โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

  • ในการทำเกษตร Mindset หรือกรอบแนวคิดเป็นเรื่องสำคัญ การทำเกษตรต้องควบคู่กับการมีรายได้
  • ภาคการเกษตรในไทย มีเกษตรกรผู้ผลิตเก่ง ๆ หลายคน สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ การแปรรูปสินค้าจะเป็นตัวเลือกการสร้างรายได้มากกว่า
  • ไม่ควรหยุดหรือย่อท้อกับการพัฒนาหาความรู้ใหม่ ๆ เพราะความรู้ไม่มี รายได้ไม่เกิด
  • ความสุขอยู่ไม่ไกล แต่กว่าจะไปให้ถึงและหาความสุขเจอก็ต้องใช้เวลา

ชื่อของ “บ้านไร่รุ้งตะวัน” มีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นฟาร์มเมลอนญี่ปุ่นสายพันธุ์แท้และรสชาติดี ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรที่มีคาเฟ่ให้นั่งชิลล์ ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากผู้คนทั้งในเรื่องรสชาติอาหาร-เครื่องดื่มและบรรยากาศที่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ

ไร่หรือฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านนากอก ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธรถึงกับแนะนำเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ว่า บ้านไร่รุ้งตะวัน หรือ Baan Rai Rung Tawan เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของยโสธรที่ห้ามพลาด

ผู้เป็นเจ้าของบ้านไร่แห่งนี้คือ “เอก-ธนากร จิตตะมา” หรือเดิมชื่ออินทัช จิตตะมา เขาเคยใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ด้วยอาชีพเซลล์แมน แต่วันหนึ่งก็รู้สึกอิ่มตัวและนึกถึงการกลับมาใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินบ้านเกิด ด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน

“ความคิดแรกตอนที่คิดจะทำเกษตรรู้สึกมีความสุขมาก วางแผนวาดภาพฝันสวนตนเองในแผ่นกระดาษว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ตอนที่คิดโคตรมีความสุข เกิดสุนทรียภาพในใจ เพราะอยากมีชีวิตที่อยู่กับป่า ธรรมชาติ พืชผัก ธัญญาหาร แต่เมื่อได้ลงมือทำกลับพบว่าสนุกเพิ่มมากขึ้นอีก เช่น ใช้จอบขุดสระเองเป็นเวลา 1 เดือน ก็กลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่าใช่สิ่งที่อยากทำหรือไม่ พบว่าเรายังไม่มีเป้าหมายที่ชัดมากพอ ว่าการทำเกษตรที่แท้จริงคืออะไร”

นั่นคือสิ่งที่เอก-ธนากรกล่าวไว้ในงานมหกรรมพันธุกรรม 2568 ที่เขาได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรคนหนึ่งในช่วง TED TALK หัวข้อ ความสุขของคนรุ่นใหม่กับการเกษตร

หลังจากใช้เวลาและลงแรงไปไม่น้อยแบบไม่มีผลลัพธ์ที่ตอบสนองด้านการเลี้ยงชีพ เอกเริ่มคิดได้ว่า การทำเกษตรจำเป็นต้องสร้างรายได้ เขาจึงเริ่มวางแผนปรับพื้นที่นาและไร่ใหม่ เป็นรูปแบบโคก หนอง นา นอกจากการทำนาแล้ว เขาหันมาเน้นปลูกพืชระยะสั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตและก่อเกิดรายได้

แต่เอกก็ยอมรับว่า ในตอนเริ่มต้นนั้น ผลผลิตของเขาไม่อาจเทียบเท่าเพื่อนเกษตรกรอื่น ๆ เช่น ข้าวโพดคนอื่นต้นท่วมหัว ของเขากลับสูงไม่ถึงระดับเอว ทั้งนี้เพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ยและรดน้ำเลย

“เน้นเทวดาดูแล” เขาว่าอย่างนั้น

ถึงแม้ว่าจะมีภาพฝันและได้ลงมือทำ แต่ด้วยการไม่มีเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจน ในปีแรก เอกจึงประสบภาวะขาดทุนจนต้องกลับมาคิดทบทวนตนเองและการกระทำของตัวเอง

