ในสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องคิดและหาแนวทางปรับวิถี ทั้งการดำรงชีวิตและอาชีพ เพื่อตั้งรับให้อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ภาคการเกษตรมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรเคมีมาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมีทั้งระบบการผลิตจนกระทั่งการแปรรูป ซึ่งระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนี้ นับวันยิ่งได้รับความสนใจทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม
ประสบการณ์สำคัญที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมยั่งยืน คือ การพัฒนาระบบการทำเกษตรที่ยึดมั่นวิถีเกษตรที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ที่เชื่อมโยงทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยมีระบบคุณค่าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม สิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน
บทเรียนสำคัญ
จากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ของเกษตรกรและผู้คนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้สรุปเป็นบทเรียนสำคัญ ประกอบด้วย
– การพัฒนาระบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยยึดมั่นวิถีเกษตรที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ โดยมีการยกระดับและพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก สร้างความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ในระบบแปลงเกษตร และผสมผสานกิจกรรมการผลิตที่เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างสูงสุด
– การพัฒนาศักยภาพและบทบาทในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ให้ความสนใจกับการเก็บและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ จากการวิเคราะห์สถานการณ์นโยบายระหว่างประเทศในประเด็นการเจรจาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเป็นเจ้าของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากภายนอก รวมทั้งแนวโน้มการเข้ามาควบคุมและครอบครองเมล็ดพันธุ์ของบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นต้นทุนของปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนั้น เกษตรกรได้มีการรวมตัวในการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ หรือวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ของชุมชน อันเป็นสิทธิการใช้ประโยชน์ของเกษตรกรทั้งจัดจำหน่าย แลกเปลี่ยนและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์
– การสร้างและจัดการตลาดโดยเกษตรกรเอง ตลาดเขียว หรือ ตลาดชุมชน ได้ถูกพัฒนาขึ้นในหลายพื้นที่ หัวใจสำคัญอยู่ที่การเป็นเจ้าของตลาด โดยกลุ่มเกษตรกรได้นำผลผลิตที่ปลอดภัยมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ตลาดที่เกิดขึ้นนี้เป็นมากกว่าการซื้อ-ขาย แต่มีการสื่อสารรูปธรรมของการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อคุณภาพของผลผลิต เชื่อมโยงสู่ประเด็นเรื่องสุขภาพ รวมทั้งผลิตอาหารที่หลากหลาย ตลาดได้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ระหว่างกันของเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภค และเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันทางวิชาการ เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรได้เรียนรู้ทั้งการผลิต การตลาด การจัดการผลผลิต การแปรรูป เพื่อยกระดับสร้างทางเลือกให้กับผลผลิตในแปลงมากขึ้น
จากประสบการณ์ดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของภาคเกษตรกรรม โดยการปรับระบบการทำเกษตรเคมีมาสู่การผลิตแบบยั่งยืน ซึ่งส่งผลในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นแนวทางการลดความเสี่ยงจากสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทั้งยังเป็นการรักษาฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนเกษตรกร ชุมชน และสังคมโดยรวม
ที่สำคัญกว่านั้น แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน ได้เป็นแรงจูงใจสำหรับเกษตรกรทั้งที่กำลังคิดจะปรับระบบการทำเกษตร และ/หรือ คิดเริ่มต้นทำการเกษตร ทั้งจากวิกฤตความไม่มั่นคงด้านอาชีพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในอีกด้านหนึ่ง ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จึงเป็นโจทย์ร่วมกันของผู้คนในสังคม ผู้บริโภคต้องมองว่าตนเองเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ผู้บริโภคต้องรู้จักที่มาของแหล่งอาหาร สนับสนุนการบริโภคอาหารท้องถิ่น รวมถึงการมีนโยบายรัฐที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง