โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 13 เมล็ดพันธุ์ต้นทางของการเพาะปลูก

          เมล็ดพันธุ์มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช พืชที่เติบโตได้ดีเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพจะมีเปอร์เซนต์ความงอกสูง ในอดีตเกษตรกรมีวิธีคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เห็นว่าดีมีคุณภาพเพื่อไว้ปลูกต่อ และธรรมชาติยังช่วยทำให้เกิดการพัฒนาความหลากหลายของพันธุ์ (varieties) ที่สัมพันธ์กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชุมชนเกษตรกรรมในนิเวศต่างๆ ส่งให้เกิดการแลกเปลี่ยน เคลื่อนย้ายพันธุ์พืช และเกิดการคัดสรรใช้ประโยชน์โดยคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนได้กลายเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพนิเวศและการใช้ประโยชน์ของชุมชน
          แต่เมื่อเมล็ดพันธุ์ได้กลายเป็นสินค้าซื้อขาย เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสามารถขจัดความยากจนได้โดยปล่อยให้ระบบตลาดทำหน้าที่อิสระ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) การเจรจาเอฟทีเอ รวมไปถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) เมล็ดพันธุ์จึงได้เข้าเกี่ยวข้องในรายละเอียดของข้อตกลงประเด็น การเปิดตลาดสินค้าเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) และการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV 1991 ที่สามารถขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ขยายสิทธิผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ออกไปรวมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ และขยายระยะเวลาการผูกขาดจากที่กำหนดไว้ 12 ปี เป็น 20 ปี รวมทั้งลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้น 3-4 เท่า และเกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดนั้นๆ ไปปลูกต่อหรือขยายผลได้อีก อันเป็นการผูกขาดอย่างสิ้นเชิงจากบรรษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และทำลายการจัดการและพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรที่เคยมีมา ที่สำคัญท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้นนี้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐ พยายามเสนอและผลักดันให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP ( https://www.facebook.com/biothai.net)

