ข้าวพื้นบ้าน ความสำคัญ
“ข้าว” ในมุมมองของผู้ร่วมเสวนาต่างให้ความสำคัญในหลายมิติ เช่น คุณสุพจน์ หลี่จา ตัวแทนสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชาติพันธุ์ ที่ได้ขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารของพี่น้องชาติพันธุ์ มีความเห็นว่า “ข้าว เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดประเพณีและความเชื่อต่างๆ สืบต่อกันมาตั้งแต่การหว่านหรือหยอดเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยว เป็นสิ่งบ่งบอกความสัมพันธ์ของคนกับข้าว คนกับธรรมชาติ คนกับคน และคนกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ประเพณีกินข้าวใหม่ของชาติพันธุ์เปรียบเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในการเข้าสู่ศักราชใหม่ หรือ ข้าวที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต อย่างกรณีชาวนาภาคอีสานซึ่งแต่เดิมปลูกข้าวเหนียวเป็นหลัก เนื่องจากคนอีสานบริโภคข้าวเหนียว
ชาวนากับการรักษาพันธุกรรมข้าว
ชาวนาให้ความสำคัญในการเก็บคัดเลือกพันธุ์ข้าวโดยตนเองมาแต่เดิม อย่างพี่น้องชาติพันธุ์จะคัดเลือกเก็บพันธุ์ข้าวตามความชอบหอมนุ่มในการบริโภค และมีผลผลิตที่ดี สำหรับการปลูกในฤดูกาลต่อไป
สำหรับกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายของพันธุ์ข้าว และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อนำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไปทดสอบข้อมูลทางโภชนาการกว่า 30 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีโภชนาการสูง แตกต่างกันไปแต่ละสายพันธุ์ เช่น ข้าวก่ำน้อยเด่นเรื่องลูทีน ข้าวสีเหลืองเด่นเรื่องโฟเลต ข้าวมะลิแดงเด่นเรื่องเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ ข้าวมะลิดำเด่นเรื่องกลูโคส นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้มีการคัดเลือกพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์แท้โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบเดิม คือ เลือกจากการแตกกอดี ไม่มีโรคแมลงรบกวน การเลือกรวงที่ดี แข็งแรง เมล็ดดีสมบูรณ์ แล้วนำมาปลูกเพื่อคัดเลือกอีกอย่างน้อย 3 รอบเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ และเก็บเป็นข้อมูลฐานพันธุกรรมข้าว
สาเหตุการลดลงของพันธุ์ข้าว
ปัจจัยที่ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านลดลงและสูญหายไปมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่า ความนิยมของผู้บริโภคที่ลดไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ข้าวบางสายพันธุ์ไม่เหมาะสมในการเจริญเติบโต รวมไปถึงสาเหตุสำคัญ คือ นโยบายต่างๆ ของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้การปลูกข้าวลดลงไป เช่น การส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกิน ภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานและป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นข้อจำกัดในวิถีทำมาหากิน หรือแม้กระทั่งการทำสัมปทานเหมืองหิน กรณีการระเบิดภูเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ที่เศษหินกระเด็นลงไปในที่นาจนชุมชนไม่สามารถเข้าไปทำนาได้ดั่งเดิม เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ความหลากหลายของข้าวพื้นบ้านลดลงไป
ข้อเสนอและแนวทางในการพัฒนาข้าวพื้นบ้าน
ถึงแม้ว่าความหลากหลายพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านลดลงไป และยังมีชาวนาหลายกลุ่มที่ให้ความสำคัญและมีการฟื้นฟูข้าวพื้นบ้านขึ้นมา ด้วยมั่นใจว่า “ทิศทางอนาคตของข้าวพื้นบ้านเป็นทางเลือกในความยั่งยืนและอยู่รอดของชีวิตชาวนา ถึงแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์และวิกฤตต่างๆ” ตัวอย่างเช่น
- กรณีกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ได้มีการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่ในพื้นที่ในปี 2540 ซึ่งสามารถรวบรวมพันธุ์ข้าวและลักษณะสายพันธุ์ได้ถึง 63 สายพันธุ์ จากนั้นได้มีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวแดงที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากภาวะฝนแล้ง โดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวแดง ให้อายุสั้นลงและไม่ไวแสง แต่ยังคงความนุ่มไว้เหมือนเดิม จากเดิมที่มีลักษณะพันธุ์อายุประมาณ 6-7 เดือน ปลูกเดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน เมื่อประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงจึงไม่ได้ผลผลิต ซึ่งได้มีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์มาถึงรุ่นที่ 7 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว
- ในขณะที่กลุ่มอารยะฟาร์ม จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ใช้บริบทชุมชนเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความต้องการของรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายมาวิเคราะห์ ดังนั้น กลุ่มยังคงมุ่งเน้นการปลูกข้าวที่เป็นความต้องการของตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวมะลิแดง ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวมะลิดำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมทั้งข้าวเหนียวที่มีสีแดง คือ ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวก่ำ พร้อมๆ กับการทำตลาดที่มีการระดมทุน เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อเครื่องจักร และข้าวเปลือกของสมาชิก และปันผลจากกำไรที่ได้ ทั้งนี้กลุ่มได้กำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือก เช่น ข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท ข้าวสีไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท ซึ่งราคาจะปรับเปลี่ยนตามข้อตกลงร่วมกันในที่ประชุมช่วงใกล้เกี่ยวข้าว แต่ยังอ้างอิงราคาตลาดด้วย ดังนั้นชาวนาต้องเป็นทั้งผู้ผลิตผู้จำหน่าย ต้องคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ใช้เมล็ดพันธุ์ ต้องมีโรงสี รวมทั้งมีการแปรรูปข้าวทั้งเป็นแป้งข้าวสำหรับทำขนม และเครื่องดื่ม ที่สำคัญต้องมีการรวมกลุ่มของชาวนาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
- กรณีการระเบิดหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ส่งผลให้ชาวนาทำนาไม่ได้ ชุมชนได้มีการรวมตัวเพื่อคัดค้านการระเบิดภูเขา โดยการรวบรวมข้อมูลผลกระทบเพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการระเบิดภูเขาผ่านเวทีประชาคม และได้ระดมทุนซื้อผืนนาที่อยู่ติดกับภูเขา ผลผลิตข้าวที่ได้ส่งให้กับเจ้าของที่ดินเพื่อเป็นดอกเบี้ย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการปลูกข้าวพันธุ์เล็บนกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ข้าวที่ได้มีเมล็ดสีแดงมากกว่าปกติ เวลานำมาหุงจะมีลักษณะแข็ง ร่วมเหมาะกับกินคู่กับแกงและน้ำพริก ชุมชนจึงเริ่มเก็บและคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ข้าวเล็กนกแดง เขาคูหา รวมทั้งเป็นการรักษาภูเขาคูหาที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอรัตภูมิต่อไป
- ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำที่ชาวนาต้องเผชิญ จากข้อมูลปี 2560-2563 ข้าวในตลาดหลัก เช่น ข้าวหอมมะลิ ส่งออกได้น้อยลงร้อยละ 20 ต่อปี และปี 2564 ราคาข้าวในตลาดหลักตกต่ำลงมาก ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเข้ามาอุดหนุนตลาดข้าวกว่า 90,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงนิยมข้าวที่มีลักษณะเมล็ดเรียว หอม นุ่มก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การผลิตข้าวเพียงชนิดเดียวไม่สามารถแข่งขันตลาดหลักต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวนาต้องเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าว และต้องมีความรู้เรื่องลักษณะประจำพันธุ์ ข้อเด่น ข้อด้อยของแต่ละสายพันธุ์ รู้ลักษณะนิเวศของพื้นที่ และที่สำคัญต้องรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายของสายพันธุ์ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว และส่งข้าวจำหน่ายในตลาดเฉพาะ ซึ่งในอนาคตเติบโตเพิ่มขึ้น ไม่ว่า ข้าวอินทรีย์ ข้าวสีต่างๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันสามารถส่งออกได้เพียงร้อยละ 10 หรือปริมาณในหลักหมื่นตัน แต่แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เป็น 1.8 คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าส่วนแบ่งตลาดเฉพาะเพิ่มเป็นร้อยละ 10
