โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 12 คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

              ที่ดิน เงินทุน องค์ความรู้ รวมทั้งแนวคิด ความเชื่อในการทำการเกษตรที่หลากหลาย ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นทำการเกษตร ในการที่จะทำอย่างไรให้ข้อท้าทายดังกล่าวสามารถเชื่อมโยง ส่งต่อให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่? แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หันกลับสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น แต่ด้วยความหลากหลายของคนรุ่นใหม่ที่มีต้นทุน และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่เฉพาะกลุ่มและขยายเพิ่มได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อเชื่อมกับการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลในด้านอาหาร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ภาพพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

              ปานและเจน เป็นอีกตัวอย่างคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่ผันจากทำงานประจำในตัวเมืองมาทำการเกษตรแบบเต็มตัว โดยคาดหวังให้แปลงการผลิตที่ทำอยู่สามารถเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน เนื่องด้วยความชอบและมีพื้นฐานทำเกษตรเดิมในวัยเด็ก ประกอบกับต้องการใช้เวลากลับมาดูแลพ่อแม่ให้มากขึ้นจึงตัดสินใจมาทำเกษตรร่วมกัน แม้ว่าเจนมีข้อจำกัดเรื่องที่ดินแต่ก็ไม่ได้จำกัดโอกาสในการเริ่มต้น โดยปานได้แบ่งปันการเข้าถึงที่ดินของครอบครัวให้กับเจนในการผลิตร่วมกัน ทั้งคู่วางแผนการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานในพื้นที่ 5 ไร่ แปลงดังกล่าวเน้นปลูกพืชตามฤดูกาล พืชท้องถิ่นที่ไม่ต้องดูแลมาก ตัวอย่างพืชหลักที่ปลูกในแปลง เช่น ผักเชียงดา ชะอม มะเขือ (ประมาณ 10 สายพันธุ์) หน่อไม้ฝรั่ง ต้นหอมญี่ปุ่น ต้นหม่อน และมะนาว การร่วมใช้ที่ดินเพื่อทำการผลิตร่วมกันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นการเริ่มต้นในการแบ่งปันให้เข้าถึงที่ดินให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการพัฒนาชุมชนควบคู่กับการทำเกษตรซึ่งเกิดขึ้นโดยฐานของคนรุ่นใหม่เองในชุมชน ปานและเจนได้สะท้อนว่าในช่วงปีแรกของการกลับมาทำเกษตรนั้นเป็นช่วงที่สำคัญเป็นอย่างมาก ถือเป็นการพิสูจน์ว่าจะคงยังทำต่อหรือหยุด เพราะเป็นช่วงการปรับตัวและลองผิดลองถูกในการวางผังระบบการผลิตที่บางช่วงไม่มีรายได้ แต่ด้วยความชอบและรักในการทำการเกษตร ทำให้ทั้งคู่ยังคงมุ่งมั่นในการทำการเกษตรต่อไป แปลงการผลิตในปัจจุบันถือว่าเริ่มสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องหลังจากเข้าสู่ระบบตลาดนัดเกษตรอินทรีย์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ถึงแม้ปานและเจนทำการเกษตรแบบเต็มตัวย่างเข้าปีที่ 3 แล้ว แต่ทั้งคู่ยังบอกว่าตนยังเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่ต้องเรียนรู้ในการพัฒนาระบบการผลิตในแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเก็บเมล็ดพันธุ์ การวางแผนการผลิต การตลาด รวมถึงการจัดการระบบน้ำเพื่อเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ที่อาจกระทบกับการผลิต เช่น ภัยแล้ง ที่หลายพื้นที่เผชิญอยู่ในตอนนี้

              นอกจากทำแปลงการผลิตร่วมกันแล้ว ปานและเจนยังได้ชักชวนคนหนุ่มสาวในชุมชนรวมตัวทำเกษตรอินทรีย์ โดยเน้นการปลูกพืชผสมผสานในบริเวณรอบบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ยังคงมีอาชีพประจำแต่จะทำเกษตรเฉพาะในช่วงวันหยุดหรือหลังจากการทำงาน “ไม่มีที่ดิน รายได้ที่ผันไปกับฤดูกาลไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ประกอบกับไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง” ถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ได้เริ่มทำการเกษตรแบบเต็มตัว อย่างไรก็ตามทั้งคู่ยังคงคาดหวังว่าด้วยรูปแบบการผลิตที่ทำอยู่ในปัจจุบันสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาทำเกษตรแบบเต็มตัว รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตในชุมชนที่ส่วนใหญ่ยังคงทำการผลิตพืชเคมีเชิงเดี่ยวเป็นหลักหันมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

บทความแนะนำ