โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชื่อของ “แม่ทาออร์แกนิค” กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักมายาวนานในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแบบอินทรีย์และสินค้าแปรรูปที่เกี่ยวข้อง

การปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรของชุมชนแม่ทาเริ่มมาตั้งแต่เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ซึ่งวิถีการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีไม่เพียงยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน หากยังมีการปรับประยุกต์และเพิ่มเติมกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความสอดคล้องกันเข้ามาด้วย

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่คนรุ่นต่อมา ซึ่งอภิศักดิ์ กำเพ็ญ หรืออั๋น คือคนหนึ่งที่รับช่วงวิถีดังกล่าวมาจากคนรุ่นพ่อ-แม่และปู่-ย่า-ตา-ยาย

อภิศักดิ์อธิบายถึงชุมชนที่เป็นบ้านเกิดของเขาไว้ในงานมหกรรมพันธุกรรม 2568 ที่เขาได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรคนหนึ่งในช่วง TED TALK หัวข้อ ความสุขของคนรุ่นใหม่กับการเกษตร ว่า ชุมชนแม่ทานั้นเป็นชุมชนชนบทที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 1.30 ชั่วโมง ในช่วงระยะเวลาที่เขาถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ขณะนั้นถือได้ว่าเป็นชุมชนตกสำรวจและยากจนที่สุดชุมชนหนึ่ง

“มองไม่เห็นความสุข เพราะเป็นชุมชนที่ทำเกษตรที่ใช้สารเคมี มีหนี้สิน สุขภาพของเกษตรกรไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดี เจ็บป่วยจากการใช้สารฆ่าหญ้า สารพ่นแมลง ทำให้ชุมชนได้มองว่าจะหันกลับมามีความสุขได้อย่างไร ถ้ามองจากตัวเงินมองไม่เห็นทางแน่นอน ความสุขในยุคนั้นคือการอยู่กับครอบครัว ทานข้าวพร้อมกัน แต่มองความสุขจากเม็ดเงินไม่มี”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในขณะนั้นมีนักพัฒนาเอกชน หรือ NGO ได้เข้าไปทำงานพัฒนาในพื้นที่ รวมถึงภาครัฐด้วยเช่นกัน จึงทำให้ชุมชนเริ่มเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ตนเอง ว่าความจนและการเป็นหนี้เกิดจากอะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงหากจะหาทางออกและทางเลือกให้กับตนเอง จะทำอย่างไรได้บ้าง

“ชุมชนจึงค่อย ๆ เรียนรู้ ก่อร่างสร้างตัว มาทำเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นเทรนในปัจจุบันนี้” อภิศักดิ์สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนแม่ทา ในห้วงเวลาที่ตัวเขาเองยังคงเป็นเด็กเล็ก ๆ

จากนั้นอภิศักดิ์ขยับมาเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเอง

“หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมอายุประมาณ 28 ปี ครอบครัวกำลังมีความสุข มีจดหมายจากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา แจ้งว่าสอบตก ให้ออก คือช่วงที่เรียนเป็นเด็กที่สนใจการใช้ชีวิตจริง จึงไปเปิดร้านเหล้า เปิดผับ เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง เพราะการเรียนสถาปัตย์ค่อนข้างอิสระ จนสุดท้ายทำกิจกรรมมากเกินไป เกรดไม่ได้ตามเกณฑ์ เหตุการณ์นี้ทำให้ความสุขในครอบครัวลดลง แต่นั่นเป็นจุดที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ครอบครัวที่ดี”

เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เนื่องจากทำให้ครอบครัวหันหน้ามาคุยกัน จากนั้นอั๋นได้เริ่มต้นใหม่กับการเรียนอีก 2 ปี ก่อนที่จะจบคณะออกแบบอุตสาหกรรม ระดับ ปวส. แล้วมุ่งหน้ากลับบ้าน

“เพราะมีเป้าหมายในใจอยู่แล้วในการเรียนออกแบ ศิลปะ เพราะการทำเกษตรยั่งยืนก็เป็นวิถีชีวิตที่ออกแบบได้ ดังนั้นจึงกลับบ้านมาออกแบบตนเอง อยากจะสร้างเศรษฐกิจ กิจการ ให้กับชุมชน”