- ชาวนาต้องถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ให้เห็นความสำคัญของข้าว และหันกลับมาปลูกข้าวในทิศทางที่มีความหลากหลายและคุณค่าการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ การผลิตที่หลากหลายในรูปแบบเกษตรผสมผสานหรือเกษตรนิเวศ รวมถึงการคำนึงถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
- การทำงานสื่อสารต่อสาธารณะ กลุ่มชาวนาต้องสื่อสารให้สาธารณะได้เห็นความสำคัญของความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะโภชนาการที่แตกต่างกัน ล้มเลิกความคิดที่ว่า “ข้าวมันก็เหมือนกันแหละ” แต่ข้าวสามารถนำไปใช้ได้หลายรูปแบบทั้งเป็นยา แปรรูปเป็นแป้งทำขนมไทย ทำเบเกอร์รี่ ทำเส้น ทำเครื่องสำอาง ฯลฯ รวมทั้งการสื่อสารผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้เห็นถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าว เช่น การหุงข้าวให้ชิมชอบสายพันธุ์ไหน สามารถสีขายได้เลย เป็นต้น
- สำหรับผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่รู้จักข้าวเพียงไม่กี่สายพันธุ์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายของพันธุ์ข้าว ความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ เช่น คุณค่าทางโภชนาการ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรียนรู้แหล่งที่มาของข้าวที่บริโภค เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ฟื้นภูมิปัญญาของชาวนา รวมถึงการรักษาฐานความหลากหลายของพันธุกรรมข้าว ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวพื้นบ้านที่หลากหลายสายพันธุ์ และพัฒนาตลาดเฉพาะของข้าวได้
- รัฐบาลต้องมีกลไกเชิงนโยบายหรือกฎหมายที่เข้ามาอุดหนุน (smart subsidy) โดยไม่จำเป็นต้องรับซื้อข้าวเหมือนเดิม แต่ควรเป็นผู้กำหนดราคาประกันข้าวไว้ เพื่อให้ชาวนามีความมั่นใจในการผลิต และต้องพัฒนาตลาดที่มีเงินหมุนเวียน โดยผู้ผลิตหรือชาวนาทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลแล้วสามารถนำสัญญานั้นไปกู้เงินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการทำตลาด หากรัฐบาลดูแลข้าวทั้งประเทศและสามารถควบคุมต้นทุนได้ มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบ เช่น การเก็บพันธุ์ข้าวในแต่ละรอบ สามารถนำไปเป็นข้อมูลไปจัดทำโฆษณาขายได้ เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ของชุดข้อมูลการตลาดข้าว และเพิ่มศักยภาพการขายข้าวอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดแล้ว สังคมไทยไม่ต้องกังวลเรื่องคนกินข้าวน้อยลง แต่ต้องให้รู้จักกินอย่างละเอียดและพิถีพิถันขึ้น รู้จักการแปรรูปให้ตรงความเหมาะสมของข้าวที่หลากหลายและความต้องการของผู้บริโภค มีข้อมูลโภชนาการและคุณค่าข้าวในแต่ละสายพันธุ์ ยกระดับข้าวให้เป็นระบบนิเวศทางธุรกิจเหมือนกาแฟ “มีระบบธุรกิจของตัวเอง” มีการพัฒนาหม้อหุงข้าวแบบใหม่ เครื่องดื่มแบบใหม่ หรืออื่นๆ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ อนาคตของข้าวพื้นบ้านบนโต๊ะอาหารของคนรุ่นใหม่
ผู้ร่วมเสวนา
เชฟแม็กซีน อินธิพร แต้มสุชิน
คุณอาญาสิทธิ์ เหล่าชัย -กลุ่มอารยะฟาร์ม จ.ร้อยเอ็ด
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด -นักวิชาการอิสระ
คุณสุพจน์ หลี่จา -สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์
คุณดาวเรือง พืชผล -กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง อ.กุดชุม จ.ยโสธร
คุณณัฑฐวรรณ อิสระทะ -ห้องเรียนท้องนาเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
ดำเนินรายการโดย คุณนคร ลิมปคุปตถาวร