โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

การปรับตัวเของเกษตรกรในภูมินิเวศทาม และพื้นที่น้ำท่วม

            ภูมินิเวศทาม เป็นระบบนิเวศในเขตลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูฝน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ตรงแอ่งกลางของภาคตามแนวลำน้ำหลัก 3 สาย คือ ลำน้ำมูลทางส่วนใต้ของภาค ลำน้ำชีทางส่วนกลางของภาค และลำน้ำสงครามทางส่วนบนของภาค องค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศนี้ คือ ลำน้ำและพื้นที่ทาม ซึ่งมีทั้งป่าทามและนาทาม เมื่อน้ำหลากเป็นพื้นที่รับน้ำทำให้น้ำท่วมขัง 3-4 เดือน จะมีบึงหรือกุดแทรกสลับ ชุมชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยการหาปลา นอกจากนี้มีป่าโนนทามหรือป่าดอนทามที่กระจายรอบพื้นที่ บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงจึงเป็นที่อาศัยและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ หากเป็นป่าที่ติดกับภูมินิเวศทุ่งจะมีพรรณไม้ เช่น สมอ(ส้มหม้อ) ยางนา สะแบง หากเป็นป่าที่อยู่ระหว่างเลิงกับหนอง ส่วนมากจะเป็นพื้นที่ไผ่ป่า หากเป็นป่าที่อยู่ใกล้กุดก็จะพบพรรณไม้ เบ็นน้ำ เสียว หูลิง ทม ไทร ฯลฯ ภูมินิเวศทามพบได้ในเขตจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดอุบลราชธานี

            ในบางชุมชนกลับได้รับผลกระทบที่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของรัฐ อย่างเช่น ชุมชนบ้านโนนหนองลาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ชุมชนที่อาศัยกันอยู่ประมาณ 40 หลังคาเรือน ต้องประสบภัยน้ำท่วมขังในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนทุกปี จากการปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใต้เขื่อนประมาณ 80 กิโลเมตร และเป็นชุมชนที่อยู่บริเวณที่ลำน้ำห้วยทรายมาบรรจบกับลำน้ำพอง จึงทำให้น้ำไหลเข้ามาท่วมชุมชนที่ชาวบ้านเรียกว่า บึงปากเขื่อน ลำห้วยหนองปลา เช่นเดียวกันกับชุมชนที่อาศัยในภูมินิเวศทามที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเปิดน้ำจากเขื่อน อย่างชุมชนบริเวณใต้เขื่อนราศีไศล

คุณอำพัน จันทศร เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดศรีสะเกษ

            พื้นที่ตั้งอยู่ในภูมินิเวศทาม ลำน้ำมูล มีพื้นทำนาอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำจดคันดินเขื่อนราศีไศลและปากแม่น้ำเสียว จังหวัดศรีสะเกษ คุณอำพัน มีพื้นที่นาทั้งหมด 7 ไร่ ปลูกข้าวอายุสั้นโดยเริ่มปลูกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม หากไม่ปลูกข้าวในช่วงดังกล่าวน้ำจะท่วมพื้นที่ข้าวในช่วงกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ฤดูน้ำหลากท่วมทุกปี

ข้อจำกัดการทำนาในพื้นที่

            การทำนาในพื้นทามได้มีการปรับตัวที่หลากหลายด้วยหลายปัจจัย กล่าวคือ แต่เดิมการทำนาในพื้นที่ทามจะปลูกข้าวนาปี พันธุ์หอมมะลิ 105 แม้ว่าพื้นที่น้ำท่วม เพราะหากปลูกข้าวพันธุ์อื่นไม่มีตลาดรองรับ แต่เมื่อราคาข้าวหอมมะลิ 105 ตกต่ำ ได้ปรับตัวมาทำข้าวพันธุ์อายุสั้น เช่น ข้าวเหนียว กข.6  ข้าวหอมประทุม ข้าวชัยนาท ฯลฯ แม้ว่าปรับเป็นข้าวอายุสั้นแต่ก็ไม่ตอบโจทย์ของคนในพื้นที่ เพราะลักษณะเมล็ดข้าวไม่เป็นที่ต้องการของโรงสี ทำให้ต้องขายข้าวในราคาที่ต่ำมาก ทำให้พี่น้องบางส่วนกลับไปปลูกข้าวหอมมะลิเหมือนเดิมแม้ว่าไม่ได้ราคาก็ตาม แต่ก็ยังได้ราคาว่าการปลูกข้าวอายุสั้น

 การปรับตัวรับมือกับข้อจำกัดการทำนาในพื้นที่

            การปรับตัวที่สำคัญคือ การจัดตั้งตลาดสีเขียว เพื่อนำผลผลิตทั้งพืชผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป และข้าวมาร่วมจำหน่าย ดังภาพที่ 2 เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเชื่อมประสานและขายผลผลิตโดยตรงกับผู้บริโภค ในที่สุด ชุมชนได้มีการปรับระบบการผลิต ที่สร้างความหลากหลายทั้งพืชผักและพันธุ์ข้าวมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมการปลูกข้าวนั้นจะปลูกผันไปกับความต้องการของโรงสีเป็นหลัก พันธุ์ข้าวที่จำหน่ายในตลาดเขียว เช่น ข้าวเหนียวกะทิ ข้าวเหนียวดำลืมผัว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ฯลฯ ดังภาพที่ 3

ภาพ 2 ตลาดเขียวของกลุ่มราษีไศล
ภาพ 3 การทำนาเพื่อตลาดค้าปลีก

            ในส่วนพื้นที่ทำนา 7 ไร่ของคุณอำพันนั้น ได้ปรับพื้นที่นาข้าวบางส่วน เป็นที่ขังหอยเชอร์รี่เพื่อนำหอยเชอร์รี่ไปแปรรูปทำอาหารขายในตลาดเขียว เนื่องจากหอยเชอร์รี่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและได้ราคาที่ 60-80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาหอยเชอร์รี่ระบาดกัดกินต้นข้าวได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดีด้วย ดังภาพที่ 4 ส่วนหอยจุ๊บขายที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม

            จากการจัดการแบบนี้ทำให้มีรายได้ประมาณ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าได้รายได้มากกว่าการขายข้าว โดยที่ผ่านมามีการแปรรูปข้าวไปขายที่ตลาดเป็นข้าวจี่ และนึ่งข้าวเหนียว หรือหุงข้าวเจ้าขาย

ภาพ 4 การหารายได้เสริมจากการแปรรูปหอยเชอร์รี่

คุณสวาท อุปฮาด เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดขอนแก่น

            พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของสวาท อุฮาด อยู่ในบ้านโนนหนองลาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ถึงแม้พื้นที่อยู่ว่าอยู่บริเวณที่เรียกว่าโนน แต่ชุมชนที่อาศัยกันอยู่ประมาณ 40 หลังคาเรือน ต้องประสบภัยน้ำท่วมขังในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม อันเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใต้เขื่อนห่างจากเขื่อนประมาณ 80 กิโลเมตร และชุมชนเป็นบริเวณที่ลำน้ำห้วยทรายมาบรรจบกับลำน้ำพองจึงทำให้น้ำไหลเข้ามาท่วมชุมชนที่ชาวบ้านเรียกว่า บึงปากเขื่อน ลำห้วยหนองปลา

            สวาท ได้ชักชวนคนในชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยมีการวิเคราะห์กันว่า ระบบการผลิตเดิมนั้นมีความเสี่ยงทั้งในด้านการลงทุนการผลิต รายได้ และภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนการผลิตที่เริ่มในปี 2557 จนถึงปี 2559 นั้น ผลผลิตยังได้ไม่เต็มที่ แต่หลังจากนั้นมาเข้าใจว่า ระบบนิเวศในพื้นที่ เริ่มทำงานทำให้การเจริญเติบโตในแปลงการผลิตดีขึ้น มีการผลิตที่หลากหลายทั้งนาข้าว พืชผักและการเลี้ยงสัตว์ เห็นได้ว่า ในแปลงนาต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี แม้ว่าไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือพ่นยาฆ่าหญ้า เมื่อครอบครัวของสวาททำผลผลิตได้ดี ทำให้คนในชุมชนสนใจเข้ามาสอบถามและแลกเปลี่ยน เรื่องการจัดการว่าทำอย่างไร

