โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนจึงทำให้มีพันธุกรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย และถูกนำมาใช้ในวิถีชีวิตการกินอยู่ของคนในชุมชน ในยามที่เกิดวิกฤตอาหารไม่ว่าจะเป็นภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน การเพาะปลูกไม่ประสบความสำเร็จ จนส่งผลให้ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค การหันไปพึ่งพิงพืชจากธรรมชาติเพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้เป็นทางเลือกหนึ่งของคนในอดีตซึ่งพืชหลักที่สามารถเข้ามาช่วยในยามอดอยากได้นั้นนั้นคงหนีไม่พ้นพืชหัว

(มันมือเสือ/เผือกใหญ่/มันเห็บ)

ภาพประกอบบทความ

มันพื้นบ้านของไทยนั้นมีหลายชนิด มีขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่มากหนักเป็บสิบๆกิโลกรัม ขนาดกลางและขนาดเล็ก  รูปทรงต่างๆกันออกไป เช่น รูปรี รูปนิ้วมือ รูปยาวตรง รูปรี รูปไข่ เป็นต้น ส่วนใหญ่อยู่ในสกุล  Dioscorea และมีพันธุ์ย่อย ๆ กว่า 600 ชนิด เรียกภาษาอังกฤษ ว่า yam  มีรากศัพท์มาจากภาษาแอฟริกาตะวันตกที่เรียกมันพื้นเมืองว่า nyamba   แปลว่ากิน ในที่นี้รวมถึงกลอยด้วย โดยพืชในสกุล Dioscorea จะมีสารพิษ คือ dioscorine ในปริมาณที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักกระบวนการในการนำมาบริโภคอย่างถูกวิธี นอกจากนี้พืชหัวยังมี เผือก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าColocacia esculenta (L) Schott อยู่ในตระกูล Araceae มีอยู่กว่า ๒๐๐ พันธุ์ ในเมืองไทยมีผู้จำแนกไว้มี ๔ ชนิด ได้แก่ เผือกหอม มีหัวใหญ่  เผือกเหลือง หัวขนาดย่อม หัวสีเหลือง เผือกไม้ หัวมีขนาดเล็กและเผือกตาแดง ที่ตาของหัวมีสีแดงเข้ม และบุก(Konjac) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amorphophallus sp. รวมถึง มันสาคู ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Maranta arundinacea L. อยู่ในตระกูล Marantaceae ขึ้นเป็นกอ ต้นและใบคล้ายพุทธรักษา หรือต้นคล้า

(มันห้านาที/มันข้าวก่ำ/มันพร้าวและกลอย)

ที่มาของพืชหัวเหล่านี้มีทั้งหัวที่เกิดจากราก ที่เรียกว่า Root Crop หัวที่มาจากลำต้นแล้วอยู่ใต้ดิน (Tuber Crop) หัวที่เป็นกาบแล้วรวมกันอยู่ใต้ดินอย่างหัวหอม (Bulb) หัวที่เป็นลำต้นแต่คนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นหัวใต้ดินอย่างเผือก เรียกว่า Corm เป็นต้น ซึ่งพืชเหล่านี้จะให้พลังงาน ที่สะสมอยู่ในรูปของเม็ดแป้ง (starch granule) อันเป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท และยังมีมีปริมาณของโปรตีนและไขมันต่ำมาก

คนในอดีตใช้ประโยชน์จากพืชหัวในการประกอบอาหาร ทำขนมหวาน เช่น แกงบวด ข้าวเหนียวหน้ากลอย ต้มกินกับมะพร้าว ใส่ในแกง มันทอด หรือหน้าหนาวอาจจะเผากินก็อร่อยไปอีกแบบ มีตำนานที่เล่าถึงเรื่องราวมันหลากหลายชนิด เช่น ในภาคอีสานอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับสองแม่ลูกที่ไปขุดมันฮืบ เพื่อมาบรรเทาความอดอยาก แต่ด้วยขนาดใหญ่โตของมันชนิดนี้ที่ยิ่งขุดก็ยิงลึกลงไปถึงขนาดที่ว่าผู้เป็นแม่ตกหลุมมันตายกันเลยทีเดียว หรือ บางพื้นที่จัดเป็นประเพณีที่เรียกว่า งานกินหวาน โดยเมื่อถึงช่วงที่กู้มัน(เก็บเกี่ยวหัวมัน)คนในชุมชนก็จะร่วมกันไปขุดมันเพื่อนำมาทำเป็นของหวานไปทำบุญร่วมกัน

