ตอนที่ 14 ปรับตัวการผลิตอย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดย คุณพูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
“หากพูดถึงเรื่องกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่เราลุกขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิตของเกษตรกร กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาจัดการกระบวนการเรียนรู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ในการผลิตข้าว พืชผักและไม้ผล ในพื้นที่ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี ที่ได้มองเห็นความสำคัญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มลุกขึ้นมาเรียนรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วนของคนในชุมชน
เรียนรู้สู่กระบวนการปรับตัว
จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ พบว่าแบบแผนของอากาศเริ่มเปลี่ยนไป ที่บางครั้งในพื้นที่ตั้งรับไม่ทันและเกิดความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกร จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กลุ่มเริ่มตระหนักและลุกขึ้นมาเรียนรู้ถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้นั้นเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบแผน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้วก็สร้างทางเลือกที่ทดลองแบบชาวบ้าน โดยศึกษาการปลูกข้าวในพื้นที่สนามชัยเขตถึงพัฒนาการการปลูกข้าวตั้งแต่ทำนาหยอด นาดำ และนาหว่านว่าการเกิดขึ้นของระบบการปลูกดังกล่าวเป็นการปรับตัวจากภูมินิเวศแบบใด และส่งผลต่อการทำนาอย่างไรบ้าง
สร้างความหลากหลายของระบบนิเวศ
การสร้างความตระหนักถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และหาทางรับมือร่วมกัน ไม่ใช่รอให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จากหลักคิดดังกล่าวกลุ่มได้คิดหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หรือให้ได้รับผลกระทบต่อเกษตรกรให้น้อยที่สุด โดยเลือกการสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ โดยซึ่งเป็นการปลูกแบบผสมผสานภายใต้เงื่อนไขการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และเพิ่มการจัดการให้มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำ รวมถึงการพัฒนาวิธีการเพาะปลูกที่มีความหลากหลายขึ้น ดังรูปแบบการผลิตของกลุ่มที่มีการปลูกข้าวเป็นหลักแล้วเสริมการปลูกพืชร่วมชนิดอื่นในแปลงเพื่อให้มีการปลูกผักหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ทำให้ระบบการจัดการในแปลงลดความเสี่ยงได้มากขึ้น เป็นพื้นที่อาหารและสร้างรายได้ต่อเนื่อง
อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เกษตรกรรมกับการเปลี่ยน ปรับ รับมือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563