โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       สถานการณ์ปัจจุบัน “ข้าวพื้นบ้าน” ได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวปกาอำปึล ข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวมะลิแดง ข้าวสังข์หยด ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวไข่มดริ้น ไม่นับรวมข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่คุ้นเคยกันมานาน รวมไปถึงข้าวดอย ที่ปลูกบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ ที่มีคุณลักษณะพิเศษเป็นข้าวเมล็ดเล็กป้อมคล้ายข้าวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น       
       อย่างไรก็ตาม แทบไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยเคยมีพันธุ์ข้าวนับหมื่นสายพันธุ์ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ที่ได้เริ่มดำเนินการสำรวจ รวบรวม เชื้อพันธุ์ข้าวจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีเชื้อพันธุ์ข้าวที่รวบรวมและอนุรักษ์ไว้ไม่น้อยกว่า 20,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ข้าวสายพันธุ์ดี ข้าวจากต่างประเทศ และข้าวป่า (www.ricethailand.go.th)
       แต่พันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์นั้น ถูกลดความสำคัญลงไป ทั้งด้วยการส่งเสริมที่เน้นให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ดีที่พัฒนาปรับปรุงขึ้น และการตลาดที่กำหนดความนิยมของผู้บริโภคให้จำกัดอยู่เพียงข้าวไม่กี่ชนิดพันธุ์ อีกทั้งสภาพแวดล้อมในการทำนาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านบางพันธุ์ปรับตัวไม่ได้ และระบบการทำนาที่มุ่งเน้นการผลิตเชิงการค้า ตัวชาวนาเองได้ปรับเปลี่ยนฐานะเป็นเพียงแรงงานด้านการผลิต ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านลดน้อยลงไป

รวมตัวค้นหาและค้นคว้า

       ข้าวพื้นบ้านที่กลับมาเป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคในวันนี้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชาวนาที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีมานานกว่า 20 ปี ภายใต้ “เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก” ที่ได้พยายามค้นหาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ และค้นคว้ารวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ นำมาปลูกรักษาไว้ในแปลงนา เรียนรู้กระบวนการคัดเลือกพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้คุณภาพและเป็นพันธุ์แท้ตรงตามสายพันธุ์ ศึกษาและบันทึกข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จัดเวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค ไปจนถึงการรณรงค์ให้ข้อมูลกับสาธารณะและภาครัฐที่สนใจ

วางเป้าหมายรวมกัน

       ทั้งนี้ การฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของชาวนาเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ใน 4 ภาค ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกัน คือ ชาวนาและองค์กรชาวนาต้องเป็นเจ้าของพันธุ์อย่างแท้จริง ข้าวพื้นบ้านภายใต้วิถีเกษตรกรรมยั่งยืนต้องถูกยกระดับและถูกให้ความสำคัญในระบบการผลิต การตลาด และการบริโภค ที่สำคัญคือ นโยบายของภาครัฐต้องให้การยอมรับและสนับสนุน รวมทั้งรับรองสิทธิของประชาชนในการเป็นเจ้าของและพัฒนาพันธุกรรมท้องถิ่น
       ถึงวันนี้ ข้าวพันธุ์พื้นบ้านได้ถูกพัฒนาและยกระดับด้วยชาวนาและองค์กรชาวนา มีความรู้ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู มีกระบวนการพัฒนาการใช้ประโยชน์ มีการแปรรูปมาเป็นแป้งข้าว สำหรับการทำขนมต่างๆ ตามคุณสมบัติที่เหมาะสมของสายพันธุ์แต่ละชนิด เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม นำข้าวนครชัยศรี ที่ข้าวสารมีรสชาติดี กลิ่นหอมและนุ่มกินอร่อย เมื่อมาแปรรูปเป็นแป้งข้าวแล้วมาทำขนมครก ขนมกล้วย จะได้รสชาติที่ดีอร่อย หรือกลุ่มคนที่ชอบทำเบอเกอร์รี่ ได้นำแป้งข้าวพื้นบ้านหลากหลายชนิด ไม่ว่าแป้งข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนกดำ มะลิแดง เมล็ดฝ้าย เหนียวแดง และข้าวพันธุ์อื่นๆ มาทำพิซ่า ขนมปัง มัฟฟิน ที่กำลังได้รับความนิยมในวันนี้ เพราะดีต่อสุขภาพ ปลอดสารกูลเตน เป็นต้น ซึ่งการฟื้นกลับมาของข้าวพื้นบ้านนี้เกิดขึ้นทั้งจากการค้นหา ค้นคว้า พัฒนา และยกระดับในคุณสมบัติเด่นของข้าวพื้นบ้านแต่ละสายพันธุ์

