กรณีศึกษาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย
2. การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ
จากกระบวนการทัศน์หรือฐานคิดของเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิถีชีวิต การปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตมาสู่ระบบเกษตรยั่งยืน เป็นการฟื้นฟูการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนแบบแผนดังกล่าว ต้องมีเป้าหมายหรือเจตจำนงทางการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจคงไม่ได้มองเพียงรายได้ที่เข้ามาในครัวเรือนแต่เพียงอย่างเดียวจากการดำเนินงานโครงการนำร่องฯ พบว่า การพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาจากการลดต้นทุนการผลิตการผลิตการผลิตเพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มรายได้ การลดหนี้สินและการเก็บออมหรือการมีทรัพย์สิน (สมยศ ทุ่งหว้า และคณะ 2547 นันทิยา หุตานุวัตรและณรงค์ หุตานุวัตร 2544 ชลิตา บัณฑุวงศ์ 2547 และฝ่ายสนับสนุนและประสานงานวิจัย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 2547) รวมไปถึงการมองระบบเกษตรกรรมเป็น สวัสดิการอย่างหนึ่งของครอบครัว และชุมชนดังเช่นที่เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามได้บอกเล่าว่า
"การทำเกษตรยั่งยืนนั้น ถ้าจะให้ดีต้องมีทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย เพราะจะช่วยเกื้อหนุนกัน คือ เราได้พืชผักผลไม้ในแปลงช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งใช้หนี้โครงการคืน และถือเป็นเงินออมของครอบครัวได้อีกด้วย" (วลัยพรอดออมพาณิชและคณะ 2547 : 62 )
คำพูดดังกล่าวสะท้อนถึงการมองวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ ซึ่งในแต่ละครอบครัวและชุมชน มีความแตกต่างกันในระดับการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ ดร.บัญชร แก้วส่องได้นำเสนอภาพของเศรษฐกิจของชุมชน ในงานสรุปบทเรียนโครงการนำร่องฯ ว่า
"อาจจัดกลุ่มวิถีการผลิตได้ 5 กลุ่ม คือ มีระดับอึดอยู่อึดกินหรือไม่พออยู่พอกิน ระดับพอได้อยู่ได้กินและเมื่อพัฒนาระดับเศรษฐกิจเหนือกว่านี้ก็จะไม่ทอดทิ้งญาติพี่น้อง โดยจะมีคำพูดที่ว่า พอได้ปันพี่ปันน้องได้ทำบุญทำทาน พอระดับเศรษฐกิจที่สูงไปอีกระดับหนึ่งก็จะบอกว่าพอได้ใช้ได้สอยและสุดท้ายเมื่อมีมากขึ้นก็มีคำว่า พอได้เก็บได้ออมส่งลูกเรียน"
การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมนั้น อาจพิจารณาในหลายประเด็น มุมมองในเรื่องนี้โดยส่วนใหญ่มีข้อสรุปไปในทางเดียวกัน คือ การมองที่การลดต้นทุนการผลิต การลดรายจ่ายค่าอาหาร การมีอาหารกินอย่างเพียงพอ และคุณภาพ ฯลฯ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด อาจสรุปได้ว่า มีรูปธรรมดังนี้
2.1 ในด้านการลดต้นทุนการผลิต
เกษตรกรดำเนินการโดยความพยายามพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต จากเดิมที่ต้องซื้อนับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ กลายเป็นความพยายามพึ่งตนเอง โดยการพัฒนาความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ การคัดเลือก และการพัฒนาพันธุ์ความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ กล่าวได้ว่า ได้พัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลาที่โครงการนำร่องฯ ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ซึ่งทำให้มีการเก็บรักษาพันธุกรรมพื้นบ้านมากขึ้น ดังเช่นจากการมีพันธุ์ข้าวไว้ในครอบครัวและชุมชนเพียงไม่กี่สายพันธุ์ในช่วงระยะเริ่มต้นโครงการแต่จากการวิจัยร่วมกันในหลายภูมินิเวศน์ โดยเฉพาะภูมินิเวศน์ในภาคอีสานทั้ง 9 ภูมินิเวศน์ ทำให้มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเพิ่มมากขึ้นอีกหลายสิบสายพันธุ์ และไม่เพียงแต่เฉพาะพันธุ์ข้าว แต่รวมถึงพันธุ์ผักพื้นบ้าน พันธุ์สัตว์ และพันธุกรรมของผลไม้พื้นบ้านในภูมินิเวศน์สายบุรี ภาคใต้ตอนล่างก็ได้รับการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญและทำให้เกิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชเหล่านั้น
2.2 ความมั่นคงทางอาหาร
