โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร: ชุมชนตำบลหนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ชุมชนตำบลหนองแหย่งถือเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ที่ภาคการเกษตรยังคงเป็นตัวที่ขับเคลื่อนที่สำคัญของคนในพื้นที่ทั้งมิติเชิงเศรษฐกิจและอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรหลักของพื้นที่ ได้แก่ ข้าว ไม้ผล (เช่น ลำไย มะม่วง) และพืชผัก หากมองถึงพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรในชุมชนสามารถจำแนกออกเป็น 7 เรื่อง ได้แก่ พัฒนาการสายพันธุ์ข้าว การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ระบบการปลูกพืชหลังนา ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน บทบาทของสมาชิกครัวเรือนเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร และเทคโนโลยีเครื่องจักรทางการเกษตร โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลง ดังต่อไปนี้

พัฒนาการสายพันธุ์ข้าว

ปัจจุบันข้าวในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ ข้าวสันป่าตอง1 แม่โจ้2 CP888 (ยกเว้นข้าวหอมมะลิ 105 ที่ชุมชนยังคงปลูกมาตลอด) ส่วนสายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่มีมาก่อนการเข้ามาของชลประทานเมื่อปี 2536 นั้น นอกจากข้าวหอมมะลิ 105 ยังมีพันธุ์ข้าว กข6 ข้าวเหนียวสันป่าตองต้นสูง และข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเหมยนอง ข้าวผาเลือด ข้าวผาลาย เมื่อก่อนคนปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์มาก โดยพันธุ์ข้าวกลุ่มนี้เป็นข้าวนาปีที่ต้องนับอายุปีเนื่องจากใช้เวลาปลูกนานที่ไม่ว่าจะปลูกช่วงไหนก็จะไปเก็บเกี่ยวพร้อมกัน เช่น หากปลูกช่วงเดือนกรกฎาคม หรือ สิงหาคม เกษตรกรก็จะต้องรอเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายนพร้อมกัน แต่ข้าวพันธุ์ปัจจุบันเป็นข้าวนับวัน เช่น 130-135 วัน ที่เกษตรกรรายไหนปลูกก่อนก็จะเก็บเกี่ยวก่อน จากการที่ข้าวสายพันธุ์ใหม่เป็นที่นิยมมากขึ้นจึงทำให้กลุ่มข้าวดั้งเดิมในพื้นที่หายไป เนื่องจากข้าวกลุ่มนี้แต่ก่อนไม่ได้ถือว่าเป็นข้าวเศรษฐกิจแต่เป็นข้าวที่ปลูกไว้กินสำหรับครอบครัว มีรสชาติที่อร่อย หอมนุ่ม ซึ่งแต่ก่อนเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะเก็บข้าวไว้ในยุ้งแล้วทยอยสีข้าวไว้กินสำหรับครอบครัว ปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรในชุมชนเพียง 10% เท่านั้นที่แบ่งเก็บข้าวไว้กินในครัวเรือน ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ 1) ไม่มีลานตากและที่เก็บข้าวเปลือก 2) ตัดขายข้าวสดดีกว่าเพราะไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องการจัดการเลยโดยจ้างรถเกี่ยวและรถบรรทุกขนส่งไปชั่งขายที่โรงสีแล้วรอรับเงินอย่างเดียว ส่วนข้าวสำหรับกินในครอบครัวนั้นซื้อเป็นหลัก

