้าวไว้ใช้หรือจำหน่าย รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างวิถีชาวนากับพันธุ์ข้าว

         พื้นที่ภาคใต้ จังหวัดพัทลุง นายอำนาจ เกตุขาว ชาวนาจากชุมชนแหลมโตนด อำเภอควนขนุน มีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวด้วยแกะ เรียกว่า “พันธุกรรมบนหน้าแกะ” แกะ เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวนาภาคใต้ ที่อาศัยการสังเกตุในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เมล็ดต่อเมล็ด ทำให้เห็นลักษณะข้าวทุกรวง เป็นการพัฒนาพันธุ์แบบธรรมชาติ วันนี้ชุมชนแหลมโตนดได้พัฒนาพันธุ์ข้าว “เล็บนกดำ” ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ได้สำเร็จและสามารถขยายพันธุ์จากชาวนาสู่ชาวนาเพื่อชาวนาได้

         พิชิตพล แสนโครต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดมหาสารคาม ได้ใช้งานศึกษาวิจัยท้องถิ่น ในการศึกษาค้นหาและพัฒนาพันธุ์ข้าวไร่ ทำให้เกิดข้อสรุปที่เป็นข้อคิดสำคัญว่า “ไม่มีพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก แต่พันธุ์ข้าวที่ดีต้องตอบสนองความต้องการด้านการผลิต และความต้องการในการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวนา” ที่สำคัญชาวนาต้องรักษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเอาไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการสูญพันธุ์ เพราะหากพันธุ์ข้าวชนิดหนึ่งสูญหายไป ก็ยังเหลือพันธุ์ข้าวชนิดอื่นๆ ให้ชาวนาสามารถปลูกต่อไปได้

         ในขณะที่มูลนิธิฮักเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างการเรียนรู้ ในการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าว จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวน่าน 59 ขึ้นมาจัดจำหน่ายให้กับชาวนาที่สนใจ รวมทั้งไม่ละเลยที่จะรวบรวมพันธุ์ข้าวไว้หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองทั้งการใช้ และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของชาวนา ดังนั้น “ชาวนาต้องรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของชาวนาเอง”

         สำหรับการทำนาภาคกลางที่อาศัยระบบชลประทาน สุขสันต์ กันตรี มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวไว้ว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านของภาคกลางนั้นหายไปเกือบ 100% การทำนาชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง ที่สำคัญพันธุ์ข้าวเหล่านั้นไม่ได้ตามโจทย์การบริโภคและความต้องการชาวนา ดังนั้น “การฟื้นฟูพันธุกรรมข้าวและปรับปรุงพันธุ์ต้องดำเนินการด้วยกระบวนการของชาวนาเอง โดยมีการวางเป้าหมายยกระดับพัฒนาพันธุ์ในหลากหลายมิติ” ทั้งความเหมาะสมต่อนิเวศ การใช้ประโยชน์หรือการแปรรูป เช่น ข้าวเม่า ข้าวหลาม ข้าวหมาก ขนมจีน รวมไปถึงทำอาหารสัตว์ ฯลฯ เพื่อรองรับกับความต้องการผู้บริโภคและความเป็นเจ้าของพันธุกรรมของชาวนา 

         ในขณะที่นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ดร.รณชัย ช่างศรี จากศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ที่สนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยตัวชาวนาเอง ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศที่เกิดขึ้น เป็นประเด็นท้าทายนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ดังนั้น ชาวนาไม่สามารถทำนาแบบเดิมได้ แต่ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม เช่น การหยอดข้าวลึก 4 เซนติเมตรเพื่อให้รากข้าวหาอาหารได้ลึกขึ้น และแข่งขันกับวัชพืชได้ ชาวนาต้องปรับเปลี่ยนระยะเวลาการปลูกให้เหมาะสมกับฤดูกาล ซึ่ง “ชาวนาที่เป็นนักปรับปรุงพันธุ์ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมไปถึงต้องปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ตรงตามความต้องการของชาวนา ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่้ท้าทาย”

         วิถีชาวนาที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ ที่ยืนยันได้ว่า “ชาวนาต้องเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าว และมีสิทธิ์ในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ได้ตามความต้องการของชาวนา ที่คำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพนิเวศและการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย รวมถึงมีสิทธิในการแจกจ่าย แบ่งปันหรือจำหน่ายพันธุ์ข้าวด้วยตัวและกลุ่มของชาวนาโดยที่เมล็ดพันธุ์ไม่ตกอยู่เพียงแค่บริษัทค้าขายเมล็ดพันธุ์และนักปรับปรุงพันธุ์ภายใต้เงื่อนไข ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTTP

บทความแนะนำ