ในยุคนั้นถือว่า เรื่องเศรษฐกิจชุมชนยังไม่เป็นกระแสนิยม แต่อั๋นมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องนี้ เขาจึงรวบรวมเพื่อน ๆ ตั้งกลุ่มในนามวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค ดำเนินกิจการ 5 กิจกรรมหลัก ๆ ได้แก่ 1) การรวบรวมผลผลิต 2) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ 3) การปศุสัตว์ ได้แก่การเลี้ยงไก่อินทรีย์ และขายไข่อินทรีย์ 4) คาเฟ่ในชุมชน ซึ่งใครมีข้าวของหรือสินค้าสามารถนำไปฝากขายได้ และ 5) เทรนนิ่งแอนด์ทัวร์ หรือการท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ชุมชนแม่ทากลายเป็นพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมและโครงการมากมาย ชื่อกลุ่มก็มีตามมาจำนวนมาก ทั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เครือข่าย โครงการพื้นที่วิถีชีวิต รวมทั้ง “ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท” ซึ่งมีบทบาทด้านการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของชุมชน

อั๋นออกตัวว่า “ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากตัวผมคนเดียว ไม่ได้เล่าเพียงเรื่องตนเอง แต่เป็นภาพรวมทั้งหมดของชุมชนว่าความสัมพันธ์คือเรื่องที่ทำให้เกิดพลังมหาศาล ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้เรามีพลัง รุ่นพ่อรุ่นแม่ต่อสู้กับธุรกิจ-คนกลาง เรามารวมตัวกันเพื่อต่อรองราคา เราได้ราคาที่ดีขึ้นได้เพราะร่วมมือร่วมใจกัน

“ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่ดีก็สร้างความสุขได้ ไม่เฉพาะความสัมพันธ์ของคนกับคน แต่รวมถึงความสัมพันธ์ของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม วิถีเกษตรอินทรีย์ วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน สัมพันธ์กับทุกสรรพสิ่ง การสร้างนิเวศน์ที่ดีจะช่วยเอื้อให้โลกมีอากาศที่ดี และไม่เกินจริงหากจะบอกว่า วิถีนี้สร้างสมดุลที่ยั่งยืนได้จริง

“ปัจจุบันผมคือรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาทำงานสานต่อในชุมชน และตอนนี้กำลังมีรุ่น 4 เริ่มเข้ามาสานต่อ ความยั่งยืนคือการส่งต่อสานต่อในกิจการต่าง ๆ เรียนรู้จากรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ถูกเอาเปรียบจากนายทุน-คนกลาง พัฒนามาเปิดตลาดเอง ขายเอง ปัจจุบันเรา (สมาชิก) มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ทั้งจากการไปศึกษาด้านต่าง ๆ เทคโนโลยีอาหาร เกษตร ออกแบบ เศรษฐศาสตร์ การตลาด ท่องเที่ยว เรามารวมตัวกัน ใช้ชีวิต ทำงานพัฒนาร่วมกัน ต่อยอดให้ชุมชนได้พัฒนาต่อไป”

ณ ปัจจุบัน ผลผลิตที่กลุ่มแม่ทาออร์แกนิครวบรวมได้และส่งจำหน่ายทั่วประเทศมีมากกว่า 100 ตัน พืชผลหลักมีหลายชนิด เช่น มันหวานญี่ปุ่น บัตเตอร์นัต และพืชผักต่าง ๆ สินค้าเหล่านี้ นอกจากมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างท็อปส์ เซ็นทรัล ยังสามารถสั่งทางออนไลน์ได้ด้วย

ในส่วนการท่องเที่ยวของชุมชนแม่ทา ปัจจุบันเติบโตจนกระทั่งมีมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาทต่อปีแล้ว

อั๋นสรุปเรื่องราวของเขาและชุมชนของเขาว่า “ชีวิตคนเราออกแบบได้ ออกแบบเรื่องราวในชุมชน เริ่มพลิกฟื้นวิถีเกษตรแบบเดิมที่เป็นพื้นที่ใช้สารเคมีสูง พื้นที่ที่ทำเกษตรแล้วขาดทุนมหาศาล ให้กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างอาหารปลอดภัย ผักอินทรีย์ อาหารที่ดีต่อผู้คน สู่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ดึงนักท่องเที่ยวกลับมาเรียนรู้ชุมชน และกระจายรายได้สู่ผู้คนในชุมชน สิ่งที่โดดเด่นคือการส่งต่อรุ่นสู่รุ่นในงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และวิถีแห่งความสุข”

บทความแนะนำ