โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

สวนผักคนเมืองของชุมชนเมืองมหาสารคามอยู่ระหว่างการพัฒนาและขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำแปลงผักรวมแบบทำร่วมกันของทุกชุมชน และการพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองของเทศบาลเมืองมหาสารคามในอนาคต

ปี 2567 ที่ผ่านมา ชุมชนเมืองมหาสารคามเป็นหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานที่เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ มกย. โดยที่ได้มีการปักหมุดใน 4 ชุมชนหลัก ได้แก่ ชุมชนตักสิลา 1 ชุมชนเครือวัลย์ 2 ชุมชนบ้านแมด และชุมชนโพธิ์ศรี 1

ส่วนในปีนี้ได้มีการนำแนวคิดสวนผักคนเมืองไปขยายผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีผลเป็นรูปธรรม หลังจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนงบประมาณ และนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม อนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณเลิงน้ำจั้น เพื่อขยายพื้นที่ทำแปลงผักส่วนกลาง ตั้งเป้าหมายให้เป็น “แปลงรวมใจของคนเมืองมหาสารคาม”

เลิงน้ำจั้นนั้นเป็นพื้นที่ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ขนาดประมาณ 33 ไร่ อยู่ใจกลางเมือง ซึ่งมีแผนที่จะสร้างอาคารหลังใหม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินงาน

“ฟังไอเดียงานสวนผักคนเมืองจากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ฟังพี่สุภา (ใยเมือง) นัยความหมายของสวนผักคนเมืองมันมีความหมายมากไปกว่าการมีผักปลอดสารกิน มันมีความหมายมากไปกว่านั้น คือ การปรับภูมิทัศน์ของเมือง การปรับพื้นที่สีเขียว พื้นที่อาหารปลอดภัย และมุมของการใช้พื้นที่รวม พื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเห็นข้อจำกัดในแต่ละชุมชน ทั้งความรู้ทางด้านกายภาพและความรู้ในตัวคน คือไม่มีพื้นที่ที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน” ชัยสิทธิ์ แนวน้อย ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนเมืองมหาสารคาม กล่าวถึงแนวความคิดเบื้องหลังการดำเนินงานในปีที่สองนี้

ชัยสิทธิ์ขยายความด้วยว่า แปลงรวมใจของคนเมืองมหาสารคามจะทำหน้าที่หลักเป็นทั้งพื้นที่ผลิตผักอินทรีย์ พื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่ทางการตลาด เป็นฐานการผลิตที่ให้ผลผลิตมากพอที่จะนำไปบริโภคและขาย เป็นพื้นที่เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงของกลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจ รวมทั้งมีความคาดหวังให้เป็นตลาดนัดจำหน่ายผลผลิตของชุมชนเมืองมหาสารคามด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมของแกนนำจากศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมือง 4 ชุมชน เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงานที่ได้รับทุนจาก กสศ. หลังจากที่สมาชิกทั้ง 4 ชุมชนได้ดูงานเกษตรอินทรีย์บ้าน หนองโจด ชุมชนปลูกผักอินทรีย์แบบมืออาชีพที่ตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม และเป็นวิสาหกิจชุมชนหนองโจด หน่วยงานหลักที่กองทุน กสศ. ให้ทุนสนับสนุน อีกทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับ 4 ชุมชนเมืองมหาสารคามอีกด้วย

เที่ยงของวันเดียวกัน ชัยสิทธิ์พร้อมแกนนำชุมชนลงพื้นที่เลิงน้ำจั้น ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฝ่ายดูแลพื้นที่ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม เพื่อชี้จุดทำแปลง เบื้องต้นมีการออกแบบพื้นที่ รวมทั้งระบบน้ำและระบบไฟ

ชัยสิทธิ์เปิดเผยว่า ความคิดเรื่องการสร้างแปลงผักรวมส่วนกลางมีการพูดคุยกันตั้งแต่ก่อนปีใหม่ และต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ได้มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามเพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณเลิงน้ำจั้น และขอสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ต่าง ๆ รวมทั้งระบบน้ำและระบบไฟฟ้าด้วย

