การเริ่มต้นสิ่งใหม่ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงชีวิตของแต่ละคน เช่นเดียวกับ “จงกล พารา” และ “ถนัด แสงทอง” คู่ชีวิตนักพัฒนาที่เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์เมื่อราว 12 ปีก่อน จนวันนี้สามารถยึดถือเป็นสัมมาชีพ ทั้งสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและยังเป็นศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่นที่พร้อมถ่ายทอดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ อีกด้วย
สวนของจงกลและถนัดอยู่ร่วมกับบ้านพักอาศัยบนผืนดินขนาด 155 ตารางวา (ตร.ว.) ที่ซื้อไว้ในตำบลพระลับ เขตอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยที่ดินที่ใช้ทำแปลงปลูกผักมีเนื้อที่ประมาณ 100 ตร.ว.

จากประสบการณ์ของจงกลที่เคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ได้รับรู้และสัมผัสกับปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย จากการจัดกิจกรรมพาเยาวชนลงพื้นที่เก็บตัวอย่างพืชผักในท้องตลาดตรวจพบสารเคมีตกค้าง ประกอบกับเคยมีโอกาสไปดูปราชญ์ชาวบ้านที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ในขณะที่ถนัดทำงานกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานอยู่แล้ว เมื่อจะหันมาทำการเกษตรจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ทั้งสองจะตัดสินใจเลือกทำเกษตรอินทรีย์
เริ่มต้นจากโจทย์ปัญหาส่วนตัว
“เกิดความรู้สึกว่าเราไปสอนชาวบ้านให้ทำ เราก็ควรทำเองด้วย พอมีลูกก็อยากจะทำกินเอง” จงกลเล่าถึงส่วนหนึ่งของความคิด ณ จุดเริ่มต้น
ขณะนั้นคือช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ. 2555 จงกลลาออกจากงานประจำที่องค์การไฮเฟอร์ฯ ประเทศไทย (Heifer International Thailand) เนื่องด้วยหลังคลอดมีปัญหาสุขภาพ ต้องรักษาตัว 5-6 เดือน และไม่สามารถให้นมลูกที่ออกมามีน้ำหนักตัวเพียง 1.4 กิโลกรัมได้ เธอคิดว่าปัญหาสุขภาพดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับสภาพของงานที่ต้องเดินทางไปในหลาย ๆ จังหวัดเพื่อติดตามโครงการซึ่งส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ กระทั่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
“ช่วงเย็น ๆ ลมจะตี หายใจไม่ออก แพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ หมอแผนไทยบอกเราคลอดลูกแล้วไม่ได้อยู่ไฟ ธาตุเลยแปรปรวน พิษเลือดที่ขับออกไม่หมด เป็นก้อนอยู่ในผนังมดลูก จะกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ต้องกินยาต้มขับพิษถ่ายออก ลูกเลยกินนมต่อไม่ได้ หลังคลอดอาจจะไม่ได้พักผ่อนด้วย เพราะต้องนอนเฝ้าและให้นมลูก ตอนนั้นลูกจะดื่มนมจากเต้าไม่ได้ เพราะปากเล็กมาก ต้องใช้ช้อนเล็ก ๆ ค่อย ๆ ป้อนนม
“ลูกท้องเล็กด้วย ก็จะตื่นทุก 2 ชั่วโมง เฝ้าลูกเพื่อทำน้ำหนักอยู่ประมาณ 26 วัน ห้องที่ให้เฝ้าเป็นห้องต่อจาก ICU เด็ก เปิดแอร์ตลอด ปกติแม่หลังคลอดควรจะอยู่ร้อน (อยู่ไม่เย็นเกินไป) ทำให้มีอาการหนาวข้างใน หลังคลอดลูกใหม่ ๆ ไม่สามารถทำงานได้เลย มีอาการวิงเวียนตลอดเวลา ไม่สามารถอุ้มลูกได้”
