โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

“ทุกวันนี้เราเชื่อคนอื่นมากเกินไป ไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเลย ไปเชื่อความรู้คนอื่นที่แทบไม่ได้ลงมือปฏิบัติเลย”

            นี่คือคำพูดของคุณอุทิศ พรมสมปาน หรือพี่แกน เกษตรกรชาวสวนยางแห่งตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่ชวนสะท้อนใจถึงสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เกษตรกรจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเรื่องการลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่นปลูกทุเรียน แทนสวนยาง แต่กลับประสบปัญหา และขาดทุนมากมาย

            คุณอุทิศ เติบโตมาในครอบครัวที่ทำสวนยาง และช่วยพ่อทำสวนยางมาโดยตลอด เรียกว่ามีอาชีพชาวสวนยางมาตั้งแต่ต้น แต่หลังจากพ่อเสีย เมื่อได้รับมรดกที่ดินมา และเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีธารน้ำจากน้ำตกไหลผ่าน น่าจะเหมาะสำหรับปลูกพืชผสมผสาน คุณอุทิศจึงปรับจากการปลูกยางพาราอย่างเดียว เป็นการนำพืชผักผลไม้นานาชนิดมาปลูกเสริมด้วย

            เริ่มต้นจากการปลูกทุเรียนหมอนทอง ตั้งแต่เมื่อปี 2535 สมัยที่ราคาทุเรียนยังไม่ดีเท่าทุกวันนี้ ถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นปลูกทุเรียน คุณอุทิศก็เล่าว่า เมื่อก่อนสมัยเป็นเด็ก เคยไปรับจ้างเฝ้าต้นทุเรียนตอนกลางคืน ต้องคอยลุ้นว่าจะมีทุเรียนตกมามั้ย แล้วเจ้าของสวนจะแบ่งให้กินหรือเปล่า ตอนนั้นรู้ว่าการจะมีผลไม้อย่างทุเรียนกินนี่ ช่างยากเหลือเกิน เลยตั้งใจว่าถ้าโตขึ้นจะปลูกผลไม้ไว้ให้ลูกหลาน หรือพี่น้องได้กิน พอมีโอกาส ก็หามาปลูกทันที

            จากทุเรียนหมอนทอง ตอนนี้ในสวนแห่งนี้ มีทั้งทุเรียนพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพวงมณี ไก่แจ้ ไก่เขียว ท่าน้ำ ไร้หนาม เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมังคุด ลองกอง สะตอ ส้มแขก ส้มทวาย มะนาว ตลอดจนพืชผักพื้นบ้านหลายชนิด ทั้งผักกูด ผักเหลียง พริกไทย ชะอม ดาหลา ไผ่ หน่อไม้ ซึ่งหมุนเวียนเก็บขาย สร้างรายได้ให้ตลอด

            นอกจากผักผลไม้ที่เก็บกิน เก็บแบ่งปัน และเก็บขายได้แล้ว ในสวนแห่งนี้ คุณอุทิศ ยังปลูกไม้ที่ใช้สอยได้ไว้จำนวนมาก ทั้งจำปาทอง หลุมพอ ตะเคียนทอง พะยูง สะเดา

            คุณอุทิศบอกว่า นอกจากพวกผักผลไม้จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แล้ว ไม้ใช้สอยที่มีประโยชน์เหล่านี้ ก็สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตไม่น้อย เพราะไม้แต่ละต้นมีราคา มีชีวิต วงรอบของต้นไม้เหมือนเป็นดอกเบี้ย ที่ฝากธนาคารไว้ให้กับลูกหลาน แต่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป

           หลังจากมีโอกาสได้เดินชมสวนผสมผสานแห่งนี้ ก็สัมผัสได้ถึงความหลากหลาย อันอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างตั้งใจของผู้เป็นเจ้าของสวน

           คุณอุทิศอธิบายว่า ทุเรียน ถ้าเราปลูกเดี่ยวๆ เขาจะตาย ต้องปลูกร่วมกับพืชอื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของลมที่ต้องรับมือ การปลูกผสมผสานก็มีส่วนช่วยให้ต้นไม้แต่ละชนิดช่วยกันรับมือกับลมที่ถาโถมเข้ามาได้