สาเหตุที่ทำให้ระบบการเกษตรในพื้นที่เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะการปลูกข้าวนั้นมาจาก 1) นโยบายของรัฐบาลที่มาส่งเสริมว่า “กลุ่มพันธุ์เดิมของชุมชนนั้นได้ผลผลิตน้อย” จึงส่งเสริมให้ชุมชนทดลองพัฒนาปลูกข้าวของกรมการข้าว (ไม่เกี่ยวกับว่าระบบชลประทานเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ที่ทำให้ระบบการผลิตข้าวของชุมชนเปลี่ยน) บวกกับถูกกระแสจากการส่งเสริมของรัฐที่บอกว่าปลูกข้าวต้องใส่ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีพ่น จึงเป็นเหตุผลให้ระบบการผลิตของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่นั้นมา 2) ด้วยกระแสการส่งเสริมของรัฐบาลในยุคนั้นก็ทำให้พ่อค้าคนกลางได้นำปุ๋ยเคมี สารเคมีเริ่มเข้ามาโฆษณาขายให้กับชุมชนมากขึ้น และหลังจากการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐที่ทำให้ชุมชนใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีมากขึ้น ชุมชนก็พบว่าพื้นที่นาของชุมชนกลายเป็นดินเสื่อม สภาพดินไม่ค่อยดี ถ้าปลูกแบบเดิมก็จะไม่ได้ผลผลิตเหมือนช่วงแรก จึงทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีที่สูงขึ้นในแต่ละปี จากที่ผลกำไรจะเป็นของชาวนาในการจำหน่ายผลผลิตข้าว กลับกลายว่ากลุ่มคนที่ได้กำไรและได้ประโยชน์จากการทำระบบเกษตรสมัยใหม่นี้เป็นพ่อค้าขายปุ๋ยเคมี สารเคมี เช่น ปีไหนถ้าปุ๋ยเคมี/สารเคมีทางการเกษตรถูกกักไว้ไม่ขายให้เกษตรกร ราคาก็จะสูง ซึ่งการควบคุมของรัฐก็ควบคุมไม่อยู่ทำให้เกษตรกรแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการเปลี่ยนวิถีของเกษตรกรที่เดิมปลูกข้าวไว้กินก็เปลี่ยนเป็นพืชเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นโดยปัจจุบันมีเพียง 10% ของชุมชนเท่านั้นที่แบ่งเก็บข้าวไว้กินในครัวเรือน

การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

หากมองถึงการเข้าถึงน้ำในการทำเกษตรแต่เดิมในชุมชนนั้น แต่ก่อนสามารถเข้าถึงน้ำได้อิสระและมีน้ำอุดมสมบูรณ์ทั้งปีโดยอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่กวง ด้วยมีต้นน้ำจากลำห้วยมีต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และในชุมชนจะมีลำเหมืองที่ผันน้ำจากลำน้ำสายหลักเข้ามาใช้ในพื้นที่ หากชุมชนต้องการใช้น้ำสามารถดึงน้ำเข้าในแปลง/นาได้โดยไม่ต้องสูบน้ำ เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปีที่เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่นาเกือบทุกแปลงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งคือไม่สามารถทำนาปรังได้ ยกเว้นเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำนาใกล้กับลำน้ำที่ยังสามารถสูบน้ำมาใช้ได้อยู่ ที่ถึงแม้ทางรัฐบาลจะประกาศห้ามปลูกข้าวในรอบการผลิตนี้ก็ตาม แต่ด้วยในพื้นที่ยังไม่ได้มีหน่วยงานรัฐมาสำรวจแบบเข้มงวดในการตรวจดูว่าในชุมชนมีเกษตรกรทำนาในช่วงดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจะเป็นการแจ้งผ่านแกนนำชุมชนว่า “ด้วยภาวะภัยแล้งขอให้ชาวนาหยุดการทำนาปรังเพราะทางชลประทานไม่สามารถส่งน้ำให้กับชุมชนเพื่อทำเกษตรได้ แต่จะส่งน้ำเข้ามาเพื่อรักษาระบบนิเวศเดือนละครั้งเท่านั้น” ดังนั้นในช่วงนาปรังที่ผ่านมาเกษตรกรที่อยู่ใกล้น้ำจะอาศัยน้ำที่ส่งมาครั้งนี้จะสูบขึ้นมาใช้เดือนละครั้ง เหมือนกับเป็นการเสี่ยงดวงในการทำนาว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาหรือไม่

