ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะสภาวะฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง และช่วงอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเติบโตของพืชนั้นเปลี่ยนแปลงไป ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกษตรกรมีการปรับตัวด้วยการผลิตที่หลากหลายเพิ่มขึ้น โดยอาศัยชุดประสบการณ์ที่เรียนรู้ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ รวมทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้มากที่สุด เพื่อยังคงผลิตให้มีอาหารที่เพียงพอและสามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง
ดังกรณีของการทำนาบนพื้นที่สูงของเกษตรกรรุ่นใหม่บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ “พี่แซวะ” ศิวกร โอโดเชา ที่มีแนวคิดและหลักการทำนาบนพื้นที่สูงที่น่าสนใจดังนี้
แนวคิดก่อนที่จะปรับพื้นที่การผลิตบางส่วนมาทำนานั้น เดิมพื้นที่เป็นการจัดการเชิงวนเกษตรที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติ บางส่วนเป็นไม้ผลที่ปลูกไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่ด้วยความต้องการเข้าถึงอาหารโดยเฉพาะข้าวให้มีเพียงพอสำหรับการบริโภคของครอบครัว จึงปรับพื้นที่บางส่วนมาเป็นพื้นที่ทำนามากกว่าปลูกข้าวไร่เนื่องจากการทำนามีความมั่นคงมากกว่าข้าวไร่ที่สามารถจัดการแปลงได้อย่างมีระบบ เช่น การควบคุมระดับน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินโดยการใส่มูลสัตว์ และสามารถผลิตข้าวได้มากกว่าข้าวไร่ โดยการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำนาในช่วงเริ่มต้นนั้น พื้นที่ทำนาอยู่เฉพาะบริเวณริมลำห้วยที่มีการผันน้ำในระบบเหมืองฝาย มีระบบการผันน้ำทำนาจากที่สูงลงมาที่ต่ำเพื่อทยอยทำนาให้เสร็จไปทีละแปลง
อย่างไรก็ตามด้วยสถานภาพการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป จากการมองบริบทการใช้น้ำที่ยั่งยืนเป็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่ใครมีทุนมากเข้าถึงน้ำมาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่เกษตรกรในพื้นที่ทยอยลงทุนขุดสระน้ำเพื่อดึงน้ำจากอีกลำห้วยหนึ่งมาสูบไว้ในพื้นที่ตนเอง โดยอาศัยการต่อท่อพีวีซีดึงน้ำจากลำห้วยมาใช้ที่แปลงการผลิตโดยตรง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ได้ส่งผลให้พื้นที่นาที่อยู่ริมห้วยกลายเป็นนาร้าง ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศชุ่มน้ำของพื้นที่ที่มีแนวโน้มการลดลงอย่างต่อเนื่อง
กรณีแปลงนาของพี่แซวะ ในการจัดการนาบนพื้นที่ 12 ไร่ ได้แบ่งพื้นที่ทำนาออกเป็น 2 ส่วนในรูปแบบนาขั้นบันไดที่มีคันนาในแต่ละขั้นกว้างพอในการช่วยซึมซับน้ำที่ไหลผ่าน และสามารถปลูกพืชอื่นได้ในพื้นที่คันนาแต่ละขั้น
โดยส่วนแรกเป็นพื้นที่ใกล้กับลำห้วยควบคู่กับการขุดบ่อน้ำขนาดเล็กจุดที่ 1 เพื่อเก็บกักน้ำจากลำห้วยมาใช้ในช่วงฤดูทำนา และส่วนที่สองเป็นพื้นที่ไกลจากลำห้วยที่ใช้น้ำทำนาจากบ่อน้ำขนาดเล็กจุดที่ 2 เพื่อกักเก็บน้ำจากพื้นที่ทำนาในส่วนแรก โดยเลือกที่จะไม่ขุดสระขนาดใหญ่เก็บกักน้ำเนื่องจากขนาดของสระไม่ได้ตอบโจทย์ในบริบทพื้นที่ ซึ่งหากต้องขุดสระต้องใช้พื้นที่มากและใช้เวลาในการกักเก็บน้ำ ประกอบกับลักษณะพื้นที่สูงส่วนใหญ่มีศักยภาพในการเก็บน้ำได้ไม่ค่อยดีจึงเป็นเหตุผลที่เลือกขุดบ่อขนาดเล็กช่วงกลางของพื้นที่นา (บริเวณรอยต่อของพื้นที่ทำนาส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) เนื่องจากบริเวณที่ขุดเป็นบ่อน้ำเป็นร่องลำห้วยเดิมที่จะมีระบบน้ำซึมที่เอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ เช่น ควาย ปลาช่อน และเขียดภูเขา เพื่อมาช่วยสร้างระบบนิเวศของบ่อน้ำให้เป็นระบบนิเวศป่าธรรมชาติที่จะทำให้แหล่งน้ำในบริเวณนั้นไม่แห้งและยังคงมีน้ำอยู่ตลอดปี