สำหรับเป้าหมายในการทำเกษตรอินทรีย์ จงกลระบุว่าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย เนื่องจากเมื่อมีลูกก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่านม ค่าผ้าอ้อม ฯลฯ ในขณะเดียวกัน การออกจากงานประจำมาเพื่อดูแลลูก โดยที่คงเหลือถนัดทำงานเพียงคนเดียว ก็ทำให้รายได้ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ



สวนที่เน้นความหลากหลาย
สวนของจงกลและถนัดเน้นความหลากหลาย สามารถเกื้อกูลกันได้ เนื่องจากไม่เชื่อในเรื่องการปลูกพืชชนิดเดียว หรือเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว แต่เชื่อในองค์ความรู้ที่ได้มาจากหลักสูตรเกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) มากกว่า
“ตอนนั้นเราเรียนหลักสูตรอีกสาขาหนึ่งที่เกี่ยวกับเกษตรแบบผสมผสาน มี ดร.ที่อยู่เยอรมันเขาสอนเรื่องพืชมี 5 ระดับ ถ้าจากประสบการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราก็ปลูกแบบนี้”
นั่นคือแนวทางที่ทั้งสองคนนำมาใช้วางผังการปลูกพืชในสวนของตน
“สวนเราก่อนที่เราจะมาซื้อจะมีพืชเดิม มีต้นหว้า ประดู่ กระท้อน สวนเดิมเป็นหวายแบบดินแข็ง ๆ เราเอาหวายออก พื้นที่ส่วนปลูกบ้านก็ต้องถมที่ขึ้นนิดนึง ก็เลยมาถึงตรงสวนเป็นดินค่อนข้างเหนียว ตรงพื้นที่ที่ไม่ถมถึง ดินดีอยู่ เพราะเป็นดินเก่าที่เขาปลูกเฉพาะหวาย
“ด้านข้างบ้านที่มีแดดก็ปลูกมะเฟือง มะยม ด้านข้างด้านหลังที่เป็นห้องน้ำ น้ำจะไหลลงไปตรงครัวกับห้องน้ำ ปลูกต้นกล้วยดูดซับไว้ ระดับรองลงมาจะเป็นพวกไม้พุ่ม พริก มะเขือพวง ไม้อีกระดับลงมาก็เป็นผักคะน้า ผักกาด ผักตามฤดูกาล และพืชหัว ต้นหอม บีตรูต แคร์รอต ด้านฝั่งติดเพื่อนบ้านที่ร่ม ปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องการแดดมาก เช่น อ่อมแซ่บ ข้างหลังก็เลี้ยงไก่”
แต่ถึงแม้จะวางแผนผังอย่างอิงทฤษฎีและปรับใช้ประสบการณ์ต่าง ๆ ในการทำเกษตรอินทรีย์ ทว่าผลสำเร็จก็ใช่จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก


จุดด้อยคือขาดการปรับปรุงดิน
จงกลเล่าว่า ผลผลิตปีแรกแคระแกร็นพอได้กิน เป็นเพราะไม่ได้ปรับปรุงบำรุงดินก่อน ในขณะที่ประสบการณ์ก่อนหน้าที่เคยปลูกผักเป็นครั้งแรกในบริเวณบ้านเช่า ขนาดพื้นที่ 60 ตร.ว. เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2555 มีทั้งกวางตุ้ง บวบ ผักบุ้ง ผักสวนครัว และดอกไม้ช่วยผสมเกสร เพื่อป้องกันแมลงด้วย ต่างก็ออกมาสวยงาม ได้ผลดีมาโดยตลอด
“ตอนนั้นปลูกยกแปลงขึ้นมา แล้วมันก็งามดี พอมาทำที่นี่ (บ้านใหม่) ดินของปีแรกเป็นดินถม มันก็แกร็นเพราะเราไม่ได้ปรับปรุงดิน เราผสมขี้วัวธรรมดา แต่ไม่ได้หมักก่อน ปีแรกก็พอได้กิน แต่ถ้าเอาไปขาย คนไม่ซื้อ เราขุดแปลงเองด้วย เพราะพื้นที่ในเมืองมันเล็ก เขาไม่มาไถให้”
หลังได้ข้อสรุปว่า จุดอ่อนอยู่ที่การปรับปรุงดิน เมื่อเข้าปีที่สอง หลังก่ออิฐบล็อกเป็นแปลง จงกลและถนัดจึงเริ่มหมักดินใหม่ และปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง ครั้นดินเริ่มดีขึ้น ก็เริ่มมีผลผลิตพอให้ขายได้ โดยเข้าไปวางจำหน่ายในตลาดเขียวขอนแก่น ที่จงกลมีส่วนร่วมบุกเบิกกับถนัดในช่วงปี พ.ศ. 2557 นั้นเอง
กระทั่งอีก 2 ปีต่อมา จงกลได้เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ มกย. และได้เปิดสวนที่บ้านของเธอให้เป็นศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น ถึงจุดนี้ ความต้องการผักอินทรีย์ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
