โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชุมชนลุ่มน้ำหลังสวนตอนบนกับการจัดการสารเคมีทางการเกษตร

ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ประกอบไปด้วย 9 หมู่บ้านและเป็นตำบลหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำหลังสวนตอนบน ลักษณะทางกายภาพเป็นภูเขาดินสลับซับซ้อน มีที่ราบเล็กๆ ระหว่างภูเขาและพื้นที่ลาดชันอันเป็นที่ทำเกษตรกรรม

อดีตคนในชุมชนมีอาชีพหาแร่ดีบุกและทำเกษตร แบบสวนพ่อเฒ่า (สวนโบราณ) ซึ่งมีรูปแบบที่เด่นชัดคือการปลูกไม้ผลหลายๆ ชนิดในแปลงเดียวกัน หลังจากปี 2518 มีการส่งเสริมระบบการเกษตรที่มุ่งส่งสินค้าออกสู่ต่างประเทศเพื่อเพิ่มราย ได้ให้กับประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเหตุให้มีการนำเอา พืชพาณิชย์หลายชนิดเข้ามาปลูกในพื้นที่แบบเชิงเดี่ยว เช่น กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก และเป็นสาเหตุให้เกิดการอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่นไม่ว่าจากพื้นที่ลุ่มน้ำตา ปี ลุ่มน้ำปากพนัง ตลอดจนภาคอีสาน เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

สารเคมีทางการเกษตรกับผลกระทบที่เกิดในพื้นที่

พืชพาณิชย์ที่สำคัญของชุมชนคือ กาแฟ ปาล์ม ไม้ผล ช่วงใดที่เมล็ดกาแฟราคาดี พืชชนิดนี้ถูกปลูกอย่างกว้างขวาง และใช้สารเคมีมากโดยเฉพาะสารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งนอกจากหญ้าตายแล้ว สารเคมียังส่งผลให้เมล็ดกาแฟร่วง และมีการเก็บเม็ดกาแฟเหล่านั้นมาขายเช่นกัน ส่วนปาล์มต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก และผลไม้ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญคือทุเรียน ซึ่งเดิมทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านของภาคใต้ถูกขนานนามว่าเป็นทุเรียนที่อุ้มลูกฝ่าฝน เพราะเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีฝนตกชุก แต่เมื่อมีการนำทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาส่งเสริมปลูกในพื้นที่ ปรากฏว่าอ่อนแอเกิดโรคระบาดได้ง่ายจึงต้องใช้สารเคมีมากตามไปด้วย กอปรกับความนิยมการปลูกทุเรียนนอกฤดูหรือทุเรียนทวาย ทำให้ต้องมีการใช้สารเคมีทั้งสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช และสารควบคุมและเร่งการเจริญเติบโตของพืชในทุกระยะมากขึ้นเพียงเพื่อบังคับให้ทุเรียนให้ผลผลิตนอกฤดู

เมื่อเรียงลำดับความรุนแรงของการใช้สารเคมีของชุมชนพบว่าสารเคมีที่มีการใช้มากที่สุดคือ ไกลโฟเสท รองลงมาคือพาราควอท ต่อมาคือปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง และสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช

ผลกระทบอย่างมากจากสารเคมีการเกษตรในพื้นที่คือ ลักษณะของพื้นที่มีความลาดชันและมีฝนตกชุก ทำให้เกิดการชะล้างสารเคมีลงมาตามน้ำอย่างรุนแรง จึงพบสารตกค้างในแหล่งน้ำของชุมชนถึงขั้นวิกฤต โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำตัวอย่างน้ำมาตรวจเมื่อปี 2538 ถึงขั้นต้องประกาศห้ามนำน้ำจากลำคลองมาใช้ในการอุปโภคบริโภคเด็ดขาด