ข้าวพื้นบ้าน..ยังต้องเดินหน้าต่อ

       ข้าวพื้นบ้านยังคงต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง คัดเลือก ต่อยอด การแปรรูป และการใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป
       ตัวอย่างกรณี กลุ่มข้าวไร่และผักปลอดภัยเทพา” เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดสงขลา เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรจำนวน 50 คน ใน 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ที่ตระหนักเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวไร่ และพันธุ์ผักท้องถิ่นที่เคยปลูกผสมผสานไปในแปลงยางพารา ซึ่งได้ลดหายไปจากแปลงตั้งแต่ช่วงปี 2524 หลังการสนับสนุนที่ให้ทั้งเงินทุนซื้อกล้ายางพันธุ์ผสม ซื้อปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืชเพื่อปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวในแปลง ส่งผลให้ความรู้และภูมิปัญญาการจัดการเดิมที่ชุมชนเคยมีหายไป พืชผักหลากชนิดในแปลงที่มีทั้งสะตอ ลูกเหนียง มะพร้าว สูญหายไป เช่นเดียวกันกับการไม่ปลูกข้าวไร่และพืชตระกูลถั่วหลากชนิดในแปลงยางพาราขนาดเล็กที่อายุไม่เกิน 3 ปี ที่เดิมเคยทำกัน
       ในปี 2560 เป็นต้นมา กลุ่มแกนนำของบ้านคลองยอง ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา ได้นำพันธุ์ข้าวไร่พื้นบ้าน มาปลูกในแปลงยางพาราขนาดเล็ก และแปลงที่ทิ้งว่างเปล่าไว้ พบว่าข้าวไร่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี จึงมีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจ และนำพันธุ์ข้าวไร่มาปลูกขยายเพิ่มขึ้น ถึงต้นปี 2563 มีการสรุปบทเรียนของการผลิตข้าวไร่ที่ได้ขยายการปลูกไปยังอำเภออื่นๆ อีก 3 อำเภอ คือ อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย พบว่ามีพันธุ์ข้าวไร่ที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 15 สายพันธุ์ในพื้นที่กว่า 500 ไร่ นั่นหมายถึง การให้ความสำคัญและได้ฟื้นฟูนำพันธุ์ข้าวไร่กลับคืนมา หลังจากข้าวไร่ลดลงและสูญหายไปกว่า 30ปี การคืนกลับมาของข้าวไร่ ส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องรื้อฟื้นภูมิปัญญาเดิม และนำความรู้ใหม่ทั้งการคัดพัฒนาและจัดการพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพดี วิธีการปลูกที่ดี การดูแลจัดการโรคและแมลงต่างๆ เข้ามาผสานด้วยกัน

ฟื้นข้าวพื้นบ้าน การคืนกลับมาของวิถีแห่งความสุข

       ปี 2564 ช่วงกลางเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ข้าวไร่ของสมาชิกในกลุ่มพร้อมเก็บเกี่ยว จึงได้เกิดการนัดหมาย เพื่อร่วมด้วยช่วยกันเก็บข้าวไร่ และพากันเก็บหาพืชผักในแปลง ปลาในหนองหรือลำห้วยทำอาหารท้องถิ่นกินกัน จัดกิจกรรมเรียนรู้ให้เด็กๆ ในชุมชนลงแปลงนาทั้งเก็บข้าวเก็บผัก
       การช่วยเหลือระหว่างกันเป็นข้อตกลงร่วมของกลุ่มซึ่งไม่ได้เพียงการเก็บข้าวเท่านั้น แต่กลุ่มจะช่วยกันตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์สำหรับปลูก ช่วยกันบำรุงดิน ช่วยกันปลูก กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้ช่วยแก้ปัญหาระหว่างข้าวเจริญเติบโต สมาชิกในกลุ่มต่างเห็นพ้องกันว่า “เป็นความสุข มีความสนุก และได้ความรู้ การช่วยเหลือแบ่งปันของกลุ่มในทุกๆ เรื่อง เหมือนได้วิถีชีวิตที่ดีกลับคืนมา”
       
กระบวนการฟื้นข้าวพื้นบ้านของกลุ่มข้าวไร่และผักปลอดภัยเทพานี้ ถือเป็นต้นแบบหนึ่งที่สามารถฟื้นฟูพันธุ์ข้าวไร่กลับคืนมา โดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์สมาชิกของกลุ่มให้เกิดความกลมเกลียว การช่วยเหลือ แบ่งปันเกื้อกูล ภายใต้ข้อตกลงในการวางเป้าหมาย การวางแผนกิจกรรม การประสานความร่วมมือกับภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน และมีแนวโน้มว่า มีเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจและเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่ในการฟื้นฟูพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านไปยังพื้นที่อื่นๆ

       และด้วยแนวทางนี้ได้เพิ่มความหลากหลายของพืชผักพื้นบ้านที่นำมาสู่ความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและคนในชุมชน อีกทั้งเป็นแนวทางการลดความเสี่ยงจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

 

บทความแนะนำ