คนคืนถิ่น: กลับใต้ร่วมสร้างระบบเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ โดย คุณกำราบ พานทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
คนคืนถิ่นหรือคนที่กลับบ้านของภาคใต้มีจุดวิกฤติอยู่ 3 ช่วงเวลา โดยเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ได้มีการเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาเช่นกัน คือ ช่วงแรกเป็นช่วงก่อนวิกฤติโควิดที่ทางเครือข่ายได้ร่วมกันหารือเพื่อเตรียมการหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเพื่อมาสานต่องานเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ ช่วงที่สองในช่วงปลายปี 2562-2563 ถือเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติโควิดในช่วงแรกนั้นทางเครือข่ายที่มีแผนเตรียมรับมือกับคนรุ่นใหม่อยู่แล้วนั้นได้ทำการสำรวจในแต่ละจังหวัดว่ามีพี่น้องที่กลับบ้านจากการตกงานด้วยผลกระทบโควิด ซึ่งในขณะนั้นค้นพบว่ามีสัดส่วนคนกลับบ้านเป็นบางส่วน โดยข้อมูลสถิติการกลับบ้านของคนคืนถิ่นเบื้องต้นนั้น สามารถตรวจสอบได้จาก 2 ช่องทาง คือตรวจสอบจากผู้สูงวัย/ผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่คนเดียวจากข้อมูลสถิติของทุกจังหวัด และตรวจสอบจากไปรษณีย์ไทยว่าการทำธุรกิจได้เพิ่มขึ้นขนาดไหนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสามารถนำมาอธิบายการกลับบ้านของคนคืนถิ่นได้ระดับหนึ่ง โดยคนที่กลับบ้านที่มีต้นทุนครอบครัวทำการเกษตรก็กลับมาช่วยครอบครัวในช่วงที่ตกงาน ส่วนในช่วงที่สามคือช่วงต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบันพบว่าเป็นช่วงที่วิกฤติสำหรับคนในพื้นที่มากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนที่ทำงานในภาคบริการที่มีสัดส่วนคนกลับบ้านมากที่สุด เนื่องจากภาคใต้มีภาคบริการที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งในโซนอันดามัน โซนอ่าวไทย และโซนสามจังหวัดภาคใต้ จากการสำรวจพบว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโซนอันดามัน โดยเฉพาะจังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่ โดยกลุ่มคนที่ตกงานส่วนใหญ่ถูกบอกเลิกจ้างจากสถานประกอบการโรงแรม บริษัทก่อสร้าง บริษัททัวร์ หรือในกลุ่มงานบริการที่เกี่ยวข้องกับในภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดที่ส่วนใหญ่เลิกหรือพักกิจการเนื่องจากไม่สามารถไปต่อได้ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในโซนอ่าวไทยโดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงนั้น แม้ว่าไม่ได้มีกิจการที่เป็นแหล่งการท่องเที่ยวดังเช่นจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกันเนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ก็กลับมาเหมือนกันเนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ปิดกิจการ
คนคืนถิ่นมีการปรับตัวอย่างไร?
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าคนที่กลับบ้านส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ประกอบกับข้อมูลการกลับบ้านของวัยทำงานนั้นพบว่า หากครอบครัวใดที่มีต้นทุนที่ดินทำกินโดยเฉพาะสวนยางนั้น คนกลับบ้านกลุ่มนี้ก็จะกลับมาสานต่อพ่อแม่ทำสวนยาง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนที่ต่างจากการจัดการของรุ่นพ่อแม่โดยมีการรวมกลุ่มทำงานร่วมกัน ดังตัวอย่างคนคืนถิ่นในจังหวัดพังงา พัทลุง สตูล และสงขลา ดังนี้
- กลุ่มคนกลับบ้านในจังหวัดพังงา พบว่า กลุ่มคนดังกล่าวได้มีการรวมตัวกันทำกิจการที่เรียกว่า Renovate คือการปรับปรุงกิจการเดิมของพ่อแม่ที่มีอยู่เดิมมาเริ่มปรับเป็นกิจการใหม่ซึ่งคนกลุ่มนี้มีการรวมตัวผ่านระบบออนไลน์เพื่อใช้ในการสื่อสารเรียนรู้ร่วมกัน ควบคู่กับการยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น กลุ่มคนที่รวมตัวกันนี้เป็นการดำเนินการลงทุนร่วมกันโดยเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลักโดยไม่ได้รอการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ดังที่กล่าวว่ารูปแบบการทำเกษตรของคนที่กลับบ้านเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการเดิมของพ่อแม่โดยเน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดมูลค่ามากที่สุด เน้นการสื่อสาร การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ และรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อจับคู่กันทำธุรกิจร่วมกัน