ความขาดแคลนไม่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตในการบริโภค เป็นปัญหาของเกษตรกร อันเนื่องมาจากการมุ่งเน้นให้มีรายได้เข้ามาอย่างเดียว แต่จากการทำเกษตรยั่งยืน พบว่า ความหลากหลายของแปลงเกษตรนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในครอบครัวของเกษตรกรมากขึ้น ในเวทีถอดบทเรียนของเกษตรกรสมาชิกในโครงการในทุกภูมินิเวศน์สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้าร่วมโครงการ ทำให้พึ่งตนเองได้ มีอาหารการกินโดยไม่ต้องไปซื้อ โดยเฉพาะพืชผักสวนครัว แต่หากพิจารณาในด้านความมั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านอาหารที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ทั้งในด้านปริมาณคือความพอเพียง และด้านคุณภาพอาหารที่ที่ปราศจากสารพิษตกค้าง รวมทั้งการมีอาหารที่หลากหลาย มีคุณค่าต่อร่างกาย ตัวเลขจากการประเมินผลโครงการได้บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ความพอเพียงของอาหารซึ่งเป็นอาหารหลัก ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลา และเนื้อสัตว์นั้น พบว่า มีเพียงเนื้อสัตว์ที่มีการบริโภคพอเพียงลดลง แต่โดยรวมแล้วมีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น
2.3 การมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
รายได้ยังคงเป็นรูปธรรมที่จำเป็นต้องมีสำหรับเกาตรกรไทย แต่รายได้ที่เกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายได้รับ ไม่ใช่รายได้ที่เป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว และเมื่อหักกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนแล้วจะทำให้ขาดทุน แต่เป็นรายได้เล็กน้อยแต่มีได้ต่อเนื่อง ความหลากหลายของแบบแผนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตหลายประเภทมีการเพิ่มรายได้จากข้าว ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และประมงพื้นบ้าน รายได้ที่ได้รับจะเป็นรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน และรายปี (ณรงค์ คงมาก : 2546, ชลิตา บัณฑุวงศ์ : 2547) พืชผักที่จำหน่ายเป็นรายวัน โดยส่วนใหญ่เป็นพืชผักสวนครัว หรือผักพื้นบ้าน ส่วนที่ขายได้เป็นรายเดือน ราย 3 เดือนและราย 6 เดือน จะเป็นไม้ผลหรือสินค้าแปรรูป และสัตว์เล็ก เช่น ไก่ ปลา ฯลฯ หรือรายได้เป็นรายปี ซึ่งหมายถึงผลผลิตข้าว หรือไม้ผล รายได้ที่เข้ามาในครอบครัวมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเกษตรกรในกลุ่มก้าวหน้า และปานกลาง จากการประเมินผลของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้ศึกษาเกษตรกรในโครงการนไร่องฯ ด้วยพบว่า ครอบครัวที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืนนั้น ทำให้รายได้ในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น และสามารถลดต้นทุนการผลิต ทำให้รายได้สุทธิต่อเรือนเพิ่มขึ้น (สศช : 2547 หน้า 26) รายได้ที่เกิดขึ้นมาจากแปลงเกษตรยั่งยืน และจากป่าที่มีการอนุรักษ์ไว้หรือป่าชุมชน เช่น น้ำผึ้ง เห็ดป่า หน่อไม้ ฯลฯ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเกษตรยั่งยืนมีความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างแยกกันได้ยาก และเป็นปัจจัยที่จะได้พิจารณาในด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
2.4 การออมและสวัสดิการของเกษตรกร
ในด้านการออมนั้น การออมในรูปพัธุ์ไม้ และพันธุ์สัตว์ เช่น วัว ควาย หรือกระทั่งความสมบูรณ์ของท้องทะเลที่รักษาได้ ถือเป็นทุนของชุมชนและสังคมไทย ที่จะมีฐานทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาในภาคเกษตรต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในด้านการออมนั้น การรวมกลุ่มเกษตรกรในโครงการ ได้มีการจัดทำกลุ่มออมทรัพย์ในทุกพื้นที่ กลุ่มดังกล่าว นอกจากจะทำหน้าที่ช่วยเหลือในด้านการเกษตรแล้ว ยังมีดอกผลที่ปันผลให้กับสังคม ชุมชน เช่น การสร้างความช่วยเหลือกันของชุมชนในการทำงานเพื่อส่วนรวมของชุมชน หรือเป็นกองทุนค่าใช้จ่ายสำหรับงานภายในชุมชน
ที่มา : หนังสือเศรษฐกิจแห่งความสุขและการแบ่งปันว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนและชุมชน หัวข้อเกษตรกรรมยั่งยืน การฟื้นฟูเศรษฐกิจพึ่งตนเอง : กรณีศึกษาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย เขียนโดย คุณสุภา ใยเมือง ประธานมูลนิธิเกาตรกรรมยั่งยืน(ประเทสไทย)