โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        รศ.ดร.ประภาส นำเสนอให้เห็นผลกระทบโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจในช่วงเกิดวิกฤตโควิดระหว่างปี 2563-2564 จำนวน 2 ครั้ง โดยปี 2563 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17-26 พฤษภาคม 2563 ใช้แบบสำรวจ 524 ชุด 9 จังหวัด 4 ภูมิภาค ซึ่งเป็นช่วงใช้มาตรการล็อคดาวน์และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้มีการเก็บข้อมูลอีกครั้งจำนวน 1,000 ชุดใน 10 ชุมชนทั้ง 4 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2564 กระบวนการเก็บข้อมูลมีการใช้แบบสำรวจ การจัดกลุ่มเสวนา การสัมภาษณ์เจาะลึกและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับความสามารถของเกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงสวัสดิการและนโยบายที่เกี่ยวข้องของรัฐ จากการศึกษาวิจัยชาวนากับความเปลี่ยนแปลง : สำรวจองค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจข้าวและการปรับตัวของชาวนาไทย เพื่อให้เห็นสถานการณ์ภาพรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น

        ซึ่งข้อมูลการสำรวจในปี 2563 จากจำนวน 524 ชุด พบว่าร้อยละ 30 ของสถานะครัวเรือนเกษตรกรมีสมาชิกที่ออกไปทำมาหากินต่างถิ่นอย่างถาวรจำนวน 1 คน และร้อยละ 9 ที่ออกจากครัวเรือนไปจำนวน 2 คน และร้อยละ 5.5 ที่ออกไปมากกว่า 3 คนต่อครัวเรือน ในขณะเดียวกันพบว่าเกษตรกรรายย่อยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และต้องเช่าที่ดินเพื่อทำนา โดยมีการเช่าที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนเฉลี่ย 6.4 ไร่ต่อครัวเรือนถึงร้อยละ 35.3 และใช้ที่ดินโดยไม่คิดค่าเช่าของญาติหรือคนรู้จักเฉลี่ย 2.35 ไร่ต่อครัวเรือนจำนวนร้อยละ 19.9 ซึ่งแสดงให้เห็นครัวเรือนเกษตรกรเกินครึ่งที่ได้มีการเก็บข้อมูลมีที่ดินไม่เพียงพอในการทำเกษตรกรรม ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพและรายได้ของเกษตรกรรายย่อย และทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว ทำกิจกรรมที่หลากหลายทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตเสริมมากขึ้น จึงพบว่า การทำนาไม่ได้เป็นรายได้หลักของครัวเรือนชาวนา แต่ชาวนามีรายได้อื่นนอกจากขายข้าวถึงร้อยละ 50 ที่สำคัญเป็นรายได้ที่เกิดจากนอกภาคเกษตรถึงร้อยละ 57.8 ซึ่งก็คือสมาชิกในครัวเรือนที่ได้ออกไปทำมาหากินต่างถิ่น โดยมีอาชีพเป็นลูกจ้างพนักงานเอกชนและรับจ้างรายวัน ทำงานบ้านหรืองานบริการ แล้วส่งเงินกลับมาบ้าน โดยก่อนวิกฤตโควิดสามารถส่งเงินกลับบ้านเฉลี่ย 5,252 บาทต่อเดือน แต่ช่วงวิกฤตโควิดในปี 2563 ลดลงเหลือ 2,571 บาทต่อเดือน หรือลดลงไปเกือบร้อยละ 50 เนื่องจากการลดลงของการจ้างงานหรือลดเงินเดือนของพนักงาน รวมทั้งการถูกปลดจากงาน

ภาคเกษตรเผชิญวิกฤตมากกว่าโควิด

        สถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบความเป็นอยู่ในวิถีเกษตรกรรายย่อยที่ยากลำบากมากขึ้น ในภาวะปกติเกษตรกรได้เผชิญปัญหาหลากหลายสั่งสมมานานอย่างเช่นราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำลง ตัวอย่างใน ชุมชนลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐฒ ราคาข้าวเปลือกอย่างข้าวหอมปทุมช่วงปลายปี 2563 อยู่ระหว่าง 8,000-10,000 บาทต่อตัน และตกต่ำเหลือ 5,000-6,000 บาทต่อตันในช่วงกลางปี 2564 ถึงแม้ชุมชนได้มีการปรับตัวหันมาปลูกบัวขายดอก ปลูกผักบุ้งทดแทนการทำนา แต่ช่วงโควิดดอกบัวและผักบุ้งขายไม่ได้เนื่องจากมาตรการปิดตลาดที่พบมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด

        ดังนั้น ช่วงวิกฤตโควิดหลายคนที่ได้ออกไปทำมาหากินภายนอก จำต้องกลับมาตั้งหลักที่บ้านตนเอง ผลการสำรวจ 524 ชุดในช่วงปี 2563 นั้นแสดงให้เห็นว่า มีสมาชิกทยอยกลับบ้านจำนวน 30 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 5.7 ซึ่งเป็นการเกิดวิกฤตโควิดในช่วงแรก และสมาชิกในส่วนนี้รอและมีความหวังกลับไปทำงานเมื่อสถานที่ทำงานเปิดตามปกติถึงร้อยละ 56.7 และรอโอกาสให้พ้นช่วงวิกฤตแล้วกลับไปทำงานร้อยละ 10 ในขณะที่ร้อยละ 16.7 มองหาอาชีพใหม่ในชุมชนหรือใกล้เคียงโดยอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด และร้อยละ 10 ที่อยากกลับมาทำการเกษตรหรือค้าขายในครัวเรือนของตน แต่อีกร้อยละ 6.6 ที่ไม่แน่ใจหรือไม่ตัดสินใจว่าจะทำอะไร อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในระลอก 3 และ 4 ที่กินเวลานานทำให้ความหวังที่จะกลับไปทำงานเดิมลดลง จึงเห็นสถานการณ์คนกลับคืนถิ่นและตัดสินใจที่จะอยู่บ้านอย่างถาวรมากขึ้น และนี่เป็นความยากลำบากในการเลือกที่จะดำรงชีวิตครั้งสำคัญ

นโยบายและมาตรการความช่วยเหลือของรัฐก็ไม่หนุนเสริมช่วยเหลือเกษตรกร

        สถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบความเป็นอยู่ในวิถีเกษตรกรรายย่อยที่ยากลำบากมากขึ้น ในขณะที่มาตรการความช่วยเหลือของรัฐเป็นไปในลักษณะ symbolic policy หรือเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในความเป็นชาติหรือสถาบัน เช่น เงินช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน การให้เงินเยียวยาเกษตรกร 17,000 บาทต่อครัวเรือน การให้เกษตรกรกู้เงินฉุกเฉิน รวมไปถึงการอนุมัติโครงการโคก หนอง นาโมเดล และเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ซึ่งลักษณะกิจกรรมเหล่านี้ ยังเน้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่าย แต่ไม่ได้หนุนเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

        ตรงกันกับงานศึกษาของ Attavanich และ Chantarat ที่ได้วิเคราะห์ว่านโยบายและมาตรภาครัฐในการสนับสนุนเกษตรกรนั้น เป็นการช่วยเกษตรกรเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่หนุนเสริมการปรับตัวของเกษตรกร และเป็นนโยบายที่เน้นให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งนโยบายและมาตรการเหล่านี้เป็นการลดแรงจูงใจในการปรับโครงสร้างการผลิต แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงในการผลิตให้แก่ชาวนาและเกษตรกรรายย่อย

        ซึ่งไม่ต่างจากนโยบายและมาตรการที่ผ่านมา ไม่ว่านโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร มาตรการลดต้นทุนการผลิต นโยบายจำนำยุ้งฉาง นโยบายนาแปลงใหญ่ นโยบายปลูกพืชหลังนา นโยบายลดพื้นที่ทำนา และนโยบายประกันภัยข้าว ซึ่งจะพบรายละเอียดหรือเงื่อนไขต่างๆ มากมายที่มีปัญหาไม่สอดคล้องและแก้ปัญหาให้ชาวนารายย่อยอย่างแท้จริง

คำถามและข้อสังเกตวิกฤตโควิดต่อเกษตรกรรายย่อย

        วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม สำหรับภาคเกษตรกรรมแล้วครัวเรือนที่มีสมาชิกอพยพไปใช้แรงงานต่างเมืองมีแนวโน้มกลับคืนถิ่นมากขึ้น ในขณะที่ภาคเกษตรเองยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าความผกผันของราคาผลผลิต สิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยกรธรรมชาติ กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน รวมถึงสวัสดิการและนโยบายของรัฐ ดังนั้นจึงมีคำถามและข้อสังเกตในแง่การฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมกับนโยบายที่จะมารองรับและส่งเสริมต่อเกษตรกรรายย่อยในภาวะวิกฤตโควิด อย่างเช่น

  • สมาชิกครัวเรือนเกษตรกรที่อพยพกลับคืนถิ่นมานั้นมีแนวโน้มในการกลับมาอยู่และอาศัยอย่างถาวรจะมาประกอบอาชีพเกษตรกรรรมหรือไม่ ?
  • การกลับคืนถิ่นและตัดสินใจทำเกษตร ซึ่งอาจห่างเหินการทำเกษตร หรือขาดทักษะการทำเกษตรเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคพร้อมๆ กับทำความเข้าใจสถานการณ์ภาคเกษตรปัจจุบันที่มีความผกผันตลอดเวลาโดยเฉพาะราคาผลผลิต ถึงแม้เกษตรกรได้ปรับตัวโดยมีการผลิตที่หลากหลาย แต่สถานการณ์โควิดมีมาตรการปิดตลาดส่งผลให้ผลผลิตไม่มีแหล่งขาย
  • คนคืนถิ่นที่อยู่ในสถานการณ์ขาดความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินทำกินหากปรากฏว่าผืนดินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ไม่มั่นคงหรือมีสิทธิในที่ดินทำกิน หรือปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตและความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และจะตั้งรับต่อการดำเนินวิถีชีวิตอย่างไร ?
  • นโยบายและมาตรการรัฐ รวมถึงการใช้งบประมาณที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์คนคืนถิ่น ในการสร้างประสิทธิภาพความเข้มแข็ง สร้างรายได้ในอาชีพ และรองรับการขับเคลื่อนของภาคเกษตรภายใต้ฟื้นฟูวิฤตโควิด – 19 ที่เกิดขึ้น

บทความแนะนำ

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ โดย วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)