- กลุ่มคนกลับบ้านในจังหวัดพัทลุงได้มีการทำงานเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัย ดังเช่นมหาวิทยาลัยทักษิณที่ได้เข้าไปทำงานวิจัยและไปส่งเสริมเสริมในพื้นที่โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ทำให้คนพัทลุงส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ได้ขายข้าวสาร แต่เอาข้าวสารไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับคู่ธุรกิจได้ เช่น การนำข้าวสังข์หยดไปทำเป็นทองม้วน หรือการส่งข้าวสังข์หยดให้กับธุรกิจโรงแรมหรือร้านอาหารที่กลายเป็นแหล่งรับซื้อให้กับคนที่กลับบ้าน
- กลุ่มคนกลับบ้านในจังหวัดสตูล ที่ในขณะนี้ทางเครือข่ายได้ร่วมกับคนในพื้นที่พัฒนาโครงการผู้ประกอบการสีเขียว ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและบริษัทหุ่นไล่กากรุ๊ป (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ในการเข้ามาหนุนเสริมพื้นที่ให้ค้นหาคนที่กลับบ้าน คนที่ตกงานหรือคนที่ยังไม่มีงานทำ โดยผ่านการยกระดับการประกอบการผ่านหลักสูตรผู้ประกอบการสีเขียว โดยในช่วงปีแรกทางเครือข่ายฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) เพื่อจัดทำข้อมูลของคนกลับบ้าน/คนคืนถิ่น จากนั้นในปีที่สองได้มีการขยายผลยกระดับในการจัดการพัฒนาสังคมในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน โดยทำการค้นหาคนที่สนใจเรื่องยกระดับตนเองและเพิ่มมูลค่าในสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์โดยใช้ฐานระบบการเกษตรทางเลือกในการต่อยอดเรื่องเกษตรอัตลักษณ์ ดังนั้นจึงเรียกโครงการนี้ว่าเกษตรอัตลักษณ์สู่วิถีความยั่งยืนสตูลสีเขียว ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงการคัดเลือกผลิตภัณฑ์แล้วก็ยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์หลักในพื้นที่ซึ่งถือเป็นทิศทางในการหนุนเสริมให้กับพื้นที่ในช่วงวิกฤติโควิด และจากบทเรียนการพัฒนาเกษตรอัตลักษณ์วิถีสีเขียวทำให้เห็นว่ามีศักยภาพในการนำเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้จริง ดังนั้นการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS) ไม่มีความหมายเท่ากับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการถอดบทเรียนเรื่องการรับรองแบบมีส่วนร่วมที่สรุปกันว่าหัวใจที่สำคัญอยู่ที่การสร้างอัตลักษณ์และความมั่นใจกับผู้บริโภค
- กลุ่มคนกลับบ้านในจังหวัดสงขลา ที่พบว่ามีหลากหลายกลุ่ม/องค์กรที่พยายามเข้ามาส่งเสริมในพื้นที่แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากความยุ่งยากในเรื่องระเบียบการจัดการข้อมูล ประกอบกับคนที่ตกงานในพื้นที่สงขลาส่วนใหญ่เป็นคนจากภาคโรงงานเนื่องจากจังหวัดสงขลามีโรงงานที่เกี่ยวข้องกับประมงมาก ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงที่โควิดระบาดคนที่กลับบ้านส่วนใหญ่คือคนที่ทำงานในโรงงาน แต่การกลับมาของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อมาต่อยอดกิจการของครอบครัวนั้นไม่เหมือนกับทางจังหวัดพัทลุง สตูล แต่เป็นการขยายกิจการในแบบที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากกิจการเดิมของครอบครัวมากนัก
จากข้างต้นในภาพรวมของภาคใต้สามารถสรุปได้ว่า คนรุ่นใหม่ที่กลับมานั้นจะสามารถปรับตัวเอง เรียนรู้ได้เร็ว และสามารถขยับให้มีรายได้นั้น ต้องเป็นกลุ่มคนที่ปรับรูปแบบการทำเกษตรในรูปแบบใหม่ และมีการรวมกลุ่มเพื่อให้มีเพื่อนคู่คิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการร่วมลงทุนโดยไม่รอการสนับสนุนจากรัฐ เพราะถ้ารอการสนับสนุนจากรัฐอาจทำให้ตอนนี้ไม่สามารถทำอะไรได้
ข้อเสนอทางนโยบายและแนวทางในการสนับสนุนคนคืนถิ่น
- ด้วยภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว เช่น สวนยาง สวนกาแฟ สวนปาล์ม นั้น จะทำอย่างไรให้มีการขยับให้มีการปลูกพืชอย่างอื่นให้หลากหลายมากขึ้น อย่างเช่น สวนยางก็ให้มีการจัดการเป็นสวนยางยั่งยืน สวนปาล์มก็เป็นสวนปาล์มผสมผสาน หรือกาแฟก็เป็นกาแฟแบบผสมผสาน
- พื้นที่หนึ่งที่ทางเครือข่ายคาดหวังคือพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสร้างชุมชนใหม่ๆ แต่ภายใต้โมเดลนี้อาจยังไม่ชัดเจนว่าเป็นโมเดลแบบไหน จึงอยากเสนอโมเดลที่เป็นประสบการณ์ของจังหวัดพังงาที่ทำโมเดลได้น่าสนใจ ทั้งในรูปแบบการรวมตัว การเรียนรู้ ที่กลุ่มคนคืนถิ่นมีการหนุนเสริมระหว่างกันผ่านระบบพี่เลี้ยงที่จับคู่กันในเครือข่าย ซึ่งหากได้ลักษณะการจัดการโมเดลที่ชัดเจนก็สามารถนำมาขยายผลเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานกับคนคืนถิ่นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละภาค
อ้างอิง: เสวนาสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 3 คนคืนถิ่น: สถานการณ์ บทเรียน และแนวทางการขับเคลื่อน วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ผ่านระบบ ZOOM