โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 26 ประสบการณ์ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช โดย ปุ้ย (มัทนา อภัยมูล) ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท จ.เชียงใหม่

ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เป็นศูนย์ฯ ที่จัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินและกรีนเนทเมื่อปี 2554 เพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวม ทดสอบและผลิต (ในระบบเกษตรอินทรีย์) เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านผสมเปิดเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ผลิตที่สนใจใช้เม็ดพันธุ์จากระบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจปลูกไว้กินเองในครัวเรือน ทางกรีนเนท/ศูนย์ฯ ได้ทำงานเชื่อมกับสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ในพื้นที่ตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ชื่อโครงการเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกเครือข่ายผู้ผลิตอินทรีย์หรือเรียกอีกชื่อว่าเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนตำบลแม่ทา รวมถึงเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ถือว่ามีความสำคัญในการผลิตพืชผักเพื่อบริโภคและจำหน่ายของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีการใช้เมล็ดพันธุ์เป็นจำนวนมาก ทั้งเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมในชุมชน เมล็ดพันธุ์จากเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงเมล็ดพันธุ์บางชนิดจากต่างประเทศ แต่เราจะร่วมมือกันในการรักษาพันธุ์และพัฒนาพันธุ์อย่างไรให้มีความยั่งยืน จึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งในพื้นที่มีการขับเคลื่อนร่วมกัน

การจัดการเมล็ดพันธุ์

ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2554 โดยในช่วงปี 2554-2557 เป็นช่วงการทดลองปลูกสายพันธุ์เพื่อเก็บข้อมูลการผลิตเมล็ดพันธุ์ในทุกกระบวนการผลิต ซึ่งในระยะแรกเป็นการศึกษาและรวบรวมจากชุมชนก่อนว่าชุมชนมีพันธุ์พืชที่น่าจะนำมาขยายพันธุ์ต่อ รสชาติดี อร่อย ทนต่อโรคแมลงอย่างไรบ้างเพื่อนำมาผลิตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์ฯ ทำการผลิตอยู่นั้นเป็นเมล็ดพันธุ์เปิดทั้งหมดที่ผู้ใช้สามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อและเก็บพันธุ์ได้ เพราะเรามองถึงความยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเป้าหมายหลัก ในการทำงานดังกล่าวนอกจากจะทำงานเชื่อมกับสหกรณ์เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา จำกัด และชุมชนในพื้นที่ตำบลแม่ทาแล้วทางศูนย์ฯ ที่ผ่านได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในแง่การหนุนเสริมทั้งเรื่องเรื่ององค์ความรู้จากนักวิชาการที่เข้ามาหนุนเสริมในการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างไรให้มีคุณภาพรวมถึงสนับสนุนโรงเรือนพลาสติกและเมล็ดพันธุ์หลักตั้งต้น

เตรียมความพร้อมก่อนขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช

ทางศูนย์ฯ เริ่มเดินเรื่องการขอขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ที่ทำการผลิตอยู่เมื่อปี 2558 เนื่องจากศูนย์ฯ มีความต้องการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และประกอบกับพันธุ์พืชบางชนิดตรงกับพันธุ์พืชควบคุมที่ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก่อนที่จะยื่นเรื่องการขึ้นทะเบียนทางศูนย์ฯ ได้เริ่มศึกษาข้อมูลก่อนในช่วงปี 2557 ศึกษารวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรว่าจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างโดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลและการเดินเรื่องเอกสารจากองค์กรกรีนเนทช่วยดำเนินการร่วมกันกับทางศูนย์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนาม

ในปี 2558 ทางศูนย์ฯ ได้นำเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ได้แก่ 1) ข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ที่ชัดเจน เช่น ลักษณะพืชใบ ลักษณะดอก ลักษณะผล,ข้อมูลการเก็บเกี่ยว 2) เอกสารรับรองความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ความชื้น และอัตราการงอกจากหน่วยงานที่สามารถใบออกรับรองให้ได้ เช่นมหาวิทยาลัย 3) ต้องมีชื่อกลุ่ม/วิสาหกิจ/บริษัท, และมีโลโก้  และ 4) ในพื้นที่ต้องมีระบบการผลิตในระบบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต้องมีเครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ สถานที่แพ็คบรรจุที่ชัดเจน สถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ ซอง/ถุงแพ็ค เครื่องชั่ง เป็นต้น จากเอกสารที่ต้องแนบประกอบการขึ้นทะเบียนดังกล่าวถือว่าใช้ระยะเวลาพอสมควรรวมถึงตอนยื่นเอกสารที่กรมพันธุ์พืชฯ เองก็มีการแก้ไขหลายรอบ เพราะก่อนการขอขึ้นทะเบียนเราต้องมีการคัดสายพันธุ์ตามหลักวิชาการเพื่อให้ได้ลักษณะพันธุ์ที่นิ่ง ตรงตามลักษณะสายพันธุ์ที่เราต้องใช้ทำข้อมูล อัตราการงอก ความบริสุทธิ์ของเมล็ดถ้าน้อยกว่าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรกำหนดก็ไม่ผ่านการขอ “จากประสบการณ์การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชของศูนย์ฯ ที่ผ่านมา มองได้ว่าหากทำในนามขององค์กรหรือศูนย์ อาจขับเคลื่อนได้เร็วกว่าเกษตรกร เพราะกระบวนการยุ่งยากในเชิงเอกสารที่ต้องอิงตามหลักวิชาการ โดยศูนย์ฯ เองก็ใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสารเพื่อแนบการขึ้นทะเบียนรวมถึงการยื่นเรื่องขอใช้เวลาเกือบทั้งปี”

หากรวบรวมเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนได้ครบแล้ว ก็ทำการยื่นขอลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เราจะได้รับรหัสเพื่อเข้าออกของระบบเพื่อแก้ไขข้อมูลได้ถ้าเกิดมีข้อแก้ไขของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร แล้วจัดส่งแนบเอกสารประกอบที่ได้เตรียมไว้ จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็จะแจ้งติดตามเพื่อดูพื้นที่จริงและแนะนำเพิ่มเติมถ้ายังไม่ตรงตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางกรมฯ กำหนด เช่น เรื่องการติดป้ายขออนุญาตถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ชัดเจน ดูแปลงผลิต การผลิต ดูสถานที่แพ็ค สถานที่เก็บ อุปกรณ์ต่างๆ  แต่ทางศูนย์ฯ ก็มีการเดินทางเข้าออกเพื่อยื่นเอกสารหลายรอบเพื่อแก้ไขข้อมูลก่อนที่จะผ่านการอนุมัตินั้น เมื่อทุกกระบวนการผ่านเราก็จะได้รับใบอนุญาตและหมายเลข พพ. เพื่อติดซองจำหน่ายได้ ซึ่งอายุหมายเลข พพ.ต้องมีการต่ออายุทุก 5 ปี 

ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า และใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ทั้งหมด 10 ชนิด แต่ผ่าน 5 ชนิด คือ ฟักทอง พริกขี้หนู มะเขือเปราะ ผักกาดหอม และถั่วฝักยาว กรณีเป็นพันธุ์พื้นบ้านที่ไม่ตรงกับพันธุ์พืชควบคุมที่ประกาศ เกษตรกรผู้ผลิตไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนก็ได้ สามารถแจก จำหน่ายให้กับชุมชน/เครือข่ายได้ปกติ แต่โดยส่วนใหญ่พืชที่เราบริโภคและเก็บพันธุ์กันอยู่ก็จะไปตรงกับชนิดพืชควบคุมที่เขาประกาศเนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจถึง 32 ชนิดพืช

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมท้องถิ่น: การขึ้นทะเบียนพันธุกรรม และวิสาหกิจโดยชุมชน” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ

การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวนั้น ต้องเกิดความร่วมมือของภาคีต่างๆ ในระดับจังหวัด เพื่อให้เมล็ดพันธุ์อยู่ในมือเกษตรกรอย่างแท้จริง โดย พยอม วุฒิสวัสดิ์