ในปี 2567 เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองสุรินทร์ได้เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมืองเป็นปีแรกกับทางมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ ที่เป็นสมาชิกใน “เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก” ซึ่งทำงานแนบชิดกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ มกย.
มกย. ดำเนินโครงการสวนผักคนเมืองมายาวนาน โดยได้รับการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่เพิ่งขยายการทำงาน “สวนผักคนเมืองอีสาน” ไปยังจังหวัดสุรินทร์และอีก 2-3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2567
ภายในปีแรก “สวนผักคนเมืองสุรินทร์” เริ่มด้วยสมาชิกจาก 17 ชุมชนนำร่อง โดยผ่านการอบรมแล้วจำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 35 คน/ครัวเรือน รวมทั้งหมดจึงมีสมาชิกสวนผักคนเมืองสุรินทร์อยู่แล้วไม่น้อยกว่า 105 คน/ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานี้ เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองสุรินทร์ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองสุรินทร์จัดอบรม “สวนผักคนเมือง” ครั้งใหญ่ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 120 คน ที่เป็นสมาชิกจากชุมชนจำนวนถึง 33 แห่ง ซึ่งครอบคลุมชุมชนทั้งหมดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์
นอกจากนั้น 3 ชุมชนในกลุ่มชุมชนนำร่องยังขยับสู่การทำแปลงผักในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน โดยชุมชนหนองบัว ใช้พื้นที่สาธารณะรอบสระของชุมชน ชุมชุนทุ่งโพธิ์ใช้พื้นที่ของเอกชน และชุมชนศรีไผทสมันต์ใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณหน้าที่ทำการชุมชน โดยแต่ละชุมชนมีการตั้งเป้าหมายและวิถีการดำเนินการเฉพาะตัว ส่วนผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปในแนวทางที่ดีแตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีจุดร่วมอยู่บ้าง โดยเฉพาะในแง่ของการขยายพื้นที่สวนผักคนเมือง ทั้งในเชิงพื้นที่กายภาพและพื้นที่ในความคิดของผู้คน

อบรมครั้งใหญ่ ครบ 33 ชุมชนเมืองสุรินทร์
ในส่วนของกิจกรรมการอบรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นได้เนื่องจากเทศบาลเมืองสุรินทร์ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการสวนผักคนเมือง หลังจากที่เห็นผลงานส่วนที่เป็นการดำเนินการนำร่องในช่วงปี 2567 ของโครงการจากงานมหกรรมสวนผักคนเมืองสุรินทร์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมือง ชุมชนหนองบัว
ชนิดาภา ศรีสุข เจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ และผู้ประสานงานโครงการสวนผักคนเมือง เปิดเผยถึงที่มาของงานอบรมว่า ในงานมหกรรมสวนผักคนเมืองสุรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ให้มาเปิดงาน รวมทั้งมีผู้ใหญ่ในเทศบาลมาร่วมงานด้วย หลังจากนั้นทางเทศบาลก็ได้เชิญตัวแทนชุมชนเข้าไปร่วมพูดคุยเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน โดยตัวแทนชุมชนเห็นชอบจัดอบรมสวนผักคนเมืองให้กับสมาชิกเพื่อจะได้ขยายครัวเรือนปลูกผักเพิ่มมากขึ้น
