โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

สืบสานวัฒนธรรมข้าว เล่าเรื่องราวครั้งอดีต ตามฮีตสิบสองคลองสิบสี่ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

เรียบเรียงโดย คคเนจรสืบสานวัฒนธรรมข้าว เล่าเรื่องราวครั้งอดีต ตามฮีตสิบสองคลองสิบสี่

                แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่มิได้หมายความว่าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมจะดีขึ้น หรือแม้กระทั่งสังคมจะมีความสงบสุขเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะแท้ที่จริงแล้วสังคมไทยนั้นถูกยึดตรึงไว้ด้วยหลายๆสิ่ง อาทิเช่น ความเชื่อ จารีต ประเพณี วัฒนธรรม อันเป็นส่วนผสมสำคัญในวิถีชีวิตที่จะทำให้คนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะคนอีสานนั้นเชื่อและเคารพในฮีต คลองมาช้านานแล้ว

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นจารีตที่คนอีสานส่วนใหญ่ยึดถือกันมานั้น เป็นเสมือนวิถีการปฏิบัติที่จะกระทำกันในแต่ละเดือน คาดว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอินเดียเผยแพร่เข้ามาสู่ ประเทศไทย จนกลายมาเป็น เปิงบ้านเปิงเมือง ที่คนในปัจุบันยึดถือสืบทอดกันมา ส่วนใหญ่นั้นจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา มุ่งเน้นให้ผู้คนเข้าวัด ทำบุญ รวมถึงมีการผูกโยงเข้ากับวิถีชีวิต และการอยู่ร่วมกันของผู้คนในชุมชนด้วย

คนอีสานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อาศัยการทำนาเพื่อยังชีพจึงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับข้าว จนสามารถนำข้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของฮีต ที่ยึดถือปฏิบัติกันไม่ว่าจะเป็น บุญคูนลาน บุญข้าวจี่ บุญข้าวประดำดิน ซึ่งยังมีให้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะบุญกุ้มข้าวของชาวยโสธรที่ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในการ ผลิตข้าวหอมมะลิของประเทศไทย

บุญกุ้มข้าวของคนอำเภอกุดชุม ยโสธร จะจัดกันในเดือนสามของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยจะเลือกเอาวันฤกษ์ยามดี นำข้าวมารวมกันทำพิธีสู่ขวัญข้าว โดยกำหนดให้วันแรกเป็นวันเตรียมงาน ส่วนอีกวันจะเป็นวันพิธี โดยในช่วงเช้าของวันแรกเหล่าบรรดาพ่อใหญ่ แม่ใหญ่มามาตุ้มโฮม(รวมตัวกัน)แต่เช้า เพื่อช่วยกันคนละไม้ละมือในการเตรียม จัดพานบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียนเพื่อถวายพระ อีกกลุ่มหนึ่งก็กำลังแทงหยวก เป็นลวดลายต่างๆ เหลาไม้ไผ่ เพื่อมาประกอบกันเป็นปราสาทผึ้ง พ่อใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สร้างเพื่อถวายเป็นที่อยู่ให้กับเทวดา ญาติพี่น้องและบุคคลผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้มีที่พำนักในอีกภพหนึ่ง โดยมีตำนานเล่ากันมาว่า

ครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงพักอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่ง มีพญาวานรคอยเป็นอุปัฏฐากคอยดูแล อยู่มาวันหนึ่งพญาวานรได้ไปพบรวงผึ้งบนต้นไม้เข้า จึงนำมาถวาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับรวงผึ้งนั้นแล้ว พญาวานรมีความดีใจมาก ถึงกับกระโดดโลดเต้นไปบนต้นไม้ จนพลาดตกลงมาถึงแก่ชีวิต แต่ด้วยอานิสงส์จากการได้ถวายรวงผึ้งแด่พระพุทธเจ้า ทำให้พญาวานรได้ไปเกิดเป็นพรหมบนสวรรค์ ซี่งก็เป็นการระลึกถึงวานรตนนั้นที่ได้สร้างกุศลกรรมเอาไว้

ใกล้ๆเวลาเพลผู้คนเริ่มหนาตามากยิ่งขึ้น ต่างเตรียมสำรับควาหวานเพื่อมาถวายพระ บุญกุ้มข้าวครั้งนี้ยังมีกิจกรรมที่แตกต่างจากปีอื่นๆ อันเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ชื่อว่ากลุ่มอนุรักษ์ พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์กรรมพื้นบ้านเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ซึ่งได่ให้ความสำคัญกับข้าวพื้นบ้าน หันมาปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายชนิด จัดกิจกรรมประกวดพาข้าว(สำรับอาหาร) ซึ่งจะต้องเป็นอาหารจาท้องถิ่น ผลิตจากชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรที่มีอยู่ได้ ผู้ที่มาร่วมงานครั้งนี้จึงตื่นตากับอาหารท้องถิ่นกว่า 20 ชนิด ที่วางอยู่เบื่องหน้า ทั้งลาบหมาน้อย ที่มีลักษณะคล้ายๆวุ้นสีเขียว ก้อยไข่มดแดง แกงปลาข้อใส่ผักติ้ว แกงกะปู๋ ส้มผัก แจ๋วหลากชนิด แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง ลาบหอมจูบ ส้มกุ้ง หมกเขียด แกงเห็ด ผักสดและผักลวกอีกมากมาย เล่นเอาคะนะกรรมการชิมกันแทบไม่ครบด้วยความหลากหลายของชนิดอาหารพื้นบ้าน อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบที่สด สะอาด จากสวน นา ป่า หนอง ที่อยู่รายรอบชุมชน แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรอาหารที่มีอยู่ ซึ่งเข้ากับหัวข้อในการจัดกิจกรรมวันนี้ที่ว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาอาหารเป็นของจริง

