โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา คือกระบวนการที่จะนำแผนที่เขียนไว้ให้เกิดปฏิบัติการอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อให้บรรลุตรงตามเป้าหมายที่ระบุไว้ รวมทั้งแผนปฏิบัติการไม่ได้ตรงตามความต้องการหรือแก้ปัญหาภาคเกษตรของชุมชนได้ ดังนั้น ก่อนการดำเนินงานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ควรต้องทบทวนบทเรียนประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้ขับเคลื่อนกันมา รวมถึงการนำสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมาวิเคราะห์ ซึ่งสุดท้ายต้องเกิดขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมจึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนตัวอย่างเช่น

       สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ ราคาข้าวเปลือกตกต่ำอยู่ในระดับตันละ 5,000-6,000 บาทมานานหลายปี วิถีชาวนาจึงตกอยู่ในความยากจนและเป็นหนี้เป็นสิน ถึงแม้จะมีมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมจากรัฐ ไม่ว่ามาตรอุดหนุนสินค้าเกษตรจำนวนกว่า 1.7 แสนล้านบาท พืชหลังนา นาแปลงใหญ่ การจ่ายเงินสนับสนุนทำนาอินทรีย์จำนวน 1ล้านไร่ ซึ่งพบว่าข้าวอินทรีย์มีปริมาณล้นเกินที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ ทั้งสาเหตุจากข้าวอินทรีย์มีการผลิตเป็นจำนวนมากจึงอยู่ในสภาพการแข่งขันกันมากขึ้น  และผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กินข้าวน้อยลง มาตรการที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้ช่วยเหลือชาวนาได้ในระยะยาว

       เครื่องมือหรือปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสม ในการทำเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะชาวนารายย่อย ต้องเผชิญกับระบบการผลิตที่มีต้นทุนสูง อันเนื่องจากข้อจำกัดของเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ว่า เครื่องมือในการจัดการวัชพืช  รถเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าว ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพโดยตั้งอยู่บนฐานเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้สอดคล้องต่อระบบการผลิตแบบเกษตรยั่งยืน และสามารถกระจายความเป็นธรรมให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

       การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลต่อการทำนาทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง การระบาดของโรคแมลง อย่างที่ส่งผลเห็นได้ชัด คือข้าวไม่ผสมเกสรจากอุณหภูมิที่สูงเกินไป ในขณะเดียวกันนโยบายการจัดการน้ำที่ไม่สอดคล้อง เมื่อปริมาณน้ำฝนที่มีมากไปจึงมีโครงการผันน้ำลงพื้นที่นาเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มภาคกลางได้กลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำ และหลายพื้นที่ถูกปรับให้เป็นแก้มลิง

       ปัญหาศัตรูข้าว การทำนาในปัจจุบันชาวนาเผชิญกับปัญหาศัตรูข้าว อย่างเช่นนก ในพื้นที่นาตำบลคลองโยงและตำบลลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม ชาวนาต้องไล่นกโดยใช้ประทัดยักษ์ หรือประทัดปิงปองจุด และต้องใช้เวลาช่วงข้าวออกเมล็ดจนกว่าจะสุกเกือบ 1 เดือน ส่งผลให้การใช้เวลาในการดูแลและต้นทุนการทำนาสูงขึ้นไปอีก

จากสภาพปัญหาที่หลากหลายต่างเชื่อมโยงกันและกันล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวนา สำหรับชาวนาตำบลคลองโยงและลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม ถึงแม้ได้มีการปรับตัวโดยแบ่งพื้นที่ทำนาข้าวเป็นนาบัว หรือการปลูกผักต่างๆ แล้วก็ตาม ผลผลิตในแปลงนาลดลงไปถึง 30-40% ต่อครัวเรือน ซึ่งไม่ต่างจากชาวนาอื่นๆ ที่ได้มีการดิ้นรนและปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น นอกจากการทบทวนบทเรียนประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชาวนาแล้ว ข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับแนวทางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 มีดังนี้

  • ปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสม รัฐต้องสนับสนุนให้ชาวนาเป็นผู้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น เช่น ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ไม่ไวแสง มีความเหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่และเป็นความต้องการของตลาด
  • สร้างความหลากหลายในแปลง สนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวนาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่สามารถเกื้อกูลกัน นำไปสู่การลดปัจจัยการผลิต มีผลผลิตที่หลากหลายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ครัวเรือนและจำหน่ายได้ เพื่อให้การทำเกษตรรายย่อยเป็นหน่วยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และสร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืนได้
  • สนับสนุนเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำนามากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การเตรียมดิน เครื่องมือในการจัดการดูแลช่วงการเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องที่ชาวนารายย่อยสามารถนำไปใช้หรือสามารถจัดการได้โดยง่าย
  • มีตลาดสีเขียวในชุมชน เพื่อรองรับผลผลิตที่หลากหลาย และเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ของคนปลูกกับผู้บริโภค ทั้งในประเด็นระบบการผลิต การสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนสวัสดิการให้ชาวนาอย่างทั่วถึง เพื่อความอยู่รอดและศักดิ์ศรีของชาวนา

บทความแนะนำ