“พอมาทำตลาดเขียวหลังจากมีประสบการณ์ 2 ปี ทำตลาดปี 2557 เริ่มมีความต้องการของผู้บริโภคเข้ามา พอเปิดเป็นศูนย์ฯ ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น คนมาดู มาตัดผัก คนก็อยากได้ผักโน่น นี่ นั่น”



ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่มีบทบาทส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
จงกลเผยว่า คนที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ฯ มีทั้งชาวบ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัยด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชน เป็นกลุ่มที่อยากสร้างตลาดเขียว ในส่วนของโรงเรียน ครูยังมีการนำไปต่อยอดเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนที่คำนึงถึงสุขภาพของเด็ก
ในช่วงแรกของการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ระหว่างปี 2559-2560 ศูนย์ฯ มีการจัดอบรมแบบใช้เวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 ครั้ง และปีที่ผ่านมา มกย. ยังได้สนับสนุนการจัดอบรมหลักสูตรสวนผักคนเมืองให้กับผู้ที่สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้คนที่ไม่มั่นใจเกิดความรู้จนกลับไปทำเองได้
“ตอนปี 2559-60 ส่วนใหญ่มาเรียนรู้ ไม่ได้เป็นหลักสูตรหรือคิดค่าหลักสูตร มาดูสวนผักด้วย มาดูตลาดเขียวด้วย มาแวะที่สวนดูเทคนิค หลักสูตรเก็บเงินไม่มี จริง ๆ เวลามาอบรม เราก็มีหลักสูตรของเราเยอะแยะ ทำตั้งแต่ปี 2560 แต่ไม่ใช่ทั้งวัน
“คนที่มาเรียนรู้จากเราหลายคนเอากลับไปทำเองได้ อย่างปีที่ผ่านมา เราทำหลักสูตรชัดเจนที่มีอาจารย์เติ้ล (เกศศิรินทร์ แสงมณี) มีโครงการพี่แป้น (ทัศนีย์ วีระกันต์) มาดูแล ปรากฏว่าสอนการปรุงดินแล้ว ผู้ปกครองโรงเรียนลูก 2-3 คนส่งการบ้านมาให้เราดู แต่ก่อนเขาไม่มั่นใจปลูกผัก เรียกว่ามือร้อน พอเขามาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ เรา กลับไปทำ ทั้งน้ำหมัก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ปรุงดินก่อน ปรากฏเขาเอามาโชว์ครู เขาจะเรียกเราว่าครู ส่งมาอวด เป็นความใจฟูของคนปลูกผัก”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองจังหวัดขอนแก่นอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำหลักสูตรที่ให้เวลากับผู้เข้าอบรมอย่างเต็มที่มากขึ้น
“เราก็มาคิดคุยกันว่า ทำไมไม่คิดหลักสูตรออกมา ทำหลักสูตรมาเลย ยังไงก็ให้เวลาเขาเต็มที่ ก็อาจจะต้องมีเหมือนค่าเสียเวลาเราด้วย คิดกันอยู่ เพราะว่าบางทีเขาเข้ามา ถ้าคนมาดูงานก็จะมีค่าวิทยากร ค่าเสียเวลาให้เราอยู่ หรืออย่างโรงเรียนไม่มีงบก็แล้วแต่ จริง ๆ ก็ไม่ได้ใช้จ่ายเยอะ ค่าวัตถุดิบที่เราต้องเอามาผสมเป็นตัวอย่างให้เขาเอากลับไปด้วยส่วนหนึ่ง ก็ต้องใช้งบนิดหน่อย
“ถ้าทำหลักสูตร เราต้องดูกลุ่มเป้าหมายเหมือนกัน ว่าอยากเรียนรู้อะไร ถ้ามาดูงานเฉย ๆ แว่บแค่ 1-2 ชั่วโมงไม่พอ”



สวนขนาดเล็กกว่า 1 ไร่ที่เลี้ยงชีพได้
ปัจจุบัน สวนของจงกลและถนัดขยายใหญ่ขึ้น จากการซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามเพิ่มเติม โดยรวมแล้วสวนผักอินทรีย์และศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองจังหวัดขอนแก่นแห่งนี้จึงมีเนื้อที่รวมประมาณ 300 กว่า ตร.ว.