ระบบการปลูกพืชหลังนา

เดิมการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่นั้นถือเป็นเรื่องปกติเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและถือเป็นการพักนาไปในตัว ซึ่งพืชหลังนาที่ในพื้นที่นิยมปลูกเป็นหลัก ได้แก่ การปลูกถั่วลิสง ถั่วเหลือง และใบยาสูบเนื่องจากปลูกขึ้นได้ดีในพื้นที่ แต่ด้วยระบบการทำนาของชุมชนเปลี่ยนไปทำให้ในพื้นที่ตอนนี้ไม่ได้ปลูกพืชหลังนาแล้วเพราะคนในชุมชนเน้นการปลูกข้าวเป็นพืชเชิงเศรษฐกิจที่ปลูกข้าว 2 รอบต่อปีตามการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐ และการปลูกข้าว 2 รอบต่อปีนี้ก็ทำให้พื้นที่นาไม่ได้พักและเป็นเหตุทำให้เกิดโรคแมลงในพื้นที่นามากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่มีการพักพื้นที่นาโดยปลูกจำพวกพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มธาตุอาหารในดินซึ่งถือเป็นการเตรียมดินให้พร้อมก่อนสลับปลูกข้าวนาปี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการเพิ่มธาตุอาหารผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเข้มข้นแทนระบบเดิม

ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในชุมชน คือ เดิมคนในพื้นที่ทำนาปีนั้นจะเป็นการลงแขกที่คนในชุมชนจะช่วยกันทั้งปลูกและเก็บเกี่ยว ที่ได้สะท้อนถึงความสามัคคีในชุมชนมาก แต่พอข้าวเปลี่ยนมาอยู่ในมิติเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นก็ได้เปลี่ยนจากการช่วยเหลือกันเป็นการใช้อำนาจเงินจ้างเป็นหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนหายไป จากการลงแขกช่วยกันทำนาเปลี่ยนเป็นการแข่งขันในการผลิตข้าวกันเอง คือ ใครมีเงินมากก็ลงทุนกับการผลิตมากด้วยคาดหวังกับรายได้จากข้าวที่เพิ่มขึ้น

บทบาทของสมาชิกครัวเรือนเกษตร

หากมองถึงการแบ่งบทบาทในการจัดการแปลงการผลิตนั้น พบว่า ส่วนใหญ่สมาชิครัวเรือนเกษตรที่ยังอยู่ในวัยแรงงานนั้นยังคงช่วยกันจัดการแปลงการผลิตทั้งสามีและภรรยา ยกเว้นบุตรหลานนั้นหากไม่เรียนหนังสือก็ทำอาชีพนอกภาคเกษตร เช่น การทำงานในโรงงาน หรือบริษัทในตัวเมือง ซึ่งน้อยมากจะช่วยงานในกิจกรรมภาคการเกษตร โดยเกษตรกรในพื้นที่ได้สะท้อนว่า “คนรุ่นใหม่ไม่กลับมาทำการเกษตร เพราะว่าเขามีงานที่ดีและมั่นคงทำแล้ว เขาไม่มาลำบากทำเกษตรที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำงานหนัก ต้นทุนที่ดินทำกินก็เช่าพื้นที่ทำเป็นหลัก การทำการเกษตรคงทำถึงแค่รุ่นที่ยังทำกันอยู่นี้” อีกประเด็นที่ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ออกนอกชุมชนก็ด้วยระบบการศึกษาที่ไปเรียนข้างนอกชุมชนแล้วเมื่อเรียนจบก็มักจะไปประกอบอาชีพอื่นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมหรือบริษัทต่างๆ และน้อยมากที่จะกลับมาอยู่หรือพัฒนาชุมชน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในชุมชนขาดแคลนแรงงานทางการเกษตร

