ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parkia speciosa Hassk.
ชื่อวงศ์ : Leguminosae
ชื่อสามัญ : Bitter bean ,Twisted cluster bean ,Stink bean
ชื่ออื่นๆ : ปะตา, ปัตเต๊าะ ,ปาไต ,ตอ
ถิ่นกำเนิด :
ภาคใต้ของไทย พม่าตอนล่าง มาเลเชีย และอินโดนีเชีย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น สะตอเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงได้มากถึง 30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอน รูปทรงลำต้นเพราตรง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ผิวเปลือกแตกสะเก็ดขนาดเล็กหรือเป็นร่องตื้นๆขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่งค่อนข้างน้อยจึงแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง กิ่งแตกมากบริเวณเรือนยอด
ใบ ใบสะตอเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น คือมีก้านใบหลักยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ที่ประกอบด้วยก้านใบย่อย 14-24 คู่ แต่ละก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร มีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 30-38 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นขอบขนาน สีเขียวสดถึงเขียวเข้มตามอายุใบ แผ่นใบเรียบ ปลายใบมน มีติ่งเล็กตรงกลางของปลายใบ
ดอก ดอกสะตอออกดอกเป็นช่อ ยาว 30-50 เซนติเมตร ขนาดช่อ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนดอกจะยาว 5-7 เซนติเมตร ขนาดดอก 2-4 เซนติเมตร ดอกประกอบด้วยกลีบดอกที่มีลักษณะเป็นหลอดเรียงติดกันในแนวตั้ง โคนดอกเป็นเกสรตัวผู้ ส่วนถัดมาเป็นเกสรชนิดสมบูรณ์เพศ ดอกจะเริ่มออกประมาณเดือนเมษายน และอีกประมาณ 70 วัน ก็สามารถเก็บฝักได้ และจะให้ฝักต่อเนื่องจนถึงอายุ 15-20 ปี
ผล และเมล็ด ผลสะตอมักเรียกว่า ฝัก ที่มีลักษณะแบน มีทั้งชนิดที่เป็นฝักบิดเป็นเกลียว และชนิดที่แบนตรง ฝักยาวประมาณ 25-45 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร เปลือกฝักอ่อนมีสีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ตรงกลางฝักเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่เรียงซ้อนกันเป็นตุ่มนูน เมล็ดมีลักษณะคล้ายหัวแม่มือ หรือรูปรีค่อนข้างกลม ขนาดเมล็ดทั่วไป กว้างประมาณ 2.2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ให้รสหวานมัน และมีกลิ่นฉุน และเมื่อแก่จะเริ่มเหลือง และดำในที่สุด ทั้งนี้ สะตอจะให้ฝักมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
การขยายพันธุ์ :
การปลูกสะตอนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด
การใช้ประโยชน์ :
– เมล็ดสะตอนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก
– สะตอนอกจากปลูกไว้สำหรับนำเมล็ดมาประกอบอาหารแล้วยังช่วยเป็นร่มเงาได้ด้วย และที่สำคัญเป็นไม้ที่สร้างรายได้งามของชาวสวนในภาคใต้
– เมล็ดใช้ผสมกับผักหรือเศษอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงสุกร
ที่มา : https://puechkaset.com