ฐานที่ 3 การพัฒนาทางเลือกของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอุตสาหกรรม (กรณีเหมือนแร่โปแตชในภาคอีสาน)
สถานการณ์ (นำร่องแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดย นางสาวบำเพ็ญ ไชยรักษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลกลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรมศึกษา จังหวัดอุดรธานี)
จังหวัดมหาสารคามเริ่มทำนาเกลือเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ดินเค็มเกินไป และนาข้าวเสียหาย สัตว์น้ำตาย จึงมีการตั้งคำถามเรื่องนาเกลือ แม้ยกเลิกการทำแล้วในปัจจุบันแต่น้ำก็ยังเค็ม น้ำเค็มเหล่านี้เมื่อไหลไปที่อื่นก็ทำให้ลุ่มน้ำอื่นเค็มไปด้วย นาข้าวกลายเป็นนาเกลือ และเมื่อ 20 ปีก่อนมีการทำนาเกลือแบบละลาย (เหมืองละลายเกลือ) โดยใช้น้ำละลายเกลือในดิน จนต่อมาพบว่าในดินมีแร่โปแตสด้วย (โปแตสเค็มกว่าเกลือ 1,000 เท่า) โดยพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีแค่ไทยและลาวเท่านั้นที่มีโปแตช และเป็นโปแตสที่คุณภาพดีที่สุดในโลกเสียด้วย จนกระทั่งมีการออกกฎหมายให้สามารถขุดแร่ที่ความลึกมากว่า 100 เมตร ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต นั่นคือการให้สัมปทานบริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ใต้ดินโดยไม่ต้องขออนุญาต
ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดอุดรธานีมีบริษัทได้รับสัมปทานหลายพันไร่ และแร่โปแตสเป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตในหลายอุตสาหกรรม การขุดแร่โปแตสจึงเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคตะวันออก เช่น ปิโตรเลียม รวมทั้งบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้วางแผนการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ใน อุตสาหกรรมด้วย ในขณะที่รัฐบาลก็มีแนวคิดนำกากนิวเคลียร์จากโครงการโรงงานไฟฟ้าพลัง นิวเคลียร์ที่จะสร้างมาฝังไว้ในอุโมงค์ที่ขุดแร่ขึ้นมาอีกด้วย
ส่วนใหญ่พื้นที่ขุดแร่โปแตสของไทยอยู่ในเขตชุมชน โดยข้างบนอุโมงค์เป็นชุมชนเกษตรข้างล่างเป็นเหมืองแร่ ในขณะที่ในประเทศเยอรมันการขุดแร่โปแตสต้องมีความลึก 1,700 เมตร แต่ในไทยขุดลึกตั้งแต่ 170-500 เมตร ดังนั้นความเสี่ยงของดินทรุดจึงมีสูงมาก และยังมีปัญหาเกลือที่อยู่ใต้ดินจำนวนมากต้องถูกขุดขึ้นมาแยกแร่โปแตสออก แล้วทิ้งไว้กองเป็นภูเขาเกลืออยู่บนดินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ และระบบนิเวศได้
ประเด็นหลักจากการแลกเปลี่ยน
1. ตั้งกลุ่มระดมทุนโดยร่วมกับนายจ้าง แต่ก็พบอุปสรรคหลากหลาย เช่น ถูกจับขึ้นศาลเพราะไปประท้วง แต่ก็ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในสิทธิของตนมากขึ้น
2. มีการทำวิจัยเรื่องผลกระทบของเหมืองแร่โปแตสต่อสุขภาพของคนในชุมชน และจัดกิจกรรมเพื่อให้การศึกษาชาวบ้านถึงผลกระทบของเหมืองแร่โปแตส
3. ชาวบ้านไม่กลัว เพราะเชื่อมั่นและเข้มแข็ง ไม่เชื่อคนนอก
4. ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ : EIA)