โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ความรู้เรื่องระบบนิเวศภาคอีสาน

คุณสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน

ลักษณะภูมินิเวศอีสาน

         จากประสบการณ์ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนทำให้ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน มั่นใจว่า การทำเกษตรกรรมยั่งยืนต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อภูมินิเวศ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะและแตกต่างกันไปในแต่ละภูมินิเวศ ที่ทำให้รูปแบบและการจัดการด้านต่างๆ ในการทำเกษตร ไม่ว่าการจัดการน้ำ การจัดการดิน รวมไปถึงการจัดการพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์แตกต่างไปตามความเหมาะสมในแต่ละภูมินิเวศ สำหรับภาคอีสานสามารถแบ่งลักษณะภูมินิเวศออกได้ 4 ลักษณะ คือ

         1) ภูมินิเวศภู เป็นภูเขาสูงตามแนวของภาค เช่น เทือกเขาพนมดงเร็กทางทิศใต้ เทือกเขาดงพญาเย็นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เทือกเขาเพชรบูรณ์ทางทิศตะวันตกของภาค และมีเทือกเขาภูพานที่ตัดพาดส่วนบนของภาคจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ที่ทำให้เกิดแอ่งของภาคเป็น 2 แอ่ง คือ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช

         2) ภูมินิเวศโคก เป็นระบบนิเวศที่ต่อเนื่องจากภูมินิเวศภู มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอนมีลอนคลื่นสูงๆ ต่ำๆ เหมาะในการทำนาดอน หรือทำไร่ และมีป่าโคกหรือป่าเต็งรังเป็นหลัก เป็นระบบนิเวศที่มีมากที่สุดและกระจายอยู่ทุกส่วนของภาค ไม่ว่าโคกขอนแก่น โคกร้อยเอ็ด โคกยโสธร โคกสกลนคร

         3) ภูมินิเวศทุ่ง มีลักษณะเป็นพื้นราบขนาดใหญ่เหมาะกับการทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ ทุ่งที่ใหญ่ที่สุดของอีสาน คือทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ และมีทุ่งสกลนคร ทุ่งสัมฤทธิ์

         4) ภูมินิเวศทาม หรือระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ทามเป็นรอยต่อระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ มีป่าที่เรียกว่าป่าทามพอถึงฤดูฝนมีน้ำท่วมขัง เช่น ทามแม่น้ำชี ทามแม่น้ำมูล ทามแม่น้ำสงคราม

ภาพที่ 1 ลักษณะภูมินิเวศอีสาน

นิเวศย่อยในภูมินิเวศ

         แต่ละภูมินิเวศยังแบ่งเป็นหน่วยนิเวศย่อย ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และกายภาพ ไม่ว่าลักษณะดิน การไหลของน้ำ การเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ฯลฯ ที่แตกต่างกันได้อีก เช่น

         นิเวศย่อยของภูนิเวศภู ภาพที่ 2 แสดงหน่วยนิเวศย่อยของภูนิเวศภูประกอบไปด้วย ภูหลังแปซึ่งเป็นที่ราบบนภูเขา จ้ายภูหรือไหล่เขา พื้นราบ และห้วย ตัวอย่างการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในนิเวศย่อย เช่น ชุมชนบ้านหนองจาน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นเขตติดต่อกับภูกระดึงจังหวัดเลยบริเวณที่เรียกว่าจ้ายภูจะปลูกข้าวโพด ไม้ผล พื้นที่ราบจะปลูกพืชผัก หรือ ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีการปลูกกะหล่ำปลี หากจะเลี้ยงสัตว์ต้องเลือกสัตว์ที่ทนหนาวและหากินหญ้าบนภูเขาได้ ลักษณะนิเวศภูของภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินทรายจะมีซากอินทรียวัตถุจำนวนมากเหมาะแก่การทำเกษตร

ภาพที่ 2 แสดงหน่วยนิเวศย่อยภู

         การไหลของน้ำและลักษณะดินนิเวศย่อยในภูมินิเวศภู เริ่มต้นจากภูหลังแปที่เป็นต้นน้ำมีลักษณะดินเป็นดินตะกอน เป็นพื้นที่ป่าและมีการปลูกพืชเมืองหนาว จากนั้นเป็นพื้นที่รับน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำที่เรียกว่าจ้ายและซำ มีพืชพันธุ์หลากชนิดเจริญเติบโตทั้งไม้ผล พืชเมืองหนาว และปลูกข้าวไร่ ส่วนลักษณะดินนั้นจะเป็นดินผสมหินเรียกว่า ดินโทมเป็นดินเหมาะกับการปลูกไม้ผล

         นิเวศย่อยของภูมินิเวศโคก ภาพที่ 3 แสดงหน่วยนิเวศย่อยโคก ประกอบด้วย ป่าหัวนา ไร่หัวนา พื้นที่ทำนา ฝายและห้วย ตัวอย่างเช่น พื้นที่อำเภอพล อำเภอทุ่งสองห้อง ในจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ในจังหวัดมหาสารคาม พื้นที่หัวไร่ปลายนาจะเป็นป่าธรรมชาติ ถัดลงมาที่เรียกว่าไร่หัวนาจะเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ หรือทำไร่มันสำปะหลัง รองมาจึงเป็นพื้นที่ทำนา ฝายและห้วย ซึ่งพื้นที่การเกษตรของภาคอีสานส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมินิเวศโคก ที่สำคัญภูมินิเวศโคกเป็นต้นน้ำสายหลัก และห้วยต่างๆ ของอีสานไหลมาจากโคกไม่ได้มาจากภูเขา

ภาพที่ 3 หน่วยนิเวศน์ย่อยโคก

         การไหลของน้ำในนิเวศโคกเริ่มต้นจากโสก หมายถึงพื้นที่รับน้ำที่เล็กจากห้วย จากโสกก็เป็นฮ่อมซึ่งเป็นร่องน้ำจากฮ่อมเป็นห้วยแล้งไหลลงสูลำน้ำ ในบางพื้นที่ใช้ลักษณะนิเวศย่อยนี้เรียกชื่อบ้าน เช่น บ้านโสกขุมปูน อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร บ้านโสกภารา อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ส่วนลักษณะดินจะเป็นดินทราย ดินร่วมปนทราย บางส่วนเป็นดินเค็มซึ่งเป็นดินไม่อุ้มน้ำ และมีแหล่งน้ำน้อย แต่เป็นลักษณะนิเวศที่มากสุดของภาค จึงใช้ประโยชน์การทำนา อย่างไรก็ตามเวลาฝนตกในปริมาณมากจะมีหินโผล่ ซึ่งชาวนาก็ยังคงทำนา ดังคำที่ว่า “หินโผล่บ่ได้ย่าน คือเห็ดนาได้อย่างเก่า” ในบางพื้นที่ใช้ประโยชน์ปลูกมันสำปะหลังหรือปลูกอ้อย และเลี้ยงสัตว์

         นิเวศย่อยของภูมินิเวศทุ่ง ภาพที่ 4 แสดงหน่วยนิเวศย่อยทุ่ง มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะขนาบด้วยทามและป่าโคกซึ่งมีลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กทรงพุ่ม การใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่คือการทำนา เช่นทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่มีอาณากว้างขวางครอบคลุม 5 จังหวัด คือ จังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดยโสธร ในอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดมหาสารคาม ในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในเขตอำเภอพุทไธสง และจังหวัดร้อยเอ็ด ในเขตอำเภอปทุมรัตน์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิและโพนทราย โดยปกติในการทำนานั้นชาวนาจะหว่านข้าวให้เสร็จก่อนสงกรานต์เพื่อรอฝน พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่มเตี้ย เช่น สะแก หว้า ตะโก สะแบง พะยอม กระทุ่ม  ฯลฯ

ภาพที่ 4 หน่วยนิเวศย่อยทุ่ง

         การไหลของน้ำในนิเวศทุ่งจะเป็นหนอง กุด เลิง ห้วย ส่วนลักษณะดินนั้นจะเป็นดินทราย ดินร่วน ดินเค็มบางพื้นที่สามารถนำไปต้มเกลือได้ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน คือการทำนา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ที่มีลักษณะทนแล้งและทนดินเค็ม การตั้งบ้านเรือนจึงเลือกพื้นที่สูงที่น้ำไม่ท่วมเรียกว่า โคก ดอน โนน

         นิเวศย่อยของภูมินิเวศทาม ภาพที่ 5 แสดงหน่วยนิเวศย่อยทาม ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ ซึ่งจะมีป่าเรียกว่าป่าทาม เป็นระบบนิเวศในเขตลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูฝน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ตรงแอ่งกลางตามแนวลำน้ำหลัก 3 สาย คือ ลำน้ำมูล ลำน้ำชีและลำน้ำสงคราม มีนิเวศย่อย คือพื้นราบ ห้วย ดอน หนอง/บึง ดอน วังและแม่น้ำ ในส่วนที่เป็นพื้นที่ราบนั้นจะติดกับภูมินิเวศทุ่งและภูมินิเวศโคกบางส่วน ช่วงเวลาน้ำท่วมจะมีพื้นที่ดอนที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อปลูกผักและเลี้ยงสัตว์

ภาพที่ 5 หน่วยนิเวศย่อยทาม

         การไหลของน้ำในนิเวศทามจะเป็นห้วย หนอง เลิง วัง และดอน ส่วนลักษณะดินนั้นจะเป็นดินเหนียว คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาที่เรียกว่า นาทาม และปลูกผัก หากเลี้ยงสัตว์มักจะเลี้ยงวัว ควาย ให้ลอยน้ำไปกินหญ้าได้เอง

         จากนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันเหล่านี้ ทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนในแต่ละนิเวศเป็นไปตามความเหมาะสมกับนิเวศนั้นๆ ที่มีรูปแบบการผลิต การจัดการดิน น้ำ รวมไปถึงการเลือกและจัดการพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องท้าทายของชุมชนในการตั้งรับปรับตัว เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้

บทความแนะนำ