แม้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ไม่ถึง 1 ไร่ แต่ผลผลิตจากพื้นที่แห่งนี้ก็สามารถให้ประโยชน์และสร้างมูลค่าให้แก่เจ้าของได้ไม่น้อย
ภายใต้การปลูกผักแบบปลูกตามฤดูกาล พืชผักหลัก ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ เช่น สลัด หัวไช้เท้า บรอกโคลี กะหล่ำปลี แคร์รอต มะเขือเทศ ผักเคล ไม้ดอก ฯลฯ
“ผักเคลได้รายได้จากต้นกล้าที่โตแล้ว อย่างต้นเล็ก ๆ อายุไม่เกิน 1 เดือน เพาะขายต้นละ 2-3 บาท พอ 2 เดือนโตเต็มที่จะขายได้ต้นละ 70 บาท พื้นที่เล็ก ๆ ต้องจัดการก่อนที่เคลจะโต เราจะปลูกสลัดก่อน 20 กว่าวันเราตัดได้ ใน 1 แปลงเราจะมีทั้งเคล สลัด หัวไช้เท้า หรือเคลสลับกับผักสลัด และมีต้นหอมรอบ ๆ แปลงอีก พอขายออกไปเหลือเคลอยู่ เคลก็จะได้ใบถุงละ 50 บาท สองขีดครึ่ง ตกโลละ 200 บาท”
“เราทำเบรกด้วย เป็นเรื่องดอกไม้กินได้ ก่อนหน้านั้นเราก็ปลูกพวกดาวกระจาย ดอกมากาเร็ตอยู่แล้ว เก๊กฮวยเริ่มปลูกเมื่อ 4-5 ปีก่อน เห็นโฆษณาว่าทำไมภาคเหนือปลูกได้ เลยลองเอามาปลูกดู พี่ที่ (มูลนิธิ) เกษตรนิเวศน์อยู่สุรินทร์ แกบอกปลูกได้ พี่เคยปลูก เราก็เลยซื้อพันธุ์ สั่งออนไลน์ ประมาณ 20-30 ต้น เพราะพื้นที่เราไม่มาก ต้นเดียวก็แตกพุ่ม”
นอกจากนั้น จงกลยังเป็นนักเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วย โดยชนิดพืชหลักที่เก็บคือสลัด ส่วนเมล็ดพันธุ์อื่น ๆ ที่เก็บ เช่น เก๊กฮวย ผักชี ดอกมากาเร็ต ดอกฮอลลีฮ็อก ดอกเสี้ยนฝรั่ง ถั่วแปบ ฯลฯ
ในปีที่ผ่านมา จงกลเปิดเผยว่า ครอบครัวของเธอมีรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์มากกว่า 50,000 บาท และหากรวมทั้งหมด ทั้งจากการเพาะกล้า ปักชำกิ่ง ขายเมล็ดพันธุ์ จัดเบรก ดอกไม้กินได้ จัดตะกร้าผักช่วงเทศกาล รวมทั้งน้ำผลไม้ปั่นขวดและผักสดตามสั่งผ่านไลน์กลุ่มผู้ปกครองโรงเรียนทางเลือกที่ลูกสาวเรียนหนังสือ รายได้ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 340,000 บาท
“เมล็ดพันธุ์ 5 หมื่น เพาะกล้าเคล 1 หมื่น เคลต้นกล้าโตแล้ว 3 หมื่น เพาะจากตะกร้าผักช่วงเทศกาล 1 หมื่น ส่งผักให้โรงเรียนสองแห่งทุกสัปดาห์ 8,000 บาทต่อเดือน ขายน้ำผักปั่นที่โรงเรียนลูกและเทศบาล 1 วัน และที่ตลาดเขียว 4,000 กว่าบาท และจัดเบรกขึ้นอยู่กับช่วงพัก 2-3 หมื่นบาทต่อปี” จงกลแจกแจง




ทำเกษตรให้ดีต้องมีใจรัก
หลังจากเปลี่ยนวิถีชีวิตมาทำสวนเกษตรอินทรีย์เป็นระยะเวลากว่า 12 ปี จงกลกล่าวว่า ผลประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเองคือ สุขภาพเธอดีขึ้น โดยปัจจุบันจงกลสามารถทำงานและประชุมเป็นผู้นำได้แล้ว ซึ่งเธอมองว่า เป็นผลมาจากการทำสวน