“ทบทวนตนเองว่าเราไม่ควรเป็นน้ำเต็มแก้ว การเรียนรู้ต้องมีตลอดเวลา เช่น เข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟสบุ๊ก ศึกษาในยูทูป เฉพาะกลุ่มที่ชำนาญการในเรื่องนี้ หาผู้รู้ นักปราชญ์ในพื้นที่ที่เราอยู่ ดึงตัวเองออกจากพื้นที่ส่วนตัวเพื่อออกไปเรียนรู้ เพื่อหาความรู้กลับมาสร้างรายได้ เพราะไม่มีความรู้ รายได้ไม่เกิด ต้องออกไปหาผู้รู้”

ต่อมาวันหนึ่งเอกได้ค้นพบว่า เมลอนญี่ปุ่นสามารถปลูกที่เมืองไทยได้ โดยเฉพาะพบว่ามีคนปลูกที่จังหวัดยโสธรอยู่แล้ว ในที่สุด เอกจึงลงทุนลงแรงจริงจังกับเมลอนญี่ปุ่น จนกระทั่งกลายเป็นพืชพระเอกของไร่ และจากที่คิดว่าจะเป็นแหล่งรายได้เสริมก็กลับเป็นแหล่งรายได้หลัก

“เดิมเข้าใจว่าต้องปลูกที่เมืองหนาว แต่พบว่ามีคนปลูกที่ยโสธร หรือในประเทศไทยอยู่แล้ว ผลผลิต 1 ลูก หนักประมาณ 2 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 150 บาท ดังนั้น 1 ลูกเฉลี่ยราคา 300 บาท 1 โรงเรือน กว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร ปลูกได้ประมาณ 300-310 ต้น ดังนั้น ในระยะเวลา 3 เดือน 1 โรงเรือน สร้างมูลค่าประมาณ 93,000 กว่าบาท”

สิ่งที่เอกสรุปกับตัวเองในส่วนงานการเกษตรก็คือ เขาได้ใช้เวลา 3 ปีจึงก้าวสู่การประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีช่องว่างให้เติมเต็มต่อไปได้อีก

“ปีที่สามประสบผลสำเร็จ สำเร็จในที่นี้หมายถึงผลผลิตดีขึ้น แต่ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังมีลูกที่เสียหาย ไม่ได้ขนาด จึงเริ่มมองหาทางเลือกอื่น”

ทางเลือกที่ว่าก็คือการขยายไปสู่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสินค้าต่าง ๆ โดยที่เอกมีมุมมองว่า “เกษตรผู้ผลิตมีมากแล้ว ทั้งเก่งด้านการผลิต ด้านการทำงานแปลงเกษตร แต่ ณ ปัจจุบันเกษตรกรไม่จำเป็นต้องผลิตในปริมาณมากเพื่อแลกกับต้นทุนที่สูง ทั้งปัจจัยการผลิต แรงงาน การทำเกษตรไม่ควรตึงหรือหย่อนจนเกินไป

“ยกตัวอย่างเช่น เมลอน 1 ลูก เราจะขายแบบไหน ขายเฉพาะลูกสดเพียงอย่างเดียว เราจะได้ขาย 3 เดือนต่อครั้งเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน หากเรานำลูกที่ไม่ได้ตามเกณฑ์เดิมแจกคนอื่นฟรี ก็สร้างเพียงน้ำใจ ไม่สร้างมูลค่า แต่หากคิดนำมาแปรรูป ก็จะได้สินค้าที่สามารถขายสร้างรายได้เพิ่มเติม”

ด้วยการตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนเช่นนี้ เอกจึงเริ่มต้นเข้าคอร์สเรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