กองทุนยาไส้ ยาใจ กองทุนเมล็ดพันธุ์สู้ภัยโควิด  

          “เมล็ดพันธุ์ยาไส้ยาใจ” เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งรวบรวม แบ่งปันและกระจายพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของความหลากหลายพันธุกรรมพืชสามารถคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง รวมถึงสืบทอดให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานให้รู้จักและตระหนักถึงพันธุกรรมพื้นบ้านที่ต้องอยู่ในมือของเกษตรตลอดไป
          ยาไส้ ยาใจ มีความหมาย “ยาไส้” คือ งานที่ทำให้เรามีกินหล่อเลี้ยงร่างกาย “ยาใจ” คือ งานที่หล่อเลี้ยงจิตใจอุดมการณ์ของเราให้คงอยู่ ดังนั้น เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุในซองจึงเป็นความตั้งใจ และใส่ใจของกลุ่มพวกเราที่จะร่วมสืบทอดอุดมการณ์และความตั้งใจในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนให้คงอยู่ ทุกท่านที่ร่วมอุดหนุนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและการสร้างการพึ่งตนเอง “ยาไส้ ยาใจ” จึงเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่บนความสมดุลของร่างกายและจิตใจที่ดีงามและเป็นจริง (เพจยาไส้ ยาใจ, สืบค้น 22 เมษยน 2563)
          ด้วยเป็นการรวมกลุ่มของคนเล็กๆ ที่มีความตั้งใจและตระหนักเห็นความสำคัญของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จึงได้มีการจัดเก็บรวบรวม แล้วส่งต่อเมล็ดพันธุ์ผ่านการจำหน่าย แบ่งปันและแลกเปลี่ยนมานานเกือบ 5 ปี เมื่อถึงวันที่มีวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 19 กลุ่มคนเล็กๆ ได้จัดให้มีการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์สำหรับคนในเมืองที่สนใจปลูกผักไว้กินในครัวเรือน ผ่านการแจกจ่ายแบ่งปันทางเพจ ยาไส้ ยาใจเอง และการมี “โครงการโรงทานเมล็ดพันธุ์ 4 มุมเมือง” ซึ่งยาไส้ ยาใจ ได้ใช้เพจในการสื่อสาร และได้โพสถึงกิจกรรมดังกล่าว ดังนี้
          วันที่ 25 มีนาคม 2563 “วิกฤตโควิด 19 โรคระบาดมีแนวโน้มสถานการณ์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นและคงดำเนินไปอีกสักระยะ ….ช่วงเวลานี้จึงของให้ทุกคนดูแลตนเองและมีกำลังใจที่ดี ลดการเดินทาง….หากเพื่อนๆ ท่านใด สนใจจะปลูกผักสร้างพื้นที่อาหารให้กับกองทุน #กองทุนยาไส้ยาใจเราขอเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ดีๆ…ให้กับเพื่อนๆที่สนใจสร้างอาหารให้ตัวเองและครอบครัว….ผ่านช่วงเวลานี้ไปอย่างมีสติและพึ่งตนเองเพิ่มสูงขึ้น…..” ในเพจได้มีเมล็ดพันธุ์ผัก 10 ชนิด เช่น พริกชี้ฟ้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาดฮีน ถั่วพูม่วง แตงกวา พริกขี้หนู มะเขือยาว คะน้า แคแดง
          รวมไปถึงโพสที่ถูกแท็กในวันเดียวกัน ที่ได้เล่าเรื่อง “โรงทานเมล็ดพันธุ์ 4 มุมเมือง” เป็นเรื่องราวความช่วยเหลือจากเพื่อน ภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ที่ได้ตั้งโครงการเฉพาะกิจ “กองทุนยาไส้ ยาใจสู้ภัยโควิด” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทยด้วยกัน ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ..โดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน…ที่ได้คละชนิดให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่เขตเมือง เพื่อเป็นการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ผลิตอาหารกินเองที่บ้าน ลดการออกไปข้างนอกและลดการติดเชื้อจากไวรัสโควิด โดยมีเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด 46 ชนิด และกระจายไป 8 แห่งทั่วประเทศ …” ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์จะถูกบรรจุในซองซิปขนาดเล็ก ตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์ เช่น บวบหอม เสาวรส คะน้า มะเขือยาวเขียว ผักชี ผักกาดม้ง ผักปลังเขียว อัญชันสีน้ำเงิน สลัดกรีนโอ๊ค ผักเสี้ยน ข้าวโพดข้าวเหนียว แตงส้ม ผักขี้หูด ผักบุ้ง ถั่วกาหยี เป็นต้น เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะถูกส่งไปยังจุดประสานงานในการกระจายเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 4 ภาค จำนวน 8 จุด

ทำไมต้องเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน

          กองทุนยาไส้ ยาใจ เป็นกิจกรรมหนึ่งของการขับเคลื่อนงานภายใต้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ตามที่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของการขับเคลื่อนร่วมกันของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค ด้วยเห็นร่วมกันว่า “พันธุกรรมพืชและสัตว์เป็นหัวใจของการทำเกษตรกรรมยั่งยืน” และได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และผลกระทบการลดลงและสูญหายของพันธุกรรมพืชและสัตว์ ที่เกิดขึ้นภายใต้การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรสู่แบบแผนการผลิตเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นผลผลิตปริมาณมาก รวมถึงการเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศ ยิ่งส่งผลให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก สูญเสียสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นเกษตรกร
          จากภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเลือกหนึ่ง คือการลดพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้มากสุด สร้างความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ในแปลงเกษตร มีการวางแผนและจัดการระบบการผลิต ตลอดจนการจัดการผลผลิต การรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีการรื้อฟื้นคืนกลับของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่เคยมีอยู่แล้วสญหายไป หรือที่มีจำนวนลดน้อยลงให้มาปลูกในแปลงเกษตร จนถึงปัจจุบันพันธุกรรมพื้นบ้านหลากหลายชนิดทั้งพืชและสัตว์ได้มีการฟื้นคืนกลับมา มีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพนิเวศ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ 
          สำหรับ “กองทุนยาไส้ ยาใจ” ได้ขึ้นในปี 2558 โดย เสาวนีย์ สุทธิชล หรือแอ๊ด และจุฑาธิป ชูสง หรือจอย อาสาที่จะช่วยกันจัดการดูแลและประสานงานขับเคลื่อนกองทุนเป็นหลัก ปัจจุบัน กองทุนยาไส้ ยาใจ สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชมากกว่า 50 ชนิด “เราใช้แปลงที่บ้านของเราเอง และมีแปลงของเกษตรกรที่สนใจ และทำงานกับเราในการปลูก คัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ เราแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์มาจากกับเครือข่ายเกษตรกรในภาคต่างๆ หรือเมื่อไปไหนมาไหนเราก็จะเก็บเมล็ดพันธุ์มาด้วย  เราจึงมีเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านทั้งสี่ภาค” (เสาวรีย์ สุทธิชล, สัมภาษณ์ 21 เมษายน 2563) เมล็ดพันธุ์ที่รวบรวม แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) เอาไว้ปลูกต่อเอง 2)เอาไปแบ่งปัน 3)เข้ากองทุน สำหรับการเข้ากองทุนนั้น เมล็ดพันธุ์จะถูกจำหน่ายในราคาซองละ 10 บาท เพื่อเป็นค่าจัดการ การเก็บ การดูแล การคัดเลือก แม้กระทั่งการซื้อซองและสติ๊กเกอร์ในการติดหน้าซอง ซึ่งถ้าดูความเป็นจริงแล้ว แทบจะไม่มีกำไรจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เลย แต่เรื่องราวและกิจกรรมที่กองทุนยาไส้ ยาใจทำไปนั้น กล่าวได้ว่าทำด้วยความตั้งใจ ช่วยกันขับเคลื่อน เราต้องปกป้องทรัพยากรของเราให้ได้…