ส่วนการจัดการแปลงการผลิตของเกษตรกรผู้สูงอายุนั้นส่วนใหญ่พึ่งพาระบบการจ้างทั้งหมด ตั้งแต่จ้างไถเพื่อเตรียมพื้นที่ การหว่านกล้า การปลูกข้าว (นาดำ) การใส่ปุ๋ย การพ่นยาฆ่าหญ้า/ตัดหญ้า การพ่นยาฆ่าแมลง การเก็บเกี่ยว การขนส่ง โดยกลุ่มรับจ้างทำนาส่วนใหญ่เป็นคนนอกชุมชนที่มีทั้งชุมชนข้างเคียง และแรงงานต่างด้าว (พี่น้องไทใหญ่) แม้ว่าเกษตรกรที่มีอายุยังคงทำอยู่นั้น ก็เนื่องจากไม่มีทางเลือกเพราะมีเพียงรายได้จากการปลูกข้าวที่แม้บางครั้งมีรายได้ไม่มากก็ตาม บางรายทำนาควบคู่กับการมีรายได้เสริมจากขายพืชผักสวนครัว หรือ ลูกหลานที่ส่งเงินให้มาเป็นบางครั้ง สำหรับเกษตรกรที่ยังอยู่ในวัยแรงงาน (ในชุมชนมีสัดส่วนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้สูงอายุ) มีอาชีพเสริมอย่างอื่นทั้งสามีและภรรยาในช่วงว่างจากการทำนา เช่น รับจ้างตัดหญ้า ถอนหญ้า การเอาผักสวนครัวไปขายในตลาด บางรายทำนาเป็นรายได้เสริมเนื่องจากมีรายได้หลักจากอาชีพอื่น เช่น ทำงานลูกจ้างของชลประทาน รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

วิธีการปลูกข้าว

ในช่วง 3-4 ปี ปีที่ผ่านมา ชุมชนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวจากนาดำเริ่มเป็นนาหว่านซึ่งเป็นลักษณะการทำนาคล้ายกับนาภาคกลางเพราะเป็นกระแสช่วงหนึ่งที่มีชุมชนข้างเคียงเริ่มทำนาหว่านแล้วได้ผล ในชุมชนจึงทดลองทำตามเพราะถ้าทำได้ผลก็จะเป็นการประหยัดเวลาทำนามาก อย่างไรก็ตามด้วยระบบการทำนาหว่านทำให้คนในชุมชนต้องเจอปัญหากับการจัดการหญ้าและศัตรูพืชที่จัดการยากขึ้น เพราะต้นข้าวไม่ได้เรียงแถวปลูกเช่นเดียวกับนาดำที่จัดการดูแลได้ง่าย และด้วยจัดการหญ้าและแมลงได้ยากนี้ทำให้ผลผลิตข้าวได้น้อยกว่านาดำ (ผลผลิตข้าวลดลงประมาณ 30%)

การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร

แม้ว่าพืชส่วนใหญ่ยังคงเดิมแต่จากสถิติพื้นที่ทำการเกษตรในชุมชนพบว่า พื้นที่ทำการเกษตรของชุมชนลดลงทุกปีด้วยเนื่องจากการขยายตัวของประชากรในชุมชนที่เพิ่มขึ้นทั้งจากคนในชุมชนและนอกชุมชนที่ได้ปรับพื้นที่นาเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกับพื้นที่ทำนาส่วนใหญ่เป็นของนายทุนจากนอกชุมชนถึง 85% ซึ่งเป็นสัดส่วนตัวเลขที่สูงมาก นั่นหมายความว่าพื้นที่ทำเกษตรในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงทุกปีดังเช่นที่เป็นอยู่เพราะการตัดสินใจให้เกษตรกรในชุมชนเช่าพื้นที่ทำหรือไม่นั้นขึ้นกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะทำให้พื้นที่ทำการเกษตรเปลี่ยนมือแล้วและมีความไม่แน่นอนว่าที่ดินจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เกษตรกรที่เช่าอยู่เดิมก็จะได้รับผลกระทบในด้านเชิงเศรษฐกิจเพราะเกษตรกรที่ทำส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

