โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

บทบาทองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทากับการจัดการสารเคมีการเกษตรและการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชุมชน : เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “บทบาทองค์กรประชาชนกับการจัดการสารเคมีทางการเกษตร” 10 – 11 พฤษภาคม 2550

            ในเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นหรือองค์การ บริหารส่วนตำบล (อบต.) หากมีคนที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพิษภัยสารเคมีการเกษตรเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงก็จะเป็นแนว ทางหนึ่งในการผลักดันหรือออกข้อบังคับการใช้สารเคมีการเกษตรในระดับชุมชนได้ ดังนั้นคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาจึงมีสมาชิกของสหกรณ์การ เกษตรยั่งยืนแม่ทาจำกัดเข้าไปเป็นคณะทำงานอยู่หลายท่าน

ที่มาภาพ : เพจแม่ทาออร์แกนิค

รู้จักตำบลแม่ทา…

            ตำบลแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 67,500 ไร่ พื้นที่ร้อยละ 80 เป็นหุบที่ล้อมด้วยเทือกเขาผีปันน้ำอันเป็นต้นกำเนิดห้วยเล็กๆหลายสายที่ไหล รวมเป็นลำน้ำแม่ทาหล่อเลี้ยงคนในชุมชน ประชากรประมาณ 4,900 คน ส่วนใหญ่ทำเกษตร เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกผัก สวนลำไย มะม่วง เลี้ยงวัว โดยใช้พื้นที่บริเวณหุบเขา คนแม่ทามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย พึ่งพิงและพึ่งพาอาศัยกันด้วยความเป็นเครือญาติ

การเกษตรของแม่ทา

สถานการณ์ช่วง 2510-2524 ใช้สารเคมีรุนแรง
            ชุมชนแม่ทาเริ่มทำเกษตรแผนใหม่อย่างเข้มข้นในช่วงปี 2510 โดยมีบริษัทอินทนนท์สนับสนุนปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมี และรับซื้อผลผลิตในราคาประกัน บริษัทเอายาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียมาให้ปลูกแทนพันธุ์พื้นเมือง หลังเก็บใบยาสูบส่งให้เตาบ่มแล้วบริษัทจะหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย แล้วถึงจ่ายเงินที่เหลือให้ชาวบ้าน ต่อมาบริษัทจ่ายเงินล่าช้า มีระบบคัดเกรดใบยาสูบมากขึ้น ชาวบ้านจึงปลูกยาสูบส่งให้บริษัทน้อยลงและหันไปปลูก ขิง กระเจี๊ยบ มันฝรั่ง อ้อย ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาวแทน พอปี 2513 มีถั่วลิสงพันธุ์ไทนานเข้ามาปรากฏว่าได้ผลผลิตดี ชาวบ้านหันมาปลูกถั่วลิสงมากขึ้น ปี 2518 บริษัท ไทยแอมยาสูบ จำกัด ได้เอายาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียมาส่งเสริมอีกครั้งและใช้ทุนที่สูงกว่าเดิม เพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นช่วงเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เข้ามาสนับสนุนเงินกู้ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกยาสูบและใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปริมาณมาก ปี 2524 เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลได้นำข้าวพันธุ์ กข. 6 มาส่งเสริมทดแทนพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและต้องใช้ปุ๋ยเคมี มีบริษัทธุรกิจเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่อบรรจุกระป๋อง จนกระทั่งข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชหลักของชุมชน

            ปี 2535 เริ่มลด ละ และเลิกการใช้สารเคมีการเกษตรในปี 2535 ชุมชนแม่ทาได้รวมตัวกันเพื่อลด ละ เลิกการใช้สารเคมีการเกษตร หลังพบว่าการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตสูง ดินเสื่อมโทรม สุขภาพทรุด จนปัจจุบันแม่ทากลายเป็นชุมชนแบบอย่าง เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเองเป็นหลัก และชุมชนเชื่อว่า ”เกษตรกรรมยั่งยืน” เป็นการทำเกษตรที่อยู่บนศีลธรรม เป็นมิตรกับธรรมชาติ เป็นวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนแต่ดั้งเดิมมา ทำให้พึ่งพาตนเองได้ ใช้ทรัพยากรต่างๆ รอบๆ ตัวมาเป็นต้นทุนการผลิตโดยที่ไม่ต้องใช้หรือใช้เงินลงทุนน้อยลง จึงทำให้มีรายจ่ายลดลง ครอบครัวเป็นสุข สุขภาพแข็งแรง ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร สิ่งแวดล้อมได้รับการรักษาดูแล

            ดังนั้นวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นระบบปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรนั้นไม่ใช่แค่เทคนิคการทำมาหากินเท่านั้น แต่กลายเป็นองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงเรื่องราวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศาสนา และการเมืองท้องถิ่นให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน

การเมืองท้องถิ่นกับการรณรงค์พิษภัยสารเคมีการเกษตร

            “หากต้องการให้อบต.มีบทบาทสนับสนุนระบบ เกษตรกรรมยั่งยืน และมีข้อบังคับใช้สารเคมีการเกษตรในชุมชนนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ผู้นำและองค์กรชาวบ้านมีส่วนร่วมและบทบาทในการดำเนินงานของอบต. ส่วนเจ้าหน้าที่อบต.ต้องเข้าใจและเห็นด้วยกับหลักการแนวคิดระบบเกษตรกรรม ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีการเกษตรทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ” นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกอบต.แม่ทากล่าว

            การบริหารงานที่เน้นให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทและร่วมมือนั้น ส่งผลให้เกิดการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนโดยเฉพาะการทำเกษตรที่ต้องพึ่งพา ปัจจัยภายนอก ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ อันนำมาสู่แนวทางและนโยบายของ อบต. ต่อการสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการรณรงค์พิษภัยสารเคมีการเกษตร

การมีส่วนร่วมต้องเกิดทั้งในและนอก อบต.

            “เราสลายกรอบนิติบัญญัติ เราไม่มีฝ่ายค้าน แต่เราร่วมกันคิดกันในสภาตำบล ช่วงแรกมีปัญหาบ้าง เจ้าหน้าที่บางคนขอย้าย แต่เราต้องปรับตัวเอาทุกส่วนมาคุยกันเพื่อหาทางออก เจอกันครึ่งทาง มีการปรับการทำงานให้เจ้าหน้าที่ทำงานหลัก 60 % อีก 40 % ทำงานร่วมกับชุมชน ให้ลงพื้นที่เพื่อปรับทัศนคติและเกิดการเรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงของคนในชุมชน นอกจากนี้ในส่วนสำนักงาน อบต.บริการถ่ายเอกสารฟรี พิมพ์ซองผ้าป่าฟรี อีกด้วย”

            ในส่วนขององค์กรชาวบ้านก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานของ อบต. เช่น ร่วมออกข้อบัญญัติการจัดการป่าชุมชน การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และอื่นๆ

            ด้วยวิธีการดังกล่าวค่อยๆทำให้เจ้าหน้าที่ของอบต.ได้ศึกษาและเข้าถึงปัญหาของชุมชนมากขึ้น ชุมชนเองก็มีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของ อบต.

            ส่วนประเด็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการสารเคมีการเกษตร อบต.แม่ทาได้ร่วมกับชุมชนและสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด วางเป้าหมายให้ตำบลมีข้อบังคับว่าด้วยอาหารปลอดภัย ร้อยละ 50 ซึ่งนั้นหมายความว่าการทำเกษตรต้องปฏิเสธการใช้สารเคมี ซึ่งอบต.ต้องสนับสนุนให้เกิดรูปธรรมแปลงเกษตรที่ปลอดสารเคมี และมีข้อบังคับหรือข้อบัญญัติในการจัดการสารเคมีการเกษตรภายในชุมชน

            แต่เมื่อพิจารณากระบวนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวนั้น ต้องเกิดความร่วมมือจากชุมชน ซึ่งทาง อบต.แม่ทาได้ประสานให้สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัดเป็นฝ่ายปฏิบัติการสร้างรูปธรรมแปลง เนื่องจากสหกรณ์ฯ มีความพร้อมทางด้านความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคมากกว่า ส่วนอบต.แม่ทาจะเป็นกลไกในการสนับสนุนงบประมาณ และออกข้อบังคับหรือข้อบัญญัติการจัดการสารเคมีการเกษตร สหกรณ์ฯ จะจัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีกิจกรรมและงบประมาณให้กับอบ ต.เพื่อพิจารณาอนุมัติ แล้วสหกรณ์ฯ จึงดำเนินการตามแผน นอกจากนั้นอบต.ได้ร่วมกับสหกรณ์ฯ ในการรณรงค์ เผยแพร่ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับองค์กรชุมชนในประเด็นทางนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี พืชดัดแปลงพันธุกรรม และอื่นๆ

            “หลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ก็ถือว่าดีขึ้น แม้กระทั่งในเรื่องการจัดทำงบประมาณ ก็มีคณะกรรมการระดับตำบล ทั้งตัวแทนองค์กรชาวบ้าน สภาอบต. ตั้งงบประมาณร่วมกัน ซึ่งก็เห็นได้ว่าองค์การชาวบ้านเริ่มมีการตื่นตัวในการทำงานมากขึ้น” นายก อบต.แม่ทา กล่าว

บทความแนะนำ