ชนิดาภาบอกว่า แต่เดิมมีสมาชิกชุมชนต่าง ๆ แสดงความสนใจอยากเข้าร่วมการอบรมสวนผักในเมืองแบบอินทรีย์เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีงบประมาณสนับสนุนไม่มาก ในปีที่ผ่านมาจึงจัดอบรมได้เพียง 3 รุ่นเท่านั้น ซึ่งก็พบว่า บางครัวเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วมอบรมก็มีการปลูกผักไว้กินเองอยู่แล้วไม่น้อย
“ตอนเปิดงานมหกรรมสวนผักคนเมืองได้เชิญทุกชุมชนมาร่วม เขาก็เห็น เขาก็อยากร่วม ยังมีอีกเยอะ ครั้งนี้เป้าหมาย 33 ชุมชน ชุมชนละ 5 คน ก็ร้อยกว่าคนแล้ว”
ในวันอบรม 14 มีนาคม ปรากฏว่าจำนวนผู้เข้าร่วมจริงมี 123 คน ดังนั้นห้องประชุมของศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมือง ชุมชนหนองบัว อันเป็นสถานที่จัดประชุมจึงไม่สามารถรองรับได้ ต้องปรับสถานที่จัดอบรมโดยใช้เต็นท์ขนาดใหญ่แทน รวมทั้งปรับวิธีการฉายสไลด์ข้อมูลประกอบระหว่างการอบรม เปลี่ยนเป็นให้ผู้เข้าอบรมสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลต่าง ๆ ในกลุ่มไลน์อบรมสวนผักคนเมืองแทน อาทิ หนังสือสวนผักคนเมือง สูตรทำฮอร์โมนหน่อกล้วย ฯลฯ และในช่วงระหว่างอบรมที่เน้นการปฏิบัติในแต่ละหัวข้อ วิทยากรใช้วิธีการพูดเสริมเนื้อหาทางทฤษฎีแทนการฉายสไลด์





เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติตามแบบฉบับ “สวนผักคนเมือง”
กิจกรรมอบรมครั้งนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ช่วง ในภาคเช้าผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ด้านทฤษฏีจากทีมวิทยากร ซึ่งปูพื้นฐานเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ในเมือง รวมทั้งสาธิตวิธีทำฮอร์โมนหน่อกล้วย และการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ส่วนภาคบ่ายเป็นการสาธิตวิธีผสมดินปลูก ผสมดินเพาะกล้า รวมทั้งวิธีย้ายต้นกล้าและวิธีขยายพันธุ์
บุหงา ยืนยง หนึ่งในวิทยากรหลักของการอบรมครั้งนี้เผยว่า ส่วนของทีมวิทยากร ซึ่งมีทั้งวิทยากรหลักและวิทยากรเสริม ได้แบ่งหน้าที่กันถ่ายทอดองค์ความความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น คนหนึ่งให้ความรู้เรื่องการผสมดินปลูก การผสมดินเพาะกล้า อีกคนให้ความรู้เรื่องการปลูกผักคู่หูและผักคู่อริ ส่วนตัวให้ความรู้เรื่องพื้นที่เพาะปลูก อาทิ โต๊ะปลูกผัก และวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ การทำฮอร์โมน รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการใช้เศษอาหารในครัวเรือนทำปุ๋ยเพื่อเป็นการลดขยะ
“จริง ๆ วิทยากรทุกคนมีความรู้เท่ากันหมด เพียงแต่เราจะแบ่งงานกัน ถึงวันอบรมทุกคนสามารถถ่ายทอดได้ทุกเรื่อง” บุหงากล่าว พร้อมทั้งเล่าถึงวิธีการอบรมที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปจากปกติด้วย
จากเดิมที่การอบรมแต่ละครั้งจะมีการแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน แต่ครั้งนี้มีผู้เข้าอบรมเป็นจำนวนมาก หากทำเช่นนั้นจะต้องใช้วัสดุเพื่อประกอบการสาธิตเป็นจำนวนมาก จึงปรับวิธีการให้วิทยากรสาธิตในแต่ละฐานการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้ซักถามก่อนไปต่อฐานอื่น ๆ รวมทั้งมีการปล่อยให้เดินชมสวนผักคนเมืองภายในศูนย์เรียนรู้ฯ