เทคโนโลยีเครื่องจักรทางการเกษตร

หากมองพัฒนาการเรื่องเทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตรในพื้นที่นั้น สามารถจำแนกได้ 3 กิจกรรมทางการเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ได้แก่ การไถเตรียมพื้นที่นา รูปแบบการปลูกข้าว และการเก็บเกี่ยว ดังนี้

1.การไถเตรียมพื้นที่นา

ดังเช่นพื้นที่ทำนาในหลายพื้นที่ที่มีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการไถเตรียมทำนา คือ เดิมเกษตรกรไถนาโดยใช้วัวควาย จากนั้นเปลี่ยนเป็นรถไถเดินตามที่ในขณะนั้นคนในชุมชนส่วนใหญ่มีรถไถเดินตามเกือบทุกหลังคาเรือน จากนั้นเปลี่ยนเป็นรถไถใหญ่ประมาณเมื่อช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาด้วยการส่งเสริมจากรัฐที่สนับสนุนการใช้เครื่องทุ่นแรงในการผลิตเพื่อที่จะได้ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้เร็วขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงเครื่องมือการไถในแต่ยุคนั้นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มเช่นกัน ทั้งเรื่องการจ้างและค่าน้ำมันโดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีรถไถเป็นของตัวเองก็ต้องจ้างไถเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างไถไร่ละ 800 บาท (ไถ 2 รอบๆ ละ 400 บาท/ไร่ ต่อรอบการผลิต)

2.รูปแบบการปลูกข้าว

การปลูกข้าวของคนในชุมชนนั้นสามารถแยกเป็น 2 รูปแบบ คือ ใช้คนปลูก และใช้เครื่องปลูก โดยระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกและค่าจ้างปลูกไม่แตกต่างกันมากนัก (ค่าจ้างปลูกแบบใช้คนปลูกและใช้เครื่องปลูก คิดเฉลี่ยที่ 1,400 บาท/ไร่) เดิมรูปแบบการปลูกข้าวในพื้นที่นั้นจะเป็นการลงแขกปลูกช่วยกัน แต่ด้วยเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุประกอบกับไม่มีแรงงานภาคการเกษตรในชุมชนจึงทำให้ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาการปลูกข้าวของชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นระบบจ้างปลูกทั้งหมด โดยการเลือกรูปแบบการปลูกว่าจะใช้คนปลูกหรือเครื่องปลูกนั้นขึ้นกับการพิจารณา/ตัดสินใจข้อดีข้อเสียของเกษตรกรแต่ละราย

3.การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวข้องคนในชุมชนนั้นเดิมเป็นการช่วยกันลงแขก แต่ด้วยเหตุผลเดียวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปลูก คือ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และขาดแรงงานในการเก็บเกี่ยว หลังจากปรับการเก็บเกี่ยวจากลงแขก ก็เปลี่ยนเป็นการจ้างคนมาเกี่ยวข้าว แต่ด้วยการเข้ามาของรถเกี่ยวเมื่อช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาทำให้นาข้าวของพื้นที่เลือกรถเกี่ยวทั้งหมดเนื่องจากหากเทียบต้นทุนค่าเกี่ยวแล้วพบว่าใช้รถเกี่ยวจะจ้างถูกกว่าจ้างคนเกี่ยวมือ

ภาพประกอบ

1.บริเวณรอบโรงสีข้าวของกลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวชุมชนตำบลหนองแหย่

2.บริเวณด้านในของโรงสีข้าว

3.แปลงนาของสมาชิกกลุ่มที่จ้างทีมปลูกจากต่างพื้นที่

อ้างอิง: การสัมภาษณ์ชุมชนในโครงการวิจัยการปรับตัวของชาวนาไทยยุคหลังนโยบายจำนำข้าว ปี พ.ศ.2557. (2564). โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่ายชุมชนและสังคม (ฝ่าย 4)

บทความแนะนำ