กรณีศึกษาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย
1.เกษตรกรรมยั่งยืน : เกษตรกรรมแห่งการพึ่งตนเอง
การปรับเปลี่ยนวิธีคิด แบบแผนการผลิตและวิถีชีวิตเป็นฐานชีวิตของการพึ่งตนเอง การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรมจากเกษตรกรรมเคมี สู่เกษตรกรรมยั่งยืน มีความหมายมากกว่าการผลิตจากเคมีสู่การไม่ใช้สารเคมี แต่หมายถึงพึ่งตนเองในครอบครัว และชุมชน อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นแนวคิดแห่งการพึ่งตนเองเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ได้ก่อรูปขึ้นมาลำพัง หรือพัมนาขึ้นมาเองลอยๆ แต่มีพัฒนาการที่เกิดจากปัญหาที่เกษตรกรรายย่อยค้นพบว่าเกษตรกรรมกระแสหลัก ซึ่งเป็นระบบเกษตรที่เน้นประสิทธิภาพของผลผลิต นำมาซึ่งความยากจน และการพึ่งพิงตนเองไม่ได้ การพึ่งตนเองนั้น ถือได้ว่าเป็นระบบความคิดของชุมชน ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต การทำการผลิตและการกำหนดวิถีเศรษฐกิจของชุมชนในสังคมไทยที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่องเกษตรกรรมยั่งยืนจึงมีพัฒนามาจาก 2 ส่วนสำคัญ ที่มีลักษณะ สัมพัทธต่อกัน และมีลักษณะเป็นพลวัต มิได้หยุดนิ่งตายตัวแต่กลับมีการเคลื่อนไหวมีพัฒนาการตลอดเวลา มิใช่การกลับสู่อดีต แต่เป็นพัฒนาการที่มีมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกครอบครัวและชุมชน และเป็นพัฒนาการที่ยืนบนรากฐานทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์จิตสำนึก ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรไทย
พัฒนาการของแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนในส่วนแรก เป็นพัฒนาการปฏิเสธและตอบโต้เกษตรกระแสหลักที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อขาย และส่งออกแต่เพียงอย่างเดียวระบบการผลิตเช่นนี้ ทำให้มีผลผลิตเพียงอย่างเดียวในไร่นาออกมาจำหน่าย เนื่องจากการพัฒนาระบบเกษตรกระแสหลักเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และต้องซื้อทุกอย่างเข้ามาในครอบครัว แม้กระทั่งอาหารที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพของมนุษย์ทุกคน อีกทั้งยังต้องพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากภายนอก เนื่องจากการพัฒนาระบบเกษตรกระแส มุ่งใช้เทคโนโลยีที่ไม่ได้เป็นการคิดค้นจากภายในชุมชน แต่เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นจากภายนอก และไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ทำให้เกษตรกรต้องซื้อหาวิทยากรสมัยใหม่เหล่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ก่อให้เกิดภาวะหนี้สินเป็นปัญหาตามมา เนื่องจากเกษตรกรต้องลงทุนสูง และมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน (ชนวน รัตนสราหะ 2535 : 29-34) ทั้งภูมิปัญญาและความรู้ที่เคยมีในการผลิตได้ถูกทำให้พึ่งพากับภูมิปัญญาภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว อันนำมาซึ่งความไม่ภาคภูมิใจ และความรู้สึกไร้ศักดิ์ศรีในอาชีพของเกษตรกร (ประภาส ปิ่นตบแต่งและคณะ 2546 : 109)
พัฒนาการของแนวคิดในส่วนที่สองนั้น เป็นพัฒนาการบนรากฐานเศรษฐกิจของชุมชน ชุมชนชนบทไทยดำรงอยู่ด้วยระบบเศรษฐกิจชุมชนซึ่งมีปรัชญาพื้นฐานที่มีการพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันเน้นการเกื้อกูลแบ่งปันและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน (เสรี ลีลาลัย 2545 :)ปรัชญาพื้นฐานนี้มีที่มาจากหลักการทางพุทธศาสนา ที่เน้นการพึ่งตนเอง ซึ่งหมายถึงความเข้มแข็ง ความยั่งยืน ความเป็นอิสระ การมีภูมิคุ้มกัน การคำนึงถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรม (ประเวศ วะสี อ้างใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 2544 : 51) การดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง อยู่บนฐานของธรรมชาติ โลกทัศน์ ระบบคุณค่า และวัฒนธรรมประเพณี จึงเป็นเรื่องราวที่อิงกับความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบการผลิตและการบริโภคจะเป็นระบบที่สอดคล้องกันไปกับการรักษาดุลย์ของธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ที่จำเป็นต้องช่วยเหลือกันในระบบการผลิตและแบ่งปันกันในการบริโภค ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นการเน้นการผลิตที่ตอบสนองต่อการบริโภคภายในเป็นหลัก ซึ่งในบางกรณีก็ถือเป็นกระบวนการทางเศรษกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (อภิชัย พันธเสน 2544)
ที่มา : หนังสือเศรษฐกิจแห่งความสุขและการแบ่งปันว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนและชุมชน หัวข้อเกษตรกรรมยั่งยืน การฟื้นฟูเศรษฐกิจพึ่งตนเอง : กรณีศึกษาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย เขียนโดย คุณสุภา ใยเมือง ประธานมูลนิธิเกาตรกรรมยั่งยืน(ประเทสไทย)