ด้วยความต้องการน้ำที่น้อย ความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ โรคแมลงต่างๆ และยังเก็บไว้เพื่อบริโภคได้นานโดยไม่เน่าเสีย เพียงแค่นำไปฝังไว้ในทรายที่ไม่ชื้น เผือก มันพื้นบ้าน บุก กลอย ก็สามารถเก็บไว้เป็นอาหารสำรองของครอบครัวได้ ซึ่งแต่เดิมพืชเหล่านี้สามารถเก็บหาได้จากธรรมชาติพบได้ตามป่า เขา หัวไร่ปลายนา แต่ในทุกวันนี้พื้นที่อยู่ของพืชหัวเหล่านี้กำลังถูกทำลายจนเหลือลดน้อยลงทุกที ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนโดยไม่รู้ตัว อันเนื่องมาจากหนึ่งในฐานที่มาของอาหาร คือ ฐานจาการเก็บหาจากธรรมชาติไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงฐานอื่น คือ ฐานการผลิต ด้วยการรวบรวมสายพันธุ์ของพืชหัวพื้นบ้านมาปลูก อนุรักษ์ ปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่ของชุมชน

ฐานอาหารที่มาจากการแลกเปลี่ยน โดยวัฒนธรรมของคนไทยนั้นการแบ่งปันอาหารกินกันนั้นสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป จนเกิดเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคน เป็นเสี่ยว เป็นเกลอ ที่มีทั้งเกลอเขา เกลอนา เกลอเล แต่เมื่อฐานอาหารที่เกิดจากธรรมชาติไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว พืชพันธุ์อันหลากหลายไม่ได้ถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ในฐานการผลิตเลย การแลกเปลี่ยนกันย่อมทำได้น้อยลง เพราะวิถีชีวิตถูกผูกติดกับฐานการซื้อขาย อันจำเป็นจะต้องหารายเพื่อมาใช้ในการได้มาซึ่งอาหาร อีกทั้งพืชหัวพื้นบ้านเหล่านี้ที่มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยยา ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมหลายครั้งก็ไม่สามารถซื้อหาได้ตามท้องตลาดเช่นกัน

บรรพบุรุษของเราได้พิสูจน์ให้เห็นว่ายามข้าวยากหมากแพง อาหารหาได้ลำบากการมีพืชหัว ไม่ว่าจะเป็นมันพื้นบ้าน เผือก กลอย บุก สาคู หรือกระทั่งแห้ว อยู่ในธรรมชาติจะช่วยเป็นหลักประกันในการมีอยู่มีกินมากขึ้น แต่ทุกวันนี้เราหักร้างถางพง เปลี่ยนพื้นที่อาหารเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวไปไม่รู้กี่มากน้อย อาจจะต้องย้อนกลับมาถามตนเองกันว่าหากยามวิกฤตท่างออกของเราจะเป็นเช่นไรได้บ้าง บางที พืชหัว อาจจะเป็นคำตอบในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นก็ได้ เหมือนกับที่คนตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม หันมารวบรวมพันธุกรรมพืชหัว เพื่อปลูกอนุรักษ์ ปรับปรุงพันธุ์ และเพื่อทำความเข้าในในคุณลักษณะของพืชเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำรองของชุมชนต่อไปในอนาคต

อ้างอิง

เต็ม สมิตินันท์ (2544)ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=5&chap=6&page=t5-6-infodetail06.html.http://www.foodnetworksolution.com/vocab/word/2926.

บทความแนะนำ

ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์