ไม่เพียงเรียนรู้เรื่องปลูกผัก แต่ยังพ่วงเรื่องรักสุขภาพและรักษ์โลก
สำหรับเสียงสะท้อนหลังการอบรม บุหงากล่าวว่า ผู้เข้าร่วมบอกว่าได้รับความรู้มากขึ้น จากที่แทบไม่รู้อะไรเลย
“คนสนใจกันเยอะ บางคนเขาก็ยังไม่รู้ว่าที่นี่มีแหล่งเรียนรู้สวนผักคนเมือง บางคนไม่รู้เรื่องการบริโภคผักที่ปนเปื้อนสารเคมี อย่างคนป่วยเขาเข้าใจว่าทานผักเป็นยา เราก็อธิบายไป อย่างปลูกผักบนโต๊ะ บนตะกร้า ในพื้นที่จำกัดเขาก็เริ่มรู้ สนใจเรื่องปุ๋ย เรื่องฮอร์โมน ก็อธิบายไป
“บางคนแทบไม่รู้เลยว่าจะปรุงดินอย่างไร ดินไม่สวย พอเขาได้มาดูที่ศูนย์ฯ เราก็อบรมไปว่า ไม่จำเป็นต้องรอดินฟ้าอากาศ เราปลูกได้ในแปลงผัก ในตะกร้าผักของเรา หรือวัสดุที่เหลือใช้ เราสามารถมาปรับปรุง มาทำให้เป็นที่ปลูกผักได้ อย่างเราไปตามตลาด กล่องโฟมที่ทิ้งแล้วเรามาล้าง ๆ ก็สามารถเอามาปลูกข่า ตะไคร้ได้ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เลย เราก็อธิบาย เขาก็ว่าปกติทิ้งกาลามัง ส่งขายของเก่าไปชั่งกิโลขาย สังคมในเมืองก็รู้อยู่ พอเขามาเห็น เขาก็ว่า ต่อไปกาลามังเหลือใช้ เรามาใส่ดินปลูกผักกัน”
ด้านชนิดาภาบอกกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า “ชาวบ้านเขาสนใจมาก คนที่มาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยกับวัยกลางคนที่กำลังทำงาน แต่เขามีความรักในสุขภาพ อบรมครั้งนี้เราเพิ่มความรู้ให้ผู้อบรมหัดย้ายกล้าที่เพาะไว้ แล้วเอากลับไปอย่างน้อยคนละ 5 ต้น ซึ่งคนมาไม่ถึง 150 คนตามที่เตรียมไว้ ที่เหลือก็ให้เพิ่มไป เอาไปปลูก ปลูกแล้วให้ดูแล แล้วส่งมาอวดในกลุ่มไลน์ว่าของใครจะรอดไม่รอดอย่างไร”
สำหรับเพาะกล้าที่แจกให้กับสมาชิกผู้เข้าอบรมครั้งนี้ บุหงาแจกแจงว่า มีทั้งมะเขือ พริก กะเพรา โหระพา และมะเขือเทศ
“เขาดีใจกันมากเลย ได้ความรู้เพิ่ม ได้ผักไปปลูกที่บ้านคนละ 5-6 ต้น ก็ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเขาได้” บุหงาสรุป
แปลงผักในพื้นที่ส่วนกลางมีการนำร่องแล้วใน 3 ชุมชน
การจัดทำสวนผักในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนถือเป็นอีกก้าวของงานการสร้างสวนผักคนเมืองภายในชุมชนเมืองจังหวัดสุรินทร์
สมศักดิ์ พลภักดี รองประธานมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ เผยว่า จากการพูดคุยกันในคณะทำงานสวนผักคนเมืองของเครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองสุรินทร์ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ การขยายพื้นที่ส่วนกลางเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องทำภายหลังจากการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับครัวเรือนแล้ว
“ตั้งแต่เริ่มเลยว่าจะเอายังไง พอสรุปแล้ว ขอเริ่มระดับครัวเรือนก่อน เพราะทำอยู่แล้ว จริง ๆ กรรมการชุมชน ผู้นำชุมชนก็เอาอยู่แล้ว ทำได้เลย แต่เอาไว้ก๊อกสอง หลังจากครัวเรือนเสร็จก็มาก๊อกสอง ก๊อกแรกเราจะพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาประสบการณ์ระดับครอบครัวนำร่อง 17 ครอบครัว เสร็จแล้วเราทำศูนย์เรียนรู้ร่วมกัน มีหลักสูตรเรียนรู้ชุมชนทั้ง 33 ชุมชน ชาวบ้านมาเรียนรู้ได้ จะทำตรงนี้ก่อน”
ในเรื่องการขยายพื้นที่ส่วนกลางนี้ สมศักดิ์อธิบายว่า เดิมเลือกไว้ทั้งหมด 5 ชุมชน ภายหลังลดลงเหลือ 3 ชุมชน เนื่องจากกรรมการชุมชนเห็นว่า บางชุมชนมีพื้นที่ส่วนกลางใหญ่เกือบไร่ เกินกว่ากำลังและทักษะที่จะไปดูแล จึงขอเริ่มจากจุดเล็ก ๆ พื้นที่ไม่มาก ประมาณ 30-50 ตารางวา
ณ วันนี้ 3 ชุมชนสมาชิกเครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองสุรินทร์ที่มีการขยายงานสวนผักคนเมืองในระดับครัวเรือนสู่พื้นที่ส่วนกลางแล้ว ได้แก่ ชุมชนหนองบัว ชุมชนศรีผไทสมันต์ และชุมชนทุ่งโพธิ์ โดยแต่ละชุมชนใช้พื้นที่แตกต่างกันไปตามสภาพของตนเอง
ชุมชนหนองบัวกับแปลงผักรอบสระใหญ่ที่เปิดกว้าง ใครจะปลูกหรือเก็บกินก็ได้
ที่ชุมชนหนองบัว กมลภพ บุญเจือ ประธานชุมชนหนองบัว ซึ่งเข้าร่วมอบรมสวนผักคนเมืองในครั้งที่เป็นการอบรมให้แก่ 17 ชุมชนนำร่อง คือผู้นำในการบุกเบิกแปลงผักส่วนกลางที่อยู่รอบสระของชุมชน โดยดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันจึงมีผลผลิตให้สมาชิกสามารถมาเก็บกินได้ฟรีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะเพราที่ประธานชุมชนปลูกนำร่องไว้บริเวณหน้าสระและขอบสระ พร้อมทั้งประกาศว่าใคร ๆ ก็สามารถมาเก็บไปกินได้
“ตอนนี้ผมหมักดินประมาณ 4 ตัน และขยายพื้นที่ปลูกอีกแถว คือผมตั้งโปรแกรมไว้ว่า ผมทำให้ คุณดูแลต่อนะ คือหมักดินให้ ใส่กระถางให้เรียบร้อย แล้วคุณไปจัดการ อยากปลูกอะไรก็ปลูก
“ริมสระจะมีพื้นที่สำหรับปลูกผัก เรียกว่าส่วนกลาง บ้านเขาอยู่ตรงข้ามสระ ตรงข้ามกับพื้นที่ เขาจะปลูกผัก ทุกคนต้องดูแลพื้นที่ตัวเอง”
ประธานชุมชนหนองบัวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันชุมชนหนองบัวมีสมาชิกประมาณ 400 กว่าครัวเรือน ส่วนที่เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมืองแล้วมีประมาณ 200 กว่าครัวเรือน ครัวเรือนเหล่านี้ปลูกผักและมีผลผลิตให้เก็บกินเกือบทุกครัวเรือน และเริ่มขยายพื้นที่ปลูกผักบนพื้นที่ส่วนกลางกันแล้ว
เขาขยายขยายความอีกว่า แม้แต่คนที่ไม่ได้เข้าร่วมอบรมสวนผักคนเมืองก็ยังมาร่วมปลูกผักในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเขาและทีมงานก็จะคอยถามและให้คำแนะนำหรือให้ความรู้เรื่องการปลูกผัก ซึ่งไม่เพียงเป็นการขยายความคิดและความรู้ความเข้าใจเรื่องสวนผักคนเมือง แต่ยังขยายสวนผักคนเมืองออกไปอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
“ต้องถามความต้องการเขาก่อน ว่าเขาจะปลูกผักอะไรบ้าง ผักนี้มันเป็นอย่างนี้นะ มีปุ๋ยไหม มีดินไหม ถ้ามดขึ้นเอาอะไรใส่ มันจะเป็นสไตล์แบบนี้ มีปัญหาเรื่องการปลูกไหม เราก็ถามในแนวนี้ และบอกวิธีการเขาด้วย”






ชุมชนศรีผไทสมันต์กับแปลงผักส่วนกลางขนาดเล็กที่ให้ประโยชน์ได้มาก
ด้านชุมชนศรีผไทสมันต์มีการแบ่งพื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตรบริเวณศาลาชุมชน ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน รวมทั้งเป็นลานผู้สูงอายุ โดยทำแปลงและโต๊ะปลูกผักขึ้นมา ผลคือทำให้มีผู้สูงอายุที่ว่างงานมาช่วยกันดูแล อีกทั้งยังได้ใช้ผลผลิตมาทำประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