            ความพิเศษของทุเรียนที่นี่ คือจะปลูก 2 ต้นคู่กัน และเมื่ออีกต้นโตได้ที่ ก็จะตอนกิ่งให้ต้นประสานกัน เป็นการช่วยให้ต้นแข็งแรงขึ้น ช่วยรับแรงลมได้ดีขึ้นด้วย

            เหล่านี้คือการเรียนรู้ผ่านการสังเกต ผ่านการลงมือทำจริงๆ 

          “เราต้องเรียนรู้ที่จะทำให้ต้นไม้อยู่กับเราได้ เหมือนกับเป็นพี่น้องของเรา” คุณอุทิศบอก

          นอกจากปัญหาเรื่องลมแล้ว ก็มีปัญหาเรื่องแล้ง ที่คุณอุทิศต้องรับมือเช่นกัน แม้ว่าจะมีธารน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกก็ตาม แต่ในช่วงแล้ง คุณอุทิศก็ต้องทำบ่อเก็บน้ำไว้ และสูบน้ำขึ้นมาใช้รดน้ำในช่วงหน้าแล้งเหมือนกัน ส่วนในยามปกติ บ่อน้ำนี้ ก็ได้ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงปลาดุก ที่นอกจากจากได้ปลาดุกมากิน มาแบ่ง มาขายแล้ว ก็ยังได้ขี้ปลาดุกเอามาทำปุ๋ยบำรุงพืชพันธุ์ต่างๆในสวนด้วย
            คุณอุทิศบอกว่า ทุกวันนี้ไม่ได้รวย แต่ก็ไม่เครียด มีความสุข และมีความภูมิใจเวลาได้ลงไปดูต้นไม้ในสวน ถ้าเราหวังแต่พืชเชิงเดี๋ยว คิดเชิงธุรกิจอย่างเดียว ถึงจะได้ตังค์เยอะ แต่ก็ไม่มีความแน่นอน แถมสุขภาพตัวเองก็แย่ หรือใช้สารเคมีเยอะ ผู้บริโภคเอาไปกินไม่รู้เรื่องก็ป่วยไปด้วย

            เมื่อถามถึงความท้าทาย นอกจากการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซี่งคุณอุทิศ ไม่เพียงปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เพิ่มความหลากหลายของต้นไม้ จัดการเรื่องน้ำ เรื่องลม ในสวนเท่านั้น แต่ยังปรับวิถีชีวิตมาใช้โซล่าเซลล์ที่บ้าน และยังมีแผนว่าจะใช้ฟืน แทนแก๊สด้วยแล้วนั้น คุณอุทิศ ยังพูดถึงสิ่งที่รู้สึกเป็นห่วงคือ เรื่องอายุของตัวเองที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เข้าสู่วัย 58 ปี ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำสวนเอง ปีนต้นไม้ไปเก็บผลผลิตเอง ได้อีกนานแค่ไหน การจะหาแรงงานที่มีความรู้ด้วยมาช่วยนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก

          คุณอุทิศ เป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องระบบการศึกษาปัจจุบัน ที่แยกเด็กรุ่นใหม่ให้ขาดออกจากวิถีเกษตรกรรม ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นวิถีของพ่อแม่ตัวเอง สิ่งนี้ส่งผลทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีทักษะการใช้ชีวิต ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร และก็ไปอยู่กับโทรศัพท์ เทคโนโลยี รวมถึงมีปัญหาเรื่องการติดยาเสพติดเพิ่มขึ้นทุกวันจนน่าเป็นห่วง

            ฟังแล้ว ก็เริ่มคิดว่า บางทีการรับมือกับปัญหาความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะในระบบเกษตรกรรม อาจต้องกลับมาเริ่มต้นที่การศึกษาและเป็นการศึกษาที่ไม่เพียงทำให้รู้จักเทคนิควิธีการปลูกเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาที่ช่วยหล่อหลอม ทำให้ตระหนัก เข้าใจ และได้ซึมซับวิถีเกษตรกรรม อันมีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตเขา เพื่อว่าวันหนึ่งเขาจะมีแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาเรียนรู้ และลงมือทำอะไรบนผืนดินที่เขาเติบโตขึ้นมาอย่างแท้จริง

บทความแนะนำ

การสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก” คุณสุชาญ ศีลอำนวย ผู้จัดการโครงการ และเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation)