โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ หรือการจัดทำแผนนโยบายใดๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเมือง เพราะแผนหรือนโยบายนั้นๆ จะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และความอยู่รอดดของประชาชน

        แต่กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กลับไม่มีมิติทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยตามนิยามที่ว่า การบริหารชีวิตสาธารณะโดยประชาชนกันเองอย่างแท้จริง ด้วยกรอบแผนฯ 13 ซึ่งดำเนินภายใต้แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีนั้น ได้กล่าวถึงสถานะของประเทศและผลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในประเด็นยุทธศาสตร์ความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องการเมืองโดยตรง ไว้ว่าไทยมีระดับความมั่นคงปลอดภัยค่อนข้างต่ำ มีปัญหาความเชื่อมั่นในรัฐและความขัดแย้งทางความคิดในสังคม เกิดการโจมตีและคุกคามทางไซเบอร์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาความสงบและความมั่นคงของประเทศ จึงต้องมีการรักษาความสงบภายใน เพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับ โดยกองทัพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาคเอกชน และประชาชน ต้องร่วมกันบูรณาการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาความมั่นคง ให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติ

        จึงเห็นได้ว่าการนิยามความหมาย “ความมั่นคง ยังคงให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของชาติ” ซึ่งเป็นการลดทอนความมั่นคงในมิติอื่นๆ เช่น ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงในการบริหารจัดการชีวิตสาธารณะโดยประชาชนเอง ฯลฯ แต่กลับกลายการสืบทอดเผด็จการซึ่งกลายเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เหมือนที่ผ่านมา อย่างเช่นการนำเสนอว่า ความขัดแย้งทางความคิดในสังคมที่เกิดขึ้นเกิดจากการคุกคามทางไซเบอร์ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงและความสงบของประเทศ ดังนั้น จึงต้องควบคุมสื่อในการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการควบคุมความคิดเห็นของประชาชนที่แตกต่างจากรัฐ นี่เป็นการลดทอนความเป็นประชาธิปไตย และยังคงให้ความสำคัญกับกองทัพ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่เข้ามามีบทบาทในการดูแลและจัดการความมั่นคงให้กับชาติ

      ซึ่งประเด็นเหล่านี้ กล่าวได้ว่ากรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 13 ในมิติทางการเมืองยังคงเป็นไปในลักษณะรัฐรวมศูนย์ ที่กลไกระบบบริหารจัดการของรัฐได้เข้ามาจัดการชีวิตสาธารณะในทุกมิติทุกด้าน ภายใต้นิยามความมั่นคงที่ลดทอนความเป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ในกรอบแผนฯ 13 ได้กล่าวถึงกลไกการปฏิรูปการบริหารภาครัฐ การมีแผนบูรณาการร่วมกันระดับจังหวัด องค์กรเอกชน และภาคประชาชนแล้วก็ตาม แต่หากมองข้อเท็จจริงเห็นได้ว่ารัฐไม่สามารถจัดการชีวิตสาธารณะผู้คนให้อยู่ดีมีประสิทธิภาพได้ ไม่ให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรของชุมชนได้ด้วยตนเอง ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ฯลฯ แต่ยังคงควบคุมและบริหารจัดการภายใต้กลไกของรัฐ

        ดังนั้น ข้อเสนอต่อกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 13 ต้องมีมิติทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต้องชี้ให้เห็นถึงปัญหากลไกการบริหารจัดการของภาครัฐที่เกิดขึ้น  ต้องนำเสนอปัญหาความขัดแย้งการจัดการทรัพยากรที่เกิดขึ้น ปัญหาวิกฤตต่างๆ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอื่นๆ ที่สำคัญ ต้องรับรองสิทธิในการบริหารจัดการชีวิตกันเอง ซึ่งเป็นกลไกการถ่ายโอนอำนาจลงล่างมากกว่าการยึดอำนาจไว้เพียงส่วนบน

บทความแนะนำ