นอกเหนือจากการเป็นแปลงผักรวม ชัยสิทธิ์ยังเปิดเผยถึงเป้าหมายในอนาคตที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณเลิงน้ำจั้นให้เป็นศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองของเทศบาลเมืองมหาสารคามด้วย

“คือ เมื่อแปลงผักรวมอยู่ตรงนั้น ก็จะใช้เป็นที่ฝึกกับกลุ่มเป้าหมาย ฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมายได้ผสมดิน ปรุงดิน ได้เห็นเทคนิคการปลูก การเพาะกล้า การทำน้ำหมัก ทำสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนให้เขาตรงนั้น อีกส่วนหนึ่งเราคาดหวังว่า จะเป็นพื้นที่ทางการตลาดได้ด้วย บนพื้นฐานคนสนใจอยากซื้อ คือเดินเข้าไปตัดเอาเองได้ แล้วชั่งกิโล ชมสวน และกินได้เลย เราคิดว่าอาจจะเปิดตลาดนัด ให้ผลผลิตของคนเมืองที่มีอยู่ กลุ่มเป้าหมายของเรามาแสดง มาจำหน่ายสัปดาห์ละวันสองวัน หรือสามวัน ประมาณนี้”

นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะนำวัตถุดิบบางส่วนที่ผลิตได้ในแปลงเข้าไปในโรงเรียนสังกัดเทศบาลด้วย

“เคยคุยกันครั้งหนึ่งเรื่องการดีลเอาวัตถุดิบบางส่วนเข้าไปในโรงเรียน น่าจะเปลี่ยนให้เป็นแผนการผลิตเพื่อที่จะเสริมวัตถุดิบพวกนี้เข้าไปให้มีอย่างต่อเนื่อง อาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมาก แต่ว่าเราจะลองทำ ขอโรงเรียนซักแห่ง คุยกับเทศบาลแล้ว คุยกับนายกฯ เลย แต่มีคำถามที่เขาถามพวกเรามาคือ ราคาไปกันได้ไหม มีต่อเนื่องไหม” ชัยสิทธิ์เผยถึงแผนงานในอนาคต

สำหรับพื้นที่ทำแปลงปลูกผักรวมจะมีความกว้าง 24 เมตร ยาวประมาณ 23 เมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ล็อก ความกว้างล็อกละ 6 เมตร เพื่อให้ 4 ชุมชนแบ่งกันรับผิดชอบคนละ 1 ล็อก ส่วนรูปแบบแปลงจะทำทั้งแปลงยกสูง และก่อขอบแปลงด้วยอิฐบล็อกหรือวัสดุที่มี รวมทั้งแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมุงสแลน อีกส่วนหนึ่งเปิดโล่ง ตลอดจนมีการกันพื้นที่ด้านหน้าติดกับทางเข้าความกว้าง 9 เมตร ยาว 23-24 เมตร เอาไว้ เพื่อรองรับการประชุม การฝึกอบรม และเป็นสถานที่สำหรับรวมพล

ชัยสิทธิ์กล่าวด้วยว่า วันที่ 9 เมษายนนี้ แกนนำทั้ง 4 ชุมชนจะลงพื้นที่เลิงน้ำจั้นเพื่อออกแบบแปลงปลูกที่แต่ละชุมชนรับผิดชอบ และช่วยกันปรับพื้นที่ ฝังเสาทำโครงสร้างหลังคาสแลน ส่วนในรอบต่อไปจะเป็นการเชิญกลุ่มเป้าหมายสมาชิกชุมชน 56 คนจาก 4 ชุมชนช่วยกันทำแปลงและขุดดิน ส่วนวันที่ 3 พฤษภาคม จะจัดอบรมหลักสูตรสวนผักคนเมืองแบบเต็มหลักสูตรให้กับสมาชิกชุมชนกลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจทั่วไป โดยมีทีมวิทยากรจากบ้านหนองโจดมาช่วยกันถ่ายทอด

บทความแนะนำ