โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ชุมชนโนนชัย 1 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นำโดย คุณวสันต์ ศรีดรราช สมาชิกสภาเทศบาล (อดีตประธานชุมชน) คุณพรรณา อรรคฮาต (รักษาการ)ประธานชุมชนโนนชัย 1 ให้การต้อนรับ ชี้แจงความเป็นมาและสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะชุมชนในเขตเทศบาลนครนครขอนแก่น โดย คุณมะยงค์ พรมราช ผู้ประสานงานชุมชน คุณปรียานุช ป้องภัย ผู้ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับเทศบาล และคุณทัศนีย์ วีระกันต์ รองผู้อำนวยการมมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และสมาชิกชุมชนได้ร่วมกันจัดฐานกิจกรรมเพื่อนำเสนอข้อมูลของชุมชนอย่างคึกคัก

        ชุมชนโนนชัย 1 เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและดำเนินกิจกรรมร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นมาอย่างยาวนาน เห็นความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน เนื่องจากบริบทชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมือง “การจัดการขยะ” เป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนร่วมแรงร่วมใจกัน เกิดเป็นข้อตกลงของชุมชนอย่างชัดเจน และสมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมืออย่างดี จุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนคือ การไม่จัดวางถังขยะในชุมชน ซึ่งในช่วงแรกแกนนำชุมชนต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกชุมชนกันอย่างมาก โดยสมาชิกชุมชนต้องแยกขยะกันตั้งแต่ต้นทาง (แยกก่อนนำออกมาทิ้ง) และประสานวันมารับขยะกับหน่วยงานของเทศบาลที่เป็นผู้เก็บขนออกจากชุมชน ผลที่ได้คือชุมชนสามารถลดปริมาณขยะที่ออกจากชุมชนไปกำจัดได้

        ทั้งนี้การดำเนินงานของชุมชนไม่เพียงแค่ความเข้มแข็งของแกนนำเท่านั้น ต้องอาศัยนโยบายและมาตรการต่างๆเข้ามาหนุนเสริม ร่วมทั้งภาคประชาสังคมหลายส่วนที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน ทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ บทเรียนของชุมชนโนนชัย 1 ที่สำคัญคือนโยบายกระจายอำนาจ “เทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่” ที่ทำให้ท้องถิ่นได้ดูแลตัวเองได้ ทำให้มาตรการและข้อตกลงต่างๆ เกิดจากความต้องการของชุมชนและคนในชุมชนร่วมกันผลักดันกันอย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นความรู้สึกของการเป็นเจ้าของชุมชนของประชาชนอย่างแท้จริง ภาพความเข้มแข็งของการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทาง ยังมีอีก 4 ชุมชน คือ ชุมชนบะขาม ชุมชนโนนหนองวัด 1 ชุมชนการเคหะ และชุมชนเหล่านาดี ซึ่งเป็นสมาชิกที่ร่วมกับโครงการสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มีแผนพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดอบรมการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยชุมชนเป็นผู้จัดอบรมมีเป้าหมายในการขยายการจัดการขยะต้นทางไปสู่ชุมชนอื่น

        กิจกรรมที่ต่อยอดจากการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทาง ทำให้เกิดสวัสดิการณ์ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ได้แก่ 1. ขยะสู่สุขคติ นำล็อตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัลมาจัดเป็นพวงหรีด และดอกไม้จัน ลดการใช้พวงหรีดและวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดการเกิดขยะจากงานศพ 2. กองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคนในชุมชนเรียนรู้การคัดแยกขยะ ขยะที่ขายได้จะนำมาขายเพื่อเข้ากองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการณ์ดูแลคนในชุมชนในด้านสุขภาพและลดภาระให้กับญาติเมื่อตนล่วงลับไป 3. สวนผักชุมชน เป็นพื้นที่เรียนรู้ปลูกผักในพื้นที่เมืองให้กับคนในชุมชนได้เห็นและนำไปปลูกที่บ้าน โดยใช้วัสดุเหลือใช้มาประยุกต์เป็นกระถาง เช่น ยางรถยนต์ ขวดพลาสติก และถังพลาสติก ลดข้อจำกัดของการปลูกผักสำหรับผู้ที่อาศัยในเขตเมืองที่ไม่มีดินให้ปลูกพืช 4. ครอบครัวลดโลกร้อน บ้านที่ผ่านประกวดจากทั้งหมด 50 บ้าน ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือก ดังนี้ รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า, ปลูกอยู่ปลูกกิน, เดินทางอย่างยั่งยืน, ไม่ก่อมลพิษ, ใช้สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, คัดแยกขยะอินทรีย์, คัดแยกขยะรีไซเคิล, คัดแยกขยะอันตราย, คัดแยกขยะทั่วไป ความสนใจที่เข้าร่วมคือ เดิมที่ชุมชนมีการตั้งถังขยะในชุมชน พบว่าขยะถูกทิ้งอย่างไม่เป็นระเบียบ หลังจากมีการรณรงค์และไม่วางถังขยะในชุมชน เห็นการเปลี่ยนแปลงของทัศนะในชุมชนที่ดีขึ้น จึงเข้าร่วมโครงการประกวดเพื่อต่อยอดการปรับตัวระดับครัวเรือนให้เกิดความยั่งยืน และ 5.ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ เป็นการทำงานร่วมกันกับตลาดที่ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจในชุมชน ขอความร่วมมือในการแยกขยะอาหารไว้ โดยมีอาสาสมัครไปรับมาจัดต่อที่ศูนย์ โดยใช้วิธีการหมักกับใบไม้แห้ง และอยู่ระหว่างการทดลองใช้ตัวอ่อนแมลงวันลายเพื่อช่วยในการกำจัด

        ภาพการจัดการขยะในพื้นที่ขอนแก่นไม่ใช่มีเพียงการจัดการขยะที่ต้นทาง แต่ยังมีโรงไฟฟ้าขยะที่แหล่งกำจัดขยะขนาดใหญ่ที่ชุมชนใกล้เคียงออกมาเรียกร้องเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น โจทย์ที่ทางคณะกรรมการฯ สสส. ฝากไว้กับชุมชนคือเป้าหมายของการจัดการขยะที่ต้นทาง จะเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริงหรือไม่ หากปริมาณขยะลดลงหรือหมดแล้ว “จะทำอย่างไรต่อ” สร้างจินตนาการร่วมกันของคนในชุมชนให้เห็นความเชื่อมโยง ขยายไปสู่ชุมชนอื่น และผลักดันให้เกิดนโยบายที่ไม่เพียงขอแค่ความสมัครใจ แต่เป็นการสร้างวินัยที่เกิดจากกฎระเบียบที่ร่วมกันปฏิบัติอย่างเสมอภาค

บทความแนะนำ