โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

           คนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่เริ่มให้ความสำคัญกับงานพันธุกรรมพื้นบ้านมากขึ้น ทั้งในลักษณะปัจเจกบุคคล  หรือการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่เป็นเกษตรกรเต็มตัวและบางรายทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม องค์ความรู้/เทคนิคในงานพันธุกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็นการสานต่อองค์ความรู้จากครอบครัวหรือเกษตรกรแกนนำในพื้นที่ และบางส่วนเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น โซเซียลมีเดีย การเข้าร่วมอบรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ฯลฯ “งานพันธุกรรมนั้นถือเป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องใส่ใจในแต่ละขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณภาพ” เป็นเสียงคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนในการทำงานพันธุกรรมในพื้นที่ ด้วยระยะเวลาในกระบวนการผลิตนั้นใช้เวลาในแต่ละรอบการผลิตและเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีต้องมีการผลิตซ้ำตามรอบของแต่ละสายพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่นิ่ง
            การนำเสนองานพันธุกรรมพื้นบ้านในครั้งนี้เป็นภาพการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือ ที่มีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่มากกว่า 20 ปี ที่ได้ส่งต่องานพันธุกรรมพื้นบ้านทั้งพืชและสัตว์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้กับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานของสมาชิกในกลุ่ม การรวมตัวคนรุ่นใหม่นั้นมีบทบาทอย่างมากต่อกลุ่มโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ช่วยกระจายผลผลิตให้กับกลุ่ม ต่อยอดงานแปรรูป (เช่น เต้าหู้ก้อน ผงคินาโกะ ขนมทองเอก แป้งข้าวเจ้า ฯลฯ) และเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกลุ่มผ่านกิจกรรมการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น การเพาะขยายกล้าพันธุ์พืช และการเลี้ยงสัตว์ (เช่น วัว ไก่ และสุกร) ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มุ่งเน้นพันธุ์พื้นบ้านและผลิตอาหารจากวัสดุในสวน/ไร่นาให้มากที่สุด ปัจจุบันมีการรวมสมาชิกคนรุ่นใหม่ทั้งหมด 7 ราย ที่นอกจากมีกิจกรรมกลุ่มที่ทำร่วมกันในแต่ละสัปดาห์แล้ว แต่ละคนมีกิจกรรมการผลิต/การแปรรูปตามความถนัดและความสนใจเพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจในการครองชีพของครอบครัว และอาจไม่ผิดนักหากกล่าวว่า “การรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้มีเพื่อน/กำลังใจที่มีเป้าหมายร่วมกัน และบทบาทของแกนนำเกษตรกรที่ให้คำปรึกษาถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนและสานต่อขบวนงานเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่”   

            ดังกรณีของ “กุ้ง” (สุพรรณี สมจักร) คนรุ่นใหม่ในกลุ่มที่ผันตัวเองจากการทำงานในเมือง มาทำการเกษตรของพ่อแม่ ที่ตอนเริ่มต้นยังไม่มั่นใจในระบบการผลิต แต่หลังจากได้รับคำปรึกษาจากพ่อแม่และแกนนำกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มีความมั่นใจในการผลิตเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน “กุ้ง” ได้แยกแปลงการผลิตออกมาจากครอบครัว จำนวน 3 งาน (0.3 ไร่) ผลผลิตในแปลงส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชอายุสั้น/ผักจีน และผักพื้นบ้าน พร้อมกับปรับปรุงฟาร์มในเรื่องการจัดการน้ำซึ่งจากเดิมเป็นระบบสายยางโดยปรับเป็นระบบสปริงเกอร์เพื่อประหยัดน้ำ รวมทั้งได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์บางส่วน เช่น สลัด ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ฟักทอง ฟักเขียว แตงกวา มะเขือเทศพื้นเมือง ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการผลิต/แลกเปลี่ยน/แบ่งปันภายในกลุ่ม โดยแนวทางในการพัฒนาแปลงการผลิตในระยะต่อไปนั้น “กุ้ง” ได้วางแผนให้แปลงมีความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์/กล้าพันธุ์มากขึ้น และร่วมกับสมาชิกคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ย่อยของชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์/กล้าพันธุ์ที่มีคุณภาพและสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

บทความแนะนำ

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.