กรณีศึกษาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย
3. องค์ประกอบหลากหลาย นำสู่ระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง
การสร้างระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองของเกษตรนั้น มีองค์ประกอบของที่ต้องพิจารณาควบคู่กับการพัฒนาระบบเกาตรยั่งยืนที่สร้างอาหารและรายได้ในแปลงเกษตรของครอบครัว คือ ทรัพยากรสาธารณะ และชุมชน
3.1 การผลิตและการจัดการทัพยากรสาธารณะของชุมชน
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นฐานในการผลิตที่สำคัญ นำมาซึ่งความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำของดิน และอาหารที่อยู่ในป่า ในหลายภูมินิเวศน์ โดยเฉพาะภูมินิเวศน์ที่มีป่าชุมชน ป่าหัวไร่ปลายนา เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ภาคใต้ ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง สายบุรีหรือมหาสารคาม ฯลฯ เป็นภูมินิเวศน์ที่ต้องอาศัยป่า และน้ำจากดอยสูง เพื่อการผลิตยังชีพ และเป็นรายได้ให้ครอบครัว ป่า เป็นแหล่งในการเลี้ยงสัตว์ และแหล่งอาหารสำคัญ ดังเช่นบ้านลาดหินใน จ.เชียงราย ซึ่งชุมชนมีการจัดการทรัพยากร และการผลิตอย่างยั่งยืนที่ทำให้คนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ในขณะที่รักษาป่าไปด้วย ความอุดมสมบูรณ์ของป่านำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรในระดับครอบครัว เช่นที่มหาสารคาม (สมยศ ทุ่งหว้าและคณะ : 2547 หน้า 130) เช่นเดียวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งซึ่งเมื่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรกลับมา ก็เรียกผู้คนฝนชุมชนให้กลับมาอยู่อย่างมีความสุขได้
3.2 การผลิต การแปรรูป การตลาด และระบบบริโภคนิยม
แบบแผนการผลิตที่ปรับเปลี่ยน ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในระดับครอบครัว โดยผ่านการบริโภค ทั้งโดยครอบครัวที่เป็นเจ้าของการผลิตและเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้อง การคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวจึงเป็นการคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผ่านระบบตลาด (ชลิตา : 2547 หน้า 89) อย่างไรก็ตามการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ได้ผลิตเพื่อบริโภคอย่างเดียว แต่มีการจำหน่ายผลผลิตสู่ภายนอก ทั้งในระดับชุมชน และภายนอกชุมชน รวมทั้งไม่ได้จำกัดเฉพาะการขายผลผลิตสดแต่รวมถึงการแปรรูป และมีความสัมพันธ์กับการตลาดที่เกาตรกรรมยั่งยืนมีกรอบแนวคิดที่จะสร้างทางเลือกในด้านการตลาด โดยมุ่งมั่นเน้นไปที่ตลาดของชุมชนเป็นหลัก ตลาดในลักษณะนี้ จะมีหลายระดับ ระดับพื้นฐานคือในชุมชนหมู่บ้านของตนเองบางภูมินิเวศน์ขยับไปทำตลาดในระดับอำเภอ จังหวัด ในกรณีของภูมินิเวศน์เชียงใหม่ ลำพูน มีบทเรียนการทำงานด้านการตลาดโดยการทำงานกับผู้บริโภคในเมือง งานด้านนี้เกษตรกรดำเนินการมาก่อนมีโครงการนำร่อง แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการยกระดับในเชิงการผลิตและการทำงานกับผู้บริโภค โดยเข้าไปทำงานกับครูและนักเรียนในโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมี และการมีอาหารที่ปลอดภัยในการบริโภค ตลาดนัดอิ่มบุญของกลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเงินหมุนเวียนวันละ 30,000 – 40,000 บาท จัดตลาดนัดสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพุธและวันเสาร์ ความคิดของตลาดของเกษตรกรในกลุ่มนี้คือ การมองความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของผู้ผลิต และผู้บริโภคมิใช่เป็นความสัมพันธ์ในแบบผู้ซื้อและผู้ผลิตวึ่งพัฒนาตนเองเป็นผู้ขายด้วยกรณีนี้ แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ความต้องการ การเข้าใจข้อจำกัดของกันและกันซึ่งในรูปแบบของตลาดแบบนี้ ทำให้เกษตรกรรู้สึกว่าตนเองมีเพื่อมากขึ้นกลุ่มเกษตรกรในภูมินิเวศน์นี้อย่าทำตลาดกลาง ซึ่งเน้นว่า “เป็นตลาดความคิด” ที่ไม่ใช่เพียงการซื้อขายผลผลิตอย่างเดียวเช่นตลาดทั่วไป
3.3 องค์กรชุมชน
การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนต้องอยู่บนฐานความเข้มแข็งองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าระบบเกษตรกรรมจะเป็นความรับผิดชอบในระดับครอบครัวแตาการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน พึ่งพิงกันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ในบางพื้นที่ มีการแลก เปลี่ยนแรงงานระหว่างกันในชุมชน มีการประชุมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารและ ตัดสินใจร่วมกันในการกำหนดทิศทางของกลุ่ม ที่จะสร้างการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนต้องการกำลังใจ และความรู้ในการปรับเปลี่ยนระบบ รวมทั้งการสนับสนุนของระบบกลุ่มทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด
3.4 ระบบการเงินและกองทุนของชุมชน
รูปแบบของกองทุนชุมชนที่เป็นรูปแบบพื้นฐานคือกลุ่มออมทรัพย์ อาจกล่าวได้ว่า ในทุกถูมินิเวศน์มีกลุ่มออมทรัพย์ หรือกองทุนของชุมชน ส่วนหนึ่งนั้นได้จากการหมุนเวียนเงินกู้ยืมในโครงการนำร่องฯ และพัฒนาการกู้ยืมเป็นระบบการเงินที่ใช้กันในหมู่สมาชิก ทั้งในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้าน และระดับถูมินิเวศน์ ซึ่งในหลายพื้นที่มีความลงตัวแล้วกับบทบาท และระเบียบของกองทุน แต่ในอีกหลายพื้นที่มีการปรับ อย่างไรก็ตาม เงินทุนเหล่านี้ จะได้ถูกหมุนเวียนกลับมา และขยายสมาชิกไปมากขึ้น
3.5 ระบบความรู้ และการพัฒนาภูมิปัญญาของเกษตรกรในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำให้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้รับการพัฒนากระทั่งสามารถดำเนินการไปสู่การสร้างการพึ่งตนเอง จึงเป็นความรู้ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตในไร่นา พัฒนาระบบเกษตรกรรมให้เกื้อหนุนสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านั้น รวมทั้งสามารถพัฒนาภูมิปัญญาของตนเองเพื่อให้ได้รับการยกระดับ และปรับประยุกต์การพัฒนาระบบเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน
กระบวนการสร้างความรู้ของเกษตรกรและชุมชนนั้น เป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม มิใช่กระบวนการที่มีบุคคลภายนอกไปหยิบยื่นให้แต่เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยกำหนดจากปัญหาความต้องการของเกษตรกรและชุมชนเป็นหลักมีกระบวนการในการศึกษา ทดลองปฏิบัติ และสรุปบทเรียน เพื่อยกระดับความรู้นั้นได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเกษตรกรรมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชนในการเรียนรู้ จะทำให้การพัฒนาระบบเกษตรกรมยั่งยืนสามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและชุมชนชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ ผ่านระบบการพัฒนาความรู้ที่ไม่แยกส่วน และมีขั้นตอนของการพัฒนาความรู้ การทดลองปฏิบัติจริงที่จะนำมาสู่บทสรุปของความรู้ในแต่ละเรื่อง ภายใต้กระบวนทัศน์แห่งการพึ่งพาตนเอง การสร้างอิสระ และศักดิ์ศรีของชีวิตเกษตรกรความรู้ที่เกิดขึ้นของเกษตรกรจพทำให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจ และเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นไม่ดูถูกตนเองว่าเป็นผู้ไม่มีความรู้ในสังคมความเชื่อมั่นเหล่านี้จะนำไปสู่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเองซึ่งเป็นวิถีที่ทวนกระแสในปัจจุบัน วิถีทวนกระแสดังกล่าวต้องการความมุ่งมั่น ความกล้าหาญที่จะฝ่าฟัน และความรู้ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ
ที่มา : หนังสือเศรษฐกิจแห่งความสุขและการแบ่งปันว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนและชุมชน หัวข้อเกษตรกรรมยั่งยืน การฟื้นฟูเศรษฐกิจพึ่งตนเอง : กรณีศึกษาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย เขียนโดย คุณสุภา ใยเมือง ประธานมูลนิธิเกาตรกรรมยั่งยืน(ประเทสไทย)