ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากพืช
ได้แก่ เศษใบไม้,ใบหญ้า ที่เน่าเปื่อยผุพัง และสามารถเป็นประโยชน์ต่อพืชปลูกได้เช่นกัน
ใบมะขาม,ใบกระถิ่น,ใบขี้เหล็ก,ใบจามจุรี,ใบโสน และใบแค ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชตระกูลถั่ว เมื่อนำใบที่ร่วงหล่นจากต้นมากองรวมกัน และรดน้ำให้ชื้น ภายใน 7-10 วันจะสลายตัว สามารถนำส่วนที่ย่อยสลายนี้ไปผสมดินปลูกพืชในกระถาง หรือถ้าต้องการให้มีคุณภาพดีขึ้น กองรวมกับปุ๋ยคอกในอัตราส่วนดังนี้ เช่น ใบจามจุรี 4 ส่วนปุ๋ยคอก 1 ส่วน นอกจากนี้ยังนำไปหว่านโรยรอบต้นพืชที่ปลูก จึงเป็นการช่วยกำจัดเศษใบไม้ใต้ต้นเหล่านี้ไปด้วย
ใบมะขาม,ใบชะมวง,ใบมะกอกไทย และใบชมพู่ ที่ร่วงหล่นอยู่โคนต้นนำไปกองรวมกันแล้วหมักไว้ให้เน่าเปื่อย หรือเก็บรวมใส่ถุงขยะสีดำ ปิดปากถุงทิ้งไว้ 7 วันใบไม้หมักเหล่านี้จะเน่าเปื่อย และมีความเป็นกรด เหมาะสำหรับผสมดินปลูกไม้ประดับหรือไม้ใบที่มีสี เช่น โกสน บอนสี และไฮเดรนเยีย จะช่วยให้ใบและดอกสีเข้มขึ้น
ต้น ใบ และรากผักตบชวา นำมาสับให้เป็นท่อนๆ กองรวมกันให้เหี่ยวประมาณ 2-3 วันรดน้ำปุ๋ยคอก คลุมด้วยกระสอบ ประมาณ 7-10 วันผักตบจะเหี่ยวยุบตัวลง และมีธาตุอาหารจากปุ๋ยคอก นำไปใส่ในแปลงผัก และผสมดินปลูกต้นไม้ได้
เปลือกถั่วลิสง นำมากองหมักไว้จนเปื่อยยุ่ยประมาณ 3 สัปดาห์ นำไปรองก้นหลุมปลูกไม้ผล หรือผสมดินปลูกไม้กระถาง จะช่วยทำให้ดินร่วนซุย รากชอนไชและเจริญเติบโตได้ดี
ละองข้าวจากโรงสี ที่เกิดจากการขัดสีข้าวเปลือก จะเป็นส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว จมูกข้าวและรำ นำละอองข้าวนี้มาแช่น้ำ 1-2 วัน แล้วนำน้ำที่หมักได้ไปรดต้นไม้ผักกินใบ จะช่วยให้ใบสีเขียวเข้ม ยอดและใบจะอวบอ่อนน่ารับประทาน
เปลือกกล้วยทุกชนิด ถ้านำมาหั่นเป็นท่อนๆแล้วตากแห้งเมื่อนำไปผสมดินปลูก เช่น กุหลาบ จะออกดอกสีสวยงาม
ดินเผาและการเผาเศษใบไม้ โดยนำเศษใบไม้กองสลับกับชั้นดิน จะช่วยทำลายเมล็ดวัชพืช โรคแมลง และเพิ่มธาตุอาหารบางธาตุ เมื่อนำไปปลูกต้นไม้ จะช่วยเพิ่มรสหวานและคุณภาพของผลผลิต
ที่มา : หนังสือเกษตรธรรมชาติ เขียนโดย ผศ.มุกดา สุขสวัสดิ์