ตอนที่ 5 เปิดผลสำรวจ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง : มองเมืองและคนจนมุมใหม่
ผลการสำรวจ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง : มองเมืองและคนจนมุมใหม่ โดยคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นนักวิชาการจาก 6 มหาวิทยาลัย คือ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าชุดโครงการ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการสำรวจผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการออกมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดของรัฐ เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการหาเลี้ยงชีพของคนจนเมืองจำนวนมากที่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและไม่มีหลักประกันความมั่นคง
การสำรวจแบบเร่งด่วนเพื่อต้องการทราบสถานการณ์ของคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ตลอดจนเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรคนจนเมือง เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนแออัดในพื้นที่คลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ รวม 18 จังหวัด ใช้เวลาในการสำรวจ 4 วัน คือ วันที่ 9-12 เมษายน 2563 เก็บแบบสำรวจทั้งหมด 507 ชุด ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบอาชีพต่างๆ เช่น ค้าขาย หาบเร่ รับจ้างรายวัน รับจ้างรายเดือนแต่ไม่มีประกันสังคม ขับรถรับจ้าง เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว.
ข้อค้นพบสำคัญ
จากการสำรวจคนจนเมืองนักวิจัยแบ่งประเด็นนำเสนอผลการสำรวจเป็น 3 ประเด็นหลักคือ
1.สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 พบว่า คนจนเมืองเกือบ ร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีการดูแลตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน โดยแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพง ด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า บางครัวเรือนมีการปรับตัวมาเย็บหน้ากากอนามัยขายด้วย ข้อเท็จจริงนี้หักล้างความเข้าใจที่ว่า คนจนเป็นผู้ละเลยไม่ดูแลตนเองและอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ความเข้าใจที่ว่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ส่วนการพกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้านนั้น ร้อยละ 26.28 ไม่พกเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์เมื่อออกจากบ้านทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า และจำนวนมากถึงร้อยละ 43.79 ที่ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านหากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและต้องกักตนเอง
2.ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจากการสำรวจชี้ชัดว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจอย่างมาก เช่น ไม่สามารถประกอบอาชีพและหารายได้ตามปกติ ทำให้รายได้ลดลง โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากถึงร้อยละ 60.24 รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ซึ่งหากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ พบว่าคนจนเมืองมีรายได้ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 70.84
จากรายได้ที่ลดลงทำให้คนจนเมืองต่างประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบ หนี้รถจักรยานยนต์ หนี้รถปิคอัพ ถึงร้อยละ 54.41 และมีถึงร้อยละ 29.83 ที่ไม่มีรายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปที่ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน จำนวนไม่น้อยต้องกู้หนี้ยืมสิน ต้องจำนำข้าวของ ไปจนถึงไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้าน
ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับตัวทำงานที่บ้านหรือ Work From Home นั้น คนจนเมืองที่ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 79 ตอบว่า อาชีพที่ตัวเองทำนั้นไม่สามารถปรับตัวทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงาน โดยใช้เครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้
3.การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ
คนจนเมืองที่ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง หรือ ร้อยละ 66.67 ที่พยายามลงทะเบียนโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ให้คนละ 5,000 บาท และ ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่ลงทะเบียนสำเร็จร้อยละ 51.87 แต่หากคิดเฉพาะจำนวนคนที่ลงทะเบียนสำเร็จ ณ วันที่ 13 เมษายน 2563 มีเพียงร้อยละ 21.29 เท่านั้น ที่ได้รับการอนุมัติว่าผ่านเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่อีกร้อยละ 65.78 ยังอยู่ระหว่างรอผล ข้อค้นพบนี้สะท้อนว่า มาตรการเยียวยาของรัฐมีความล่าช้าไม่ทันกับความเดือดร้อนของประชาชน
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 44.40 เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการบรรเทาหนี้สินที่คนจนเมืองมีกับสถาบันการเงิน ขณะที่อีกจำนวนร้อยละ 30.11 ที่ไม่ได้ประโยชน์ เพราะหนี้สินที่มีอยู่เป็นหนี้นอกระบบ ผลการสำรวจสะท้อนว่า การดำเนินมาตรการใด ๆ ภาครัฐต้องคำนึงถึงคนจนที่ไม่มีหลักประกันและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ ซึ่งการจัดสรรเงินทุนให้องค์กรชุมชนเป็นผู้ดำเนินการจะทำให้คนจนเมืองเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายกว่า