“รายได้ที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นรายได้วันต่อวัน ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและประหยัดสุดๆ หมุนเงินกันไป ยืมจากอีกที่ไปจ่ายอีกที่ ใครมีอะไรมาจ้างให้ทำก็ทำเพื่อพอมีเงินมา” เสียงของเตือน (นามสมมุติ)ที่ส่งมาจากชุมชนไล่รื้อแห่งหนึ่งต่อสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3
การไล่รื้อชุมชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการขับไล่คนจนออกนอกเมือง เพื่อนำที่ดินมาปรับปรุงเป็นพื้นที่ระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ หรือสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนของคนเมือง ตามนโยบายจัดระเบียบชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองหรือที่ดินสาธารณะของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินเอกชน โดยอ้างว่าชุมชนเป็นผู้บุกรุกในที่ดินสาธารณะหรือที่ดินส่วนบุคคล และการไล่รื้อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นธรรม หน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ารื้อถอนบ้านเรือนได้ตามอำเภอใจ ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนตั้งตัวหรือเตรียมความพร้อมกับการไล่รื้อ ขณะที่การดำรงชีวิตประจำวันของคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย เก็บหาซื้อของเก่า ซึ่งไม่ได้รับหรือไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านต่างๆ ของรัฐได้อยู่แล้ว การไล่รื้อจึงเป็นการซ้ำเติมชีวิตของผู้คนในชุมชน
การไล่รื้อทำให้ชุมชนแตกกระเซ็นแยกย้ายไปหาที่อยู่กันใหม่ บ้างไปหาห้องเช่าราคาถูก หรือรวมตัวกันหาซื้อที่ดินและสร้างที่อยู่แห่งใหม่ เพื่อให้มีกรรมสิทธิในบ้านและที่ดินเป็นข้อยืนยันว่าจะไม่ถูกไล่รื้ออีก แต่ถ้าไม่มีทางเลือกอาจกลายเป็นคนไร้บ้าน การไล่รื้อได้ส่งผลกระทบทั้งด้านที่อยู่อาศัย และอาชีพที่เคยทำกิน ทำให้ชุมชนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของชีวิต
ซ้ำร้าย…นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรกต้นปี 2563 นำมาสู่มาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2563 แต่ห่างจากนั้นเพียง 3 เดือนช่วงธันวาคม 2563 ก็ต้องเผชิญการแพร่ระบาดระลอก 2 อีกครั้ง สถานการณ์ยังไม่ได้คลีคลายก็เกิดการระบาดอย่างรุนแรงทั่วทุกจังหวัดในระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา อัตราของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1,000-2,000 คน/วัน รวมถึงอัตราของผู้เสียชีวิตที่มีมากขึ้น จนเป็นที่วิตกกังวลของผู้คนในสังคมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การแพร่ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าในระยะกว่าปี ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วทุกอาชีพ สำหรับชุมชนถูกไล่รื้อแล้วยิ่งต้องหาทางดิ้นรนมากขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19
เสียงสะท้อนจากคนชุมชนไล่รื้อ
การมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่ถูกไล่รื้อและรอการก่อสร้างที่อยู่ใหม่แถบชานเมืองกรุงเทพฯ ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและการปรับตัวที่เกิดขึ้น เช่น
นายศรี (นามสมมุติ) อายุ 56 ปี หลังจากประสบการไล่รื้อในปี 2561 ได้ตัดสินใจลาออกจากพนักงานขับรถสิบล้อรับจ้าง แล้วขายรถกระบะที่มีเพื่อมาซื้อรถเก่งสำหรับขับ grab car ด้วยเห็นว่าเป็นอาชีพอิสระและทำรายได้ให้ดี ช่วงแรกเริ่มปลายปี 2562 ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรายได้หักค่าน้ำมันแล้ว 1,000 บาท/วัน หรือ 30,000 บาท/เดือน แต่ทำได้ 4 เดือน เมื่อโควิดระบาดในระลอกแรก รายได้ลดลงเหลือเพียง 300-400 บาท/วัน เมื่อสถานการณ์คลีคลาย ในเดือนมิถุนายน 2563 จนถึงมีนาคม 2564 รายได้ขยับมาเป็น 600-700 บาท/วัน แต่พอต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือน รายได้กลับมาอยู่ระหว่าง 300-400 บาท/วัน หรือ 9,000-12,000 บาท/เดือน ซึ่งลดจากเดิมก่อนการแพร่ระบาดของโควิดไปเกือบ 20,000 บาท “ผลกระทบจากโควิดทำให้รายได้ลดลงมากไม่มีผู้โดยสาร เมื่อก่อนเคยได้ผู้โดยสารต่างชาติ หรือผู้โดยสารจากร้านอาหารในยามค่ำคืน แต่เมื่อร้านอาหารกำหนดเวลาปิด รวมทั้งร้านอาหารได้ปิดตัวเองลง ต่างชาติเข้ามาในประเทศไม่ได้ และสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้ส่งผลต่ออาชีพโดยตรง” หากการแพร่ระบาดยังต่อเนื่องก็จะแย่และไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนนี้ทำได้แค่ขอเลื่อนการผ่อนค่างวดรถที่ตกเดือนละ 8,400 บาท
ขณะที่นางเนตร (นามสมมุติ) อายุ 52 ปี และนายดำ (นามสมมุติ) อายุ 50 ปี สองสามีภรรยา ก่อนโควิด นางเนตรได้รับเงินจากลูกสาวสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท ส่วนนายดำก็ขับ TAXI แต่ช่วงต้นปี 2560 ระหว่างชุมชนถูกไล่รื้อ โรคความดันโลหิตที่เป็นอยู่มีอาการกำเริบมากขึ้นจนต้องหยุดขับ TAXI ครอบครัวไม่เดือดร้อนเพราะมีรายได้จากลูกสาว เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ธุรกิจส่วนตัวที่ลูกสาวทำอยู่มีปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถส่งเงินให้กับนางเนตรได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ชีวิตแย่ตั้งแต่นั้นมา “ไม่มีรายได้ที่ลูกสาวเคยให้สำหรับใช้จ่ายอีกเลย โชคดีที่ไม่มีหนี้สิน และลูกสาวยังคงรับผิดชอบค่าอาหารการกิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บ้าน และพอมีเงินเก็บในช่วงที่ลูกสาวให้เงินเป็นรายเดือนเอามาใช้จ่าย แต่พอโควิดรอบ 2 เงินเก็บก็ใกล้หมด ต้องใช้แบบประหยัดสุดๆ และตัวเองต้องหารายได้เสริมด้วยการขายของออนไลน์”
สำหรับนางเตือน (นามสมมุติ) อายุ 41 ปี ก่อนไล่รื้อตนเองเป็นแม่บ้านดูแลคนในครอบครัวซึ่งมีลูกสาวอีก 2 คน และสามีขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างมีรายได้ 300-400 บาท/วัน หรือ 9,000 -12,000 บาท/เดือน เมื่อถูกไล่รื้อการมาอยู่ชุมชนแห่งใหม่ผู้คนน้อยลงมีรายได้ 70-100 บาท/วัน จึงหันมาขับ grab food พอมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 200-300 บาท/วัน เมื่อเฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ทั้งจากขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างและขับ grab food เฉลี่ยเพียง 6,000-9,000 บาท/เดือน นั่นคือรายได้ลดลงไป 3,000 บาท/เดือน ในขณะที่รายจ่ายจากเดิมเฉลี่ย 15,000 บาท/เดือน ซึ่งไม่เพียงพอกับรายได้อยู่แล้ว เมื่อย้ายมาอยู่ชุมชนใหม่รายจ่ายสูงขึ้นเป็น 23,000 บาท/เดือน เป็นค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าการศึกษาสำหรับลูก ทำให้เตือนต้องหางานรับจ้างและเปิดร้านขายของชำ ส่วนลูกสาวคนโตรับจ้างขายของที่ตลาดนัดในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์พอมีรายได้เพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท แต่เมื่อสถานการณ์โควิด รายได้ของทุกคนลดลง “รายได้ที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นรายได้วันต่อวัน ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและประหยัดสุดๆ หมุนเงินกันไปยืมจากอีกที่ไปจ่ายอีกที่ ใครมีอะไรมาจ้างให้ทำก็ทำเพื่อพอมีเงินมา อีกทั้งอาชีพขับ grab food ของสามีก็มีรายได้ลดลง หรืออาจเป็นเพราะคนไม่ค่อยมีรายได้จึงไม่ค่อยสั่งอาหารกัน ส่วนลูกสาวที่รับจ้างที่ตลาดนัดพอโควิดมา คนลดลงหรือไม่ได้ทำงานช่วงปิดตลาดเพื่อลดการแพร่เชื้อ”
ทางเลือกการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน
จากเสียงสะท้อนนั้น เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของผู้คนอีกจำนวนมากที่ต้องดิ้นรนพร้อมไปกับความวิตกกังวลในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางเลือกต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งภาคประชาชน องค์กรหรือหน่วยงานภาคีทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนส่งเสริม ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เช่น
ระยะเร่งด่วน การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหาร จากประสบการณ์และบทเรียนของ “กลุ่มปันอาหารปันชีวิต วิกฤตโควิด19 เราจะไม่ทิ้งกัน ” ที่เกิดจากการรวมกลุ่มภาคประชาสังคมเพื่อระดมทุนแล้วนำไปจัดซื้ออาหารที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรในระบบอินทรีย์ภาคชนบท ไม่ว่าพืชผัก ข้าวสาร ไข่ไก่ รวมถึงของใช้ที่จำเป็น เช่น น้ำมัน น้ำปลา แล้วส่งต่อให้กับผู้เดือดร้อนเพื่อแบ่งปันในชุมชน บางชุมชนตั้งเป็นครัวกลางทำอาหารแจกจ่ายกัน การแบ่งปันกรณีนี้ยังเป็นการเกื้อหนุนเกษตรกรผู้ผลิตซึ่งเผชิญปัญหาผลผลิตไม่สามารถออกจำหน่ายได้ด้วยมาตรการปิดตลาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ระยะยาวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเข้มแข็งในชุมชน เพื่อรวมวางแผนขับเคลื่อนและจัดการตัวเองของคนในชุมชน มีการออกแบบอนาคตเพื่อสร้างชุมชนที่มั่นคง มีการสร้างเศรษฐกิจอาหารระดับชุมชน เช่น การสร้างแหล่งอาหารระดับชุมชน การใช้ประโยชน์และจัดการแหล่งอาหารธรรมชาติในระดับชุมชน การสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารระหว่างชุมชนกับชนบท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับการไล่รื้อที่จะเกิดขึ้นอีกในชุมชนอื่นๆ นั้น รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งการหารือกับคนในชุมชน ต้องมีการเตรียมความพร้อมคนในชุมชนก่อนการไล่รื้อ โดยต้องมีการแจ้งล่วงหน้าในระยะยาว รวมถึงชุมชนควรมีสิทธิในการต่อรองด้านที่อยู่อาศัย โดยรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการจัดหาที่รองรับการอยู่อาศัยที่เป็นแหล่งทำเลที่เหมาะสม รวมถึงการมีแหล่งอาชีพรองรับ