โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่14 ที่ดินกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างไร

         บทบาทของที่ดินในช่วงที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่ดินทำการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของความเป็นเมือง ในลักษณะการปรับเป็นที่อยู่อาศัย/ชุมชน ถนน โรงงาน/อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนมือที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรของนายทุน
         หากมองสัดส่วนที่ดินของไทยทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ พบว่ามีสัดส่วนการใช้ที่ดินทำการเกษตรจำนวน 149.24 ล้านไร่ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก ได้แก่ อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ถึงร้อยละ 46 พืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในระบบการผลิตแบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อเกษตรกรในเรื่องสุขภาพ ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ที่ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเปราะบาง ดังเช่นเรื่องราคาผลผลิตที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักสะท้อนถึงความไม่แน่นอนอันเนื่องจากระบบการผลิตดังกล่าวผูกติดกับระบบพ่อค้าคนกลาง
         รวมถึงประเด็นเรื่องการถือครองที่ดินของเกษตรกรที่พบว่า เกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองลดลง (102.78 ล้านไร่ ในปี 2524 เป็น 71.64 ล้านไร่ ในปี 2556) ด้วยที่ดินของเกษตรกรรายย่อยหลุดมือไปนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับข้อจำกัดด้านสภาพทางกายภาพของที่ดิน ด้านเศรษฐกิจ ที่กระทบกับเกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องหนี้สินในการลงทุนด้านการผลิตที่มีความเสี่ยงสูง โดย 30% ของครอบครัวเกษตรมีหนี้สินเกิน 1 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นโดยเกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวเนื่องจากระบบการผลิตแบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวที่ส่วนใหญ่มีการพึ่งพาปัจจัยภายนอกไร่นาที่เพิ่มขึ้น และด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้จึงทำให้มีเกษตรกรน้อยรายมีที่ดินต่อการสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน

         จะทำอย่างไรให้การเข้าถึงที่ดินอยู่ในปัจจุบันของเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน? ยังคงเป็นข้อท้าทายที่สำคัญ ซึ่งนอกจากพื้นที่ทำการเกษตรลดลงแล้ว ยังพบว่าเกษตรกรมีการเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นจากประมาณ 14.09 ล้านไร่ เป็นประมาณ 29.25 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15.16 ล้านไร่ ในช่วงปี 2524-2556 (เฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีสัดส่วนการเช่าสูงถึง 45%) และแม้ว่าเกษตรกรเผชิญกับอัตราค่าเช่าที่เกินกว่าการประกาศของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) แต่เกษตรกรก็ยังคงยินดีจ่ายค่าเช่าเช่นเดิม เนื่องจากเกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง/มีที่ดินจำกัด จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงสถานภาพการถือครองที่ดินในไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงระหว่างนายทุนกับเกษตรกรรายย่อยในการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ ประกอบกับนโยบายการบริหารจัดการที่ดินในช่วงที่ผ่านมานั้นยังคงขาดการบังคับใช้ ทำให้ภาพการกระจุกตัวของที่ดินในการเก็งกำไรยังคงมีปรากฏในหลายพื้นที่
         ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของการใช้ประโยชน์ที่ดิน และความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินดังกล่าวได้ส่งผลหลายประการ ทั้งเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพลดลง พื้นที่การผลิตอาหารมีจำกัด ความไม่มั่นคงทางอาหารของชุมชน เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืนซึ่งสามารถมองได้ 2 มิติ คือ การเช่าที่ดิน และการทำการเกษตรแบบเคมีเชิงเดี่ยว โดยการเช่าที่ดินมองถึงความไม่ยั่งยืนในการเข้าใช้ประโยชน์หรือการลงทุนในการผลิตที่ยั่งยืนมากนักด้วยการเข้าใช้ประโยชน์ของพื้นที่นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดินเป็นหลัก ส่วนการทำเกษตรแบบเคมีเชิงเดี่ยวมองถึงความไม่สมดุลของระบบนิเวศในไร่นา ความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่ได้กระทบต่อคนในชุมชนเท่านั้น แต่มีความเชื่อมโยงในหลายระดับของห่วงโซ่การผลิตอาหาร
         จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้หลายชุมชนได้มีการพูดคุยเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า โดยชุมชนมีการจัดการตนเองมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดทำธรรมนูญชุมชน โฉนดชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกทางออกหนึ่งในการรักษาฐานทรัพยากรตนเองทั้งด้านอาหาร รายได้ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชนเอง

อ้างอิง

กรีฑา เอี่ยมสกุล, สมบัติ พันธวิศิษฏ์, จรินทร์ เทศวานิช, และสมศักดิ์ เพียบพร้อม. (2559). การวิเคราะห์การกระจายการถือครองที่ดินในภาคเกษตรกรรมของไทย (ANALYSIS OF THE DISTRIBUTION OF LAND IN THE AGRICULTURAL SECTOR OF THAILAND). วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ปีที่ 8 ฉบับที่ 15 มกราคม – มิถุนายน 2559.

จิรัฐ เจนพึ่งพร, วิษณุ อรรถวานิช, โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, และบุญธิดา เสงี่ยมเนตร. (2562). พลวัตการทำเกษตรไทย และนัยต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตร “ทำไมเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงเลือกทำเกษตรที่เสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนตํ่าอยู่?”. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย   

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา, อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย, อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์, ราชัย ชลสินธุสงครามชัย, ชัยวัฒน์ ไชยคุปต์, พรทิพย์ สุงคาสิทธิ์, รุ้งนภา โชติชูช่วง, ใบตอง รัตนขจิตวงศ์, และพงษ์พิษณุ เวปุลานนท์. (2559). โครงการศึกษาบทบาทของที่ดินในอนาคต. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

บทความแนะนำ