            จนถึงวันนี้ ยังคงมีคนที่ให้ความสนใจมาเยี่ยมแปลงการผลิตมากขึ้น ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เชฟ และผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้เข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนระบบการจัดการแปลงการผลิต ในช่วงปี 2561 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจแปรรูปข้าวเป็นเหล้าชุมชน

การจัดการด้านตลาด

            หลังจากแปลงการผลิตเริ่มทยอยให้ผลผลิต ก็เริ่มสร้างรายได้จากการไปร่วมจำหน่ายที่ตลาดเขียวขอนแก่นที่เปิดในช่วงปีเดียวกัน ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์เหล้าชุมชน และผลิตภัณฑ์อื่นของชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกันกับคนในพื้นที่ในการนำเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้าน เชิญคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์ของดีในชุมชน รวมถึงการจัดเทศกาลกินปลาเพื่อเป็นการสื่อสาร บอกถึงเรื่องราวของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ หลังจากการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้มีคนที่สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพิ่มขึ้น คนในชุมชนเริ่มเห็นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยการปรับตัวจากการผลิตอย่างเดียวเริ่มแปรรูปและทำตลาดด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีช่องทางตลาดออนไลน์ที่ส่งผลผลิตให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และเชฟ

การรับมือภาวะน้ำท่วม

            การเกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากภัยพิบัติ แต่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานรัฐจึงทำให้น้ำท่วม ทำให้เรียนรู้ว่าไม่สามารถพึ่งพาการจัดการหรือนโยบายรัฐได้ ถ้าทำนาแล้วหากเกิดน้ำท่วมก็ไม่ควรตั้งความหวังกับการจัดการของรัฐ ในการรับเงินชดเชยหรือสวัสดิการต่างๆ เพราะเกษตรกรจะไม่หลุดพ้นในปัญหาที่วนเวียนแบบเดิม ซึ่งไม่ต่างจากการติดกับดักระบบทุน อำนาจรัฐผูกขาด หากต้องการหลุดพ้นเกษตรกรต้องมีตัวตนของตัวเอง โดยต้องปรับระบบการผลิตให้สามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด

            อย่างผลกระทบในปี 2564 ภาวะน้ำท่วมทำให้คนในชุมชนต้องสูญเสียที่ดินไปประมาณ 2-3 ราย ซึ่งน้อยกว่าน้ำท่วมในปี 2560 ที่สูญเสียที่ดินมากถึง 7 ราย สำหรับแปลงการผลิตของสวาท ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีการเตรียมความพร้อมหลายด้านที่มีความยืดหยุ่นมาก เช่น การมีผลผลิตที่หลากหลาย มีการแปรรูปผลผลิตที่รวบรวมจากกลุ่มและเครือข่าย และมีตลาดระบายผลผลิต ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 7 ครอบครัวที่ส่วนใหญ่เป็นเครือญาตที่ปรับระบบการผลิตมาทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน

บทสรุป

            การมีชุมชนที่ตั้งอยู่ในภูมินิเวศทามซึ่งมีพื้นที่น้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลากแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องเผชิญกับน้ำท่วมขังมากกว่าการเกิดจากน้ำหลากตามธรรมชาติ ก็คือการบริหารจัดการน้ำของรัฐ การเปิดหรือปิดน้ำจากเขื่อนได้สร้างผลกระทบให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ด้านล่างของเขื่อน ซึ่งทำให้คนในชุมชนต้องมีการปรับตัว บทสรุปสำคัญคือ การรวมกลุ่มเพื่อพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหารที่หลากหลาย การเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูป ที่สำคัญการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรงผ่านตลาดชุมชน และการประสานผู้ประกอบการ หรือเชฟเพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มากที่สุด  

บทความแนะนำ