นอกจากนี้สารเคมีทางการเกษตรได้ทำลายระบบนิเวศน์แหล่งน้ำ ทำให้พันธุกรรมสัตว์พื้นบ้านที่สำคัญคือปลาชนิดต่างๆ และกบทูตลดน้อยลงจนเกือบสูญพันธ์

การแก้ปัญหาชุมชนและการทำงานของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกลุ่มน้ำหลังสวนตอนบนเป็นองค์กรชาวบ้านในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ที่พยายามศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อพัฒนารูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย สอดคล้องกับธรรมชาติ เน้นความมั่นคงทางด้านอาหาร

เครือข่ายฯ ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาร่วมและเห็นว่าเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการใช้สารเคมีการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ในช่วงเริ่มต้นเครือข่ายมีสมาชิก 32 ครอบครัว การทำงานช่วงแรกคือ พัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เหมาะสมของสมาชิกแต่ละแปลง การออมทรัพย์ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน สมาชิกของเครือข่ายฯ

เมื่อเครือข่ายฯ ดำเนินการไประยะหนึ่ง ได้สรุปบทเรียนว่า การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเฉพาะแปลงของสมาชิก เพียง 32 ครอบครัวนั้นไม่ได้ผลในสภาพพื้นที่ลาดชันฝนตกชุก เพราะสารเคมีจากแปลงที่อยู่ต้นน้ำหรือที่สูงกว่าไหลมาในแปลงสมาชิกของเครือ ข่ายฯ เกษตรกรที่ปรับระบบมาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจึงอยู่แบบโดดเดี่ยวไม่ได้

ช่วงปี พ.ศ.2543-2544 เครือข่ายฯ ได้ปรับแนวทางการทำงานใหม่ โดยขยายการทำงานให้ครอบคลุมทั้งชุมชน ประกอบกับในปัจจุบันมีแกนนำเกษตรกรในชุมชนได้มีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้การทำงานมีความคล่องตัวเนื่องจากได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านนโยบายและงบประมาณ ในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน

วังมัจฉากับการแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตร

จากปัญหาการลดลงและใกล้สูญพันธุ์ของพันธุ์ปลาพื้นบ้าน และชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคได้ อันเนื่องจากการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตร จึงนำไปสู่การพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“เราเห็นว่าปลามันหายไปและลดลง จากวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันจึงได้ คิดอยากอนุรักษ์พันธุ์ปลาและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาหรือวังมัจฉา และจัดทำงานวิจัยเรื่องความหลากหลายของพันธุ์ปลาพื้นบ้าน “

วังมัจฉา จุดแรกได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2542 โดยใช้ประเด็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วม และสะท้อนปัญหาการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ต้นน้ำ การชะล้างสารเคมีการเกษตร และการพังทลายของดินลงสู่แหล่งน้ำ ต้นน้ำที่ไหลมาสู่วังมัจฉาจะต้องปลอดสารเคมีจึงจะรักษาพันธุกรรมปลาพื้นบ้านไว้ได้ เช่น ปลามัด ปลาเพลง ซึ่งเป็นปลาที่อ่อนแอต่อสารเคมีอย่างมากเพราะเป็นปลาน้ำไหล และปลาอีกประเภทคือปลาที่อาศัยอยู่ในโคลน เพราะสารเคมีประเภทดูดซึมจะจมอยู่ในขี้ตมทำให้ปลาเหล่านี้ตาย

ในระยะแรกมีสมาชิกที่เห็นด้วยไม่มาก แต่กระบวนการกลุ่มทำให้สมาชิกเห็นความสำคัญร่วมกันถึงคุณค่าของพันธุกรรมปลา พื้นบ้านและเห็นว่าสารเคมีเกษตรเป็นปัญหาหนึ่งในการทำลายพันธุกรรมปลาพื้น บ้าน รวมทั้งเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศวังมัจฉาคือมีปลาอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือกันทั้งชุมชน