“เดิมไปเรียนเรื่องแยม เยลลี่ แต่ลืมไปว่าตัวตนของเราเป็นคนไม่ทานหวาน จึงไปศึกษาเรื่องทำคราฟเบียร์ ไวน์ สุรากลั่น มอลต์ ฯลฯ เมื่อได้วิชามาจึงไปแปรรูปไวน์เมลอน แม้ครั้งแรกที่ทำไม่สำเร็จ ก็ต้องหาผู้ชำนาญ หาโรงงานที่ทำเฉพาะด้าน จึงตกผลึกเป็นสปาร์กเคิลลิ่งเมลอนไวน์ ซึ่งสปาร์กเคิลลิ่งก็คือการอัดทำให้ซ่าคล้ายน้ำอัดลม แต่ไม่ใช่โซดา เป็นการนำน้ำเมลอนมามิกซ์ไซรัป ทำให้หอมและอร่อยขึ้น”

นอกจากการผลิตพืชผลต่าง ๆ แบบเกษตรกรแล้ว ทุกวันนี้ เอก-ธนากรจึงมีสินค้าอีกหลายชนิดที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ของไร่ด้วย ที่สำคัญ เขาไม่เพียงหยุดการนำเสนอขายสินค้า ณ ที่ตั้ง แต่ยังได้พาตัวเองออกไปพบปะกับผู้บริโภคโดยตรง ในฐานะของพ่อค้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ เอง ในส่วนเครื่องดื่มสปาร์กเคิลลิ่งของเขาก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่เมลอนเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่พืชผลอื่นด้วย โดยไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่ปลูกเองแล้ว

ล่าสุดนี้ เขาถึงกับเปิดเพจใหม่เพื่อนำเสนอเรื่องของเครื่องดื่มโดยเฉพาะ ใช้ชื่อตามชื่อบ้านอันเป็นที่ตั้งของไร่ว่า “นากอกเบฟเวอเรจ – Nakok Beverage”

เอกกล่าวถึงบทบาทในส่วนนี้เอาไว้ พร้อมกับสรุปผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่า “ในวันนี้ลองพาตัวเองออกไปหาลูกค้า เช่น ออกบูธ ทุกคนที่เข้ามาในบูธจะได้รับความสุขที่เรามอบให้ และสุดท้ายภรรยามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ความสุขได้เกิดขึ้นกับครอบครัว ได้ใช้เวลากับลูก มีความสุข ตื่นเช้ามาไม่ต้องไปกดดันกับชีวิตตัวเอง

“วันนี้เราไม่ต้องแข่งกับใคร เราแข่งกับเวลา แข่งกับความอดทนและความพยายามภายในของตนเอง”

จากประสบการณ์ที่ประสบมาด้วยตนเอง เอกมีความเชื่อมั่นว่า สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว ถ้าหากมีการวางเป้าหมายถูกต้องและมีการลงมือทำ ผลลัพธ์ตามที่หวังและตั้งใจก็ย่อมจะเกิดขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดมิติใหม่ ๆ ขึ้นได้ เพียงแต่ว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ใช้ความมุ่งมั่น มุมานะ และใช้ความรู้ในการคิดและดำเนินการ

“กว่าจะหาชีวิต หาความสุขของตนเองเจอ ก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี อย่าท้อที่จะหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต ถ้าไม่หยุดตามหาหรือหมดหวังเสียก่อน ซักวันหนึ่งจะเจอ

“แน่นอนว่าถ้าเราได้ลงมือทำ จะรู้ว่าความสุขไม่ได้อยู่ไกล ความสุขอยู่ใกล้ตัวเรา สิ่งแวดล้อมต้องเปลี่ยน หรือสร้างมูลค่าให้สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริงในตัวเรา ถ้าทำได้ก็จะสปาร์กเคิลลิ่งกับชีวิต มีความสุข มีชีวิต มีความหวัง”

นั่นคือบทสรุปแบบให้ข้อคิดทิ้งท้ายจากชายหนุ่มนักสร้างเครื่องดื่มสปาร์กเคิลลิ่งและดำเนินชีวิตอย่างสดใสซาบซ่าในแบบเดียวกัน

รับฟังเนื้อหาช่วง TED TALK ของงานมหกรรมพันธุกรรม 2568 ได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/1BtRhDJ2Px/

ขอบคุณภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊กบ้านไร่รุ้งตะวัน Baan Rai Rung Tawan และเฟซบุ๊ก YasothonSmile

บทความแนะนำ