“สวนมันช่วยเยอะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเกษตรบำบัด เพราะแม้แต่ตัวเราเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นมาก ถึงจะกลับมาไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนแรกที่ไม่สบาย ถ้าสมัยนี้เหมือนพอถึงเวลาแล้วมันจะป่วย พอลมตีขึ้นเหมือนเราหายใจลำบาก หายใจไม่ออก ตอนนี้ยังไม่แข็งแรงเท่าเดิม แต่ว่าทำเกษตรช่วยให้เราดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้เห็นการเติบโตของต้นไม้ เพลิดเพลินใจ แต่ถ้าถามว่าแข็งแรงเท่าเดิมไหม สมัยเป็นเอ็นจีโอเดินป่าลุย เดี๋ยวนี้อาจจะไม่ ด้วยอายุด้วย”
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเป็นเกษตรกรมายาวนาน เธอเผยว่า สิ่งที่ต้องทำตลอดคือการเรียนรู้
“คือขนาดว่าทำมา 10 กว่าปี เราก็ไม่ได้แน่นะ อย่างผักปีนี้เจอเรื่องมวนผักกาด ด้วยสภาพอากาศที่สลับร้อน สวนผักกาดระบาด จัดการไม่ได้เลย สวพ. 3 บอกระบาดมากที่ขอนแก่น ที่เราถามไป 2 ครั้ง จัดการไม่ได้เลย เขาบอกตอนนี้ชีวภัณฑ์ยังไม่สามารถจัดการได้”
ดังนั้น จงกลจึงมีข้อคิดฝากสำหรับคนที่คิดจะปลูกผักว่าต้องมีใจรัก เนื่องจากเมื่อพบเจออุปสรรค หากมีใจรักก็เท่ากับไม่มีปัญหา
“เหมือนเราปีแรกไม่ประสบผลสำเร็จ เราก็ต้องมองหาวิธีการว่าทำยังไง แล้วทำไมชาวบ้านที่เขาทำเกษตรอินทรีย์เขาถึงทำได้ มีปัจจัยอะไรมาเกื้อกูลกันไหม อย่างเราเชื่อมั่นในความหลากหลาย พอเชื่อมั่นในเรื่องของการออกแบบ การเอื้อกันในระบบนิเวศ ต้องมีพืชหลากหลายที่มันแตกต่างกัน ถ้ามีใจรัก พอเจออุปสรรคมันจะหาวิธีการของมันเอง แต่เราก็ไม่ได้ตำหนิเกษตรกรนะ ก็คือว่า ถ้ามุ่งเงินอย่างเดียว คุณผลิตไปเพื่อที่จะได้ปริมาณเยอะ แต่มันไม่ได้มีใจรัก พอไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวังก็เลิกล้ม”

ในภาพใหญ่ จงกลมองว่า ปัจจุบันคนในเมืองหันมาปลูกผักกันมากขึ้น และมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้นด้วย โดยต่อยอดทำทั้งเกษตรแปรรูปและการตลาด ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า
“การตลาดเขาใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ สามารถขายออนไลน์ได้ ต่อยอดเพิ่มมูลค่า เก๊กฮวยแทนที่จะขายเฉพาะดอกสด-แห้ง เขาเอาไปเป็นชาคอมบูชะ เป็นน้ำ เป็นไวน์ เพิ่มมูลค่าได้อีก และยังมีเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วย คนรุ่นใหม่ก็หันมาเก็บเมล็ดพันธุ์กันไม่น้อย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ เราก็เป็นส่วนหนึ่ง อาจจะกลางเก่ากลางใหม่ รู้สึกว่างานเมล็ดพันธุ์มันดี มันสร้างรายได้ และมันสร้างความมั่นคงที่มากกว่ารายได้” จงกลสรุป