วังมัจฉาในพื้นที่ลุ่มน้ำหลังสวนตอนบนมีการประกาศไปแล้ว 4 แห่ง แต่ละแห่งมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 2-3 กิโลเมตร รวมกันแล้วมีพื้นที่ตามความยาวของสายน้ำประมาณ 10 กิโลเมตร

วังมัจฉาถือได้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมของชุมชนในการออกประกาศของ อบต.และมอบให้ชุมชนดูแลโดยมีคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนหมู่บ้าน ขั้นตอนของการออกประกาศ เริ่มต้นจากการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น พิจารณาจัดปรับ และจัดเวทีให้การศึกษา สาระสำคัญของประกาศมีดังนี้

1. ห้ามจับสัตว์น้ำในเขตของประกาศ

2. ห้ามใช้สารเคมีในช่วงฝนตก

3. ห้ามอาบน้ำในแหล่งน้ำโดยใช้เครื่องปรุงแต่ง

4. ห้ามตัดฟันต้นไม้บริเวณวังมัจฉา

การทำงานประเด็นสารเคมีการเกษตรของเครือข่ายฯ พัฒนามากขึ้นเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี 30 พฤษภาคม พ.ศ.2548 เครือข่ายฯ ได้นำมติ ครม. มาร่วมกันวิเคราะห์และสามารถนำมาปรับใช้เป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชน เพราะถือว่ามติ ครม. เป็นกฎหมายลักษณะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการประกาศขยายวังมังฉาเพิ่มขึ้นอีก 2 หมู่บ้าน รวมทั้งต้อง

การแจ้งคณะกรรมการชุมชนเมื่อมีการใช้สารเคมี และหากแปลงใดที่มีอาณาเขตติดกับแหล่งน้ำ หากมีการใช้สารฯให้เว้นระยะห่างจากแนวสายน้ำอย่างน้อย 5 เมตร

จากงานวิจัยสู่มาตรการการ ลด ละ เลิก สารเคมีในแปลงเกษตร

ตั้งแต่ ปี 2543 เป็นต้นมานอกเหนือการพัฒนาแปลงรูปธรรมเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชน ได้ มีงานวิจัยหลายเรื่องถูกทำขึ้นและใช้เป็นแนวทางการทำงานเครือข่ายฯ เช่น งานวิจัยที่เปรียบเทียบเกษตรกรรมยั่งยืนกับเกษตรเชิงเดี่ยว งานวิจัยพืชพื้นบ้านที่เป็นยาและอาหาร งานวิจัยเชิงปฏิบัติการการเลี้ยงกบฑูต ปลามัด การเพาะพันธุ์ปลาพื้นบ้าน ฯลฯ

ผลจากการวิจัยโดยเฉพาะการเลี้ยงกบฑูต ปลามัดนั้นพบว่าไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้สำเร็จ แต่กบฑูตและปลามัดจะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาดเท่านั้น จากข้อค้นพบดังกล่าว ชุมชนจึงนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรการในการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและให้ความสำคัญต่อการปลูกพืชพื้นบ้านหลากหลายชนิดทดแทนพืชเชิงเดี่ยว

ปัญหาอุปสรรค

– อบต.ไม่มีทรัพยากรโดยเฉพาะงบประมาณในการสนับสนุน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ อบต.จึงไม่มีรายได้ที่จะสามารถจัดเก็บได้ในพื้นที่ ต้องรองบสนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีโครงการมาให้ด้วย

– สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ทำให้มีปัญหาการจราจรระหว่างกัน

– การจัดการการเข้ามาใช้ประโยชน์ของคนภายนอกเป็นเรื่องยากเพราะประกาศของชุมชนนั้นเป็นเพียงข้อตกร่วมที่ใช้ได้เฉพาะสมาชิกใน อบต.จึงต้องมีบทบาทอย่างสำคัญที่นำข้อตกลงของชุมชนมาใช้บังคับในทางกฎหมาย

บทความแนะนำ