ดวงเดือน โฉมงาม ประธานชุมชนศรีผไทสมันต์ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนศรีผไทสมันต์มีน้อย จึงไม่มีโอกาสที่จะขยายมากไปกว่านี้ แต่ก็ตั้งใจจะใช้วิธีปลูกผักหมุนเวียนไปเรื่อยๆ
“สมมติว่าเราปลูกผัก ถ้าต้นมันแก่ไป เราก็อาจจะปรับไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนแบบนี้ อย่างพริก มะเขือมันแก่แล้ว ปลูกถั่ว ปลูกแตงขึ้นมาแทน ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
“ที่ผ่านมามีผลผลิตให้เก็บกินหลายรุ่นแล้ว และทุกวันเสาร์ก็ทำเป็นอาหารให้กับผู้สูงอายุที่มาทำกิจกรรมบริเวณลานกิจกรรม รวมทั้งมีสมาชิกชุมชนมาขอฟรีและขอซื้อ โดยเงินที่ได้ก็นำเข้าชุมชนสำหรับค่าไฟและค่าน้ำประปา”
นอกจากนี้ยังมีการใช้พื้นที่ส่วนกลางเป็นจุดแนะนำเรื่องการปลูกผักสำหรับสมาชิกชุมชนที่มาทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ยังไม่เคยได้เข้าอบรมสวนผักคนเมืองอีกด้วย



ชุมชนทุ่งโพธิ์กับแปลงผักขนาดใหญ่บนที่ดินเอกชน
ในขณะที่ชุมชนทุ่งโพธิ์ได้พื้นที่ปลูกผักส่วนกลางมาจากเอกชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินว่างเปล่า ซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ โดยมีสมาชิกจากหมู่บ้านจูแอมและสมาชิกบ้านมั่นคง ที่อยู่ติดกัน มาร่วมกันดูแล
“พื้นที่กว้าง กะไม่ถูกว่าเท่าไหร่ มีคนใจดีเอารถมาไถมาดันให้ ปรับพื้นที่ ติดถนนด้วย มีน้ำ สะดวกสบาย ของคนรวย เขาไม่ได้ทำอะไร ทิ้งไว้ว่างเปล่า ก็เลยไปขอเขา เขาก็ใจดี ถ้าใช้ในชุมชนเขายินดี เราก็กะว่าปลูกผักอะไรก็จะเอาไปฝากเขาบ้าง” พิมศิริ พิมช่างทอง ประธานชุมชนทุ่งโพธิ์กล่าวถึงแปลงผักส่วนกลางขนาดใหญ่ที่เจ้าของที่ดินใจดีอนุญาตให้ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์
ประธานชุมชนทุ่งโพธิ์ เปิดเผยว่า การปลูกผักเพิ่งเริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้เป็นที่รวมกลุ่มของผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน
“จะให้เป็นกิจกรรมของผู้สูงอายุ มีเกือบ 20 คน รวม ๆ กับกลุ่มที่มาเต้นแอโรบิกรุ่น 40-50 ปีด้วย เราไม่ได้บังคับ เพราะเขาก็ปลูกที่บ้านอยู่แล้ว ที่บ้านเขาก็ไม่ทิ้ง แต่เราก็จะมารวมตรงนี้ ให้มันเป็นกิจจะลักษณะ ให้เป็นสวนผักส่วนกลางเลย ช่วยกันทำ ต้องแบ่งเวลาสลับกัน”
นอกจากนั้น ทางชุมชนทุ่งโพธิ์ยังได้รับการสนับสนุนล้อยางรถยนต์เก่าจากร้านจำหน่ายยางรถยนต์ ซึ่งประธานชุมชนทุ่งโพธิ์บอกเล่าว่า “ขณะนี้ได้เริ่มนำมาจัดเรียงและกำลังจะนำดินไปลงแล้ว”



…
…
เรื่องการปลูกผักในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันในระดับชุมชน ถือเป็นทิศทางการขยายตัวของสวนผักคนเมืองที่เปิดมิติใหม่ ๆ เพิ่มเติมในส่วนงานด้านการพัฒนาชุมชน โดยมีบทบาททั้งในฐานะเป็นตัวกิจกรรมที่ให้สมาชิกชุมชนทำร่วมกัน เป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้กว้างและหลากหลายขึ้น ในขณะที่มีผลผลิตให้ใช้สอยประโยชน์และแบ่งปันกันอีกด้วย