ยาไส้ ยาใจ : สถานะเมล็ดพันธุ์ในวิกฤตโควิด 19

          กองทุนได้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารในกลุ่มคนหลายที่หลากหลาย เมื่อเมล็ดพันธุ์เป็นต้นทางของอาหาร และอาหารมีความสำคัญกับชีวิต การสร้างอาหารให้เกิดขึ้นในครัวเรือน เป็นหนึ่งแนวทางแก้วิกฤต ถึงปลายเดือนเมษายน 2563 กองทุนยาไส้ ยาใจ สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ไปได้ 250 ครอบครัว และยังกระจายไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสำหรับคนเมืองซึ่ง 1 ครัวเรือน จะได้เมล็ดพันธุ์ 10 ชนิดที่เป็นพืชผักโตเร็ว
          ดั่งเหมือนในเพจ ยาไส้ ยาใจ ในวันที่ 29 มีนาคม ที่โพสว่า “ในนามของกองทุนยาไส้ ยาใจ ขอแบ่งปันความรัก ความปรารถนาดี ด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งความรักที่กำลังเดินทางไปทายทักทุกท่านในดินแดนที่ห่างไกลออกไป ….ขอให้ความรัก ความเมตตาของเราเป็นดั่งเช่นเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ที่พร้อมจะงอกงามและเติบโตต่อไปบนทุกสภาพผืนแผ่นดิน ……
          สำหรับแนวทางที่กองทุน ยาไส้ ยาใจ อยากเห็นต่อไป คือการเกิดขึ้นของคลังหรือธนาคารเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชุมชน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์ของชุมชน สำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ แบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ต่อไป รวมไปถึงการคัดค้านการเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านต่างๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการทำลายความมั่นคงทางอาหาร

หมายเหตุ…หากสนใจเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามและอุดหนุนได้โดยตรงที่
1.เพจ: ยาไส้ ยาใจ ( https://www.facebook.com/ยาไส้-ยาใจ-1323114714366283 ) : เสวนีย์ (แอ๊ด) 087-4902829
2.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคตะวันออก  : คุณจุ่น กาญจนา  089-8088669
3.กลุ่มวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ ภาคอีสาน : กอล์ฟ 089-7708500 หรือ นุจนาด 081-5443259
4.สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ : แดง 093-2185708 5.เพจ :ธนาคารเมล็ดพันธุ์ Natural Seed ( https://www.facebook.com/pg/SeedBank2558/about) : แพ้บ 088-7911561

ขอขอบคุณ : เสวนีย์ สุทธิชล (แอ๊ด) / จุฑาธิป ชูสง (จอย) /มัสนาวี ศิริโสภณ (แหม่ม) และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้

บทความแนะนำ