หลังจากคณะกรรมการได้ให้ชม(ส่วนการชิมนั้นมีการแยกมาตางหาก) พาข้าวแต่ละพาก็ถูกนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้จัด สำรับ หลังจากนั้นก็จะเป็นการชิมข้าวพื้นบ้านหลากสายพันธุ์ ทั้งข้าวเหนียวแดง ข้าวขาวใหญ่ ข้าวนางนวล ข้าวเล้าแตก ข้าวแสนสบาย เพื่อให้คนในชุมชนได้ลิ้มรสข้าวพื้นบ้านที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงพิสูจน์ในความหอมของข่าวพื้นบ้านแต่ละชนิด

ก่อนที่จะได้ฟังท่านพระครูสุภาจารวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดท่าลาดเทศก์ในหัวข้อ เงินเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาอาหารเป็นของจริง ซึ่งก็คงทำให้หลายๆคนได้แนวคิดดีๆไม่มากก็น้อย เพราะในยุคที่คนส่วนใหญ่เห็นเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญของชีวิต โดยไม่ได้คิดว่าเงินนั้นเป็นวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อให้ความสะดวกในการแลก เปลี่ยนซื้อขายสนค้ามากขึ้นเท่านั้น การที่จะนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าเหมือนเช่นในอดีต แต่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นว่าเงินกลับสร้างภาระให้คนต้องแสวงหามันเพิ่มขึ้น อย่างไม่ลดละ หากวันใดไม่มีเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตก็เป็นทุกข์แสนสาหัส ซึ่งหากทุกคนยึดในความพอเพียง ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว หากมีฐานการผลิตที่เข้มแข็ง เรามีข้าวกิน มีผักมีปลา ชีวิตก็จะมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ยามเย็นเสียงฉิ่ง ฉาบ กลอง ดังมาเป็นจังหวะสนุกสนานเรียกให้ผู้คนมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อร่วมขบวนแห่ ดอกจานหรืออาจจะเรียกว่าเป็นการแห่ขอดอกไม้ก็ว่าได้ ขบวนจะค่อยเคลื่อนตัวไปในหมู่บ้าน เด็กๆและผู้ใหญ่บางคนออกไปเก็บดอกไม้ตามเส้นทางที่ผ่าน ผู้คนที่ไม่สามารถร่วมพิธีได้ก็นำถังใส่น้ำมาวางไว้เพื่อใช้ประพรมให้ดอกไม้ มีความสดชื่น อีกทั้งเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง แต่ดูๆแล้วคนที่มีความสุขคงเป็รเด็กๆที่นำดอกไม้จุ่มลงไปในน้ำ แล้วสะบัดใส่คนอื่นๆให้ได้ชุ่มฉ่ำกัน หรือไม่บางคนก็สาดน้ำกับจนเปืยกโชก จนกว่าขบวนจะวนกลับมาที่เดิมเพื่อนำดอกไม้ไปวางบูชาแด่แม่โพส เทพเทวดาต่างๆที่ทำให้ผลผลิตมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะแยกย้ายไปอาบน้ำอาบท่าเพื่อมาดูมหรสพในตอนกลางคืน

คืนนี้อากาศยังคงเย็นอยู่ แม้ว่าจะเริ่มเขาฤดูร้อนแล้วก็ตาม กิจกรรมยามค่ำคืนที่เข้ากับบรรยากาศเช่นนี้ได้ดีคงหนีไม่พ้นการจี่ข้าวจี่ และปิ้งข้าวโป่ง ซึ่งอุ่นทั้งกายอุ่นทั้งท้อง พร้อมทั้งอิ่มใจกับเหล่าลูกหลานตัวน้อยๆที่ทยอยกันขึ้นเวทีมาแสดงละครเล่า เรื่องข้าวให้ดู แถมยิ้มแก้มปริไปกับการแสดงละครหน้าข้าวที่ต้องมีจิตนาการในการชม ปิดท้ายด้วยหนังตะลุงแบบอีสานของหนังประโมทัย ที่สอดแทรกความรู้เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมพื้นบ้านผ่านเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกไมยราพ ก่อนที่กลับไปนอนหลับอย่างมีความสุข

เช้าวันรุ่งขึ้นบางครอบครัวก็นำข้าวเปลือกมาตั้งแต่รุ่งสางเพื่อให้ทันร่วม พิธีการสู่ขวัญข้าว โดยจะเริ่มจากการทำวัตรสวดมนต์ ถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ หลังจากนั้นพราหมณ์หรือพ่อใหญ่ในหมู่บ้านจะทำพิธีในการสู่ขวัญข้าว จากนั้นจึงนำสายสิญจ์ที่ใช้ในพิธีแจกจ่ายให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ผูกข้อมือให้ ศีลให้พรกับลูกหลาน เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากทำพิธีเสร็จข้าวเปลือกทั้งหมดก็จะแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนไว้ หรืออาจมีการซื้อขายกันในราคาถูกเพื่อนำเงินไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน นับว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน หากใครประสบปัญหาในการเพาะปลูกข้าวไม่พอกินก็จะสามารถมีข้าวกินได้ตลอดปี ที่สำคัญทำให้ข้าวใจได้ว่า เงินทองคือของมายา ข้าวปลาคือของจริง เพราะท้ายที่สุดแล้วคนในชุมชนก็ยังคงเลือกที่จะมีข้าวกินตลอดปี

ที่มา : งานบุญเดือนสามภูมินิเวศยโสธร บ้านโนนยาง และบ้านกุดหิน ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร

บทความแนะนำ