โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

อาจารย์เชาวลิต กอสัมพันธ์ นักวิทยาศาสตร์เกษตร
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่สูง

       สถานการณ์โลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกเป็นปรากฏการณ์ที่พบหลายพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมไปถึงการเกิดไฟป่า และอื่นๆ สำหรับพื้นที่สูงในระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น 100 ฟุต อุณหภูมิจะลดลง 1 องศาฟาเรนไฮท์ หรือทุก 100 เมตร อุณหภูมิจะลดลง 0.5 องศาเซลเซียส ดังเช่นความต่างของอุณหภูมิ ณ สถานีขุนช้างเคี่ยน ต.ช้างเผือก อ.เมือง อุณหภูมิจะต่ำกว่าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ ต.สุเทพ อ.เมือง ถึง 5 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี จากความสูงของพื้นที่ที่ต่างกันนั่นเอง ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อพืชที่ปลูกในพื้นที่การเกษตรได้

       ภาพ 1 แสดงช่วงความสูงในแต่ละระดับ ส่วนภาพ 2 แสดงอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ปี 2546 และ 2563 ณ สถานีขุนช้างเคี่ยน (กราฟช่วงบนแสดงความชื้นสัมพันธ์ ส่วนกราฟช่วงล่างแสดงช่วงอุณหภูมิ)

       ภาพ 3 แสดงปริมาณน้ำฝนปี 2545 และ 2564 โดยวัดปริมาณน้ำฝน ณ สถานีขุนช้างเคี่ยน เฉลี่ยในรอบ 20 ปี ประมาณ 2,500 มม./ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมไม่มีฝน จึงอยู่จึงวัดได้ที่ 1,419.7 มม.

ภาพ 3 ปริมาณน้ำฝนปี 2545 และ 2564 ณ ขุนช้างเคี่ยน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร
       ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เห็นได้ชัดเจนในพื้นที่สูง โดยเฉพาะการระบาดของโรคและแมลงในแปลงการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น มอดเจาะกาแฟ โรคราสนิม เพลี้ยหอย และหนอนเจาะลำต้นที่ตัวหนอนมีการเข้าทำลายเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีหลัง

ภาพ 4 การเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้น และด้วงเหนวดยาว

       รวมถึงการเข้าทำลายของมวนยุงในแปลงกาแฟที่หลังจากการเข้าทำลายแล้วเชื้อแอนแทรคโนสจะเข้าไปทำลายซ้ำ ทำให้ยอดต้นกาแฟเป็นลักษณะดังภาพ 5 ส่วนภาพ 6 แสดงการเข้าทำลายของโรคราสนิมที่ถือเป็นโรคคู่กับต้นกาแฟ โดยเฉพาะปี 2564 มีการระบาดรุนแรง ในพื้นที่กาแฟของสถานีวิจัยขุนช้างเคี่ยน และแปลงของเกษตรกร ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกาแฟปีดังกล่าวมีไม่มาก กรณีเกษตรกรที่เข้าไม่ถึงการเตือนภัยของโรคระบาดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตัดสินใจตัดต้นกาแฟทิ้งไป ในส่วนของสถานีฯ ที่ทำงานร่วมกับพื้นที่ ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการรุกล้ำทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ไร่หมุนเวียน จึงเข้าไปส่งเสริมระบบการผลิตที่หลากหลายร่วมกับเกษตรกร โดยแนะนำให้ปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นไม้นำร่อง จากนั้นปลูกอโวคาโดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้าแซม ซึ่งในระยะเวลาประมาณ 3 ปีก็ได้ผลผลิต

การจัดการโรค-แมลงในแปลงผลิตกาแฟ

       การจัดการมอดกาแฟ มอดเป็นกลุ่มแมลงที่ระบาดได้เร็ว ในการเข้ากัดกินผลกาแฟตั้งแต่ผลเขียว ผลแดง ผลสุก จนกระทั่งผลแห้ง โดยระบาดมากในฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การจัดการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดมอด ทำได้โดย 1) การติดตั้งกับดักที่ดัดแปลงใช้ฟิวเจอร์บอร์ดสีต่างๆ ยกเว้นสีเหลือง เพราะจะทำให้ได้กลุ่มแมลงที่ไม่ต้องการมาติดแทน จากนั้นนำสารล่อแมลงเทลงในขวดยาหยอดตา เพื่อปล่อยกลิ่นล่อแมลง (ภาพ 7) การทำชุดกับดักนี้ ต้นทุนไม่เกินชุดละ 5 บาท โดยช่วงที่นำกับดักมาวางนั้น ควรเป็นหลักการเก็บเกี่ยวและควรทำควบคู่กับการตัดแต่งกิ่ง โดยให้เก็บผลแห้งที่ค้างอยู่บนต้น/กิ่งออกให้หมดก่อน  2) การปลูกพืชทำแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงการระบาด และ 3) หากพบว่ามอดมีการระบาดค่อนข้างมาก อาจนำเชื้อบิวเวอร์เรียมาใช้ เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ครอบคลุมในการกำจัดมอดเช่นกัน

ภาพที่ 7 ชุดกับดักแมลง

       การจัดการหนอนเจาะลำต้น หนอนเจาะลำต้นเป็นปัญหาเช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่ ดังนั้น การจัดการจึงเป็นการป้องกันต้นที่ยังไม่ถูกเจาะโดยใช้ปูนขาวผสมสารเคมี หรือสมุนไพรทาบริเวณลำต้น ส่วนต้นที่โดนเจาะแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะในลำต้นได้มีตัวหนอนไปอาศัยอยู่แล้ว

       การจัดการโรคราสนิม สาเหตุที่ทำให้ใบร่วงนั้น มักเกิดจากโรคราสนิมที่ส่งผลให้ผลผลิตลดลง/ผลผลิตแห้งคาต้น หากเจออาการของต้นกาแฟเป็นลักษณะแบบนี้ ต้องรีบจัดการโดยตัดกิ่งหรือตัดต้น และต้องมีการบำรุงต้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหากมีการจัดการในช่วงกาแฟใกล้จะสุกช่วงหน้าหนาว เพราะถ้าหากจัดการล่าช้าก็จะทำให้ต้นกาแฟแห้งตายได้

 แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่สูง

  • สนับสนุนและส่งเสริมการทำไร่หมุนเวียนของชุมชน ด้วยการผลิตในระบบไร่หมุนเวียน สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นระบบที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ สามารถตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน ถือเป็นหนึ่งของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรนิเวศ จึงมีความจำเป็นต้องมีการสนับสนุนและส่งเสริม อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นที่ต้องพัฒนาชุดความรู้ของการทำไร่หมุนเวียน เพื่อให้เกิดการยอมรับและต่อยอด ยกระดับและพัฒนาการแปรรูปและการสร้างมูลค่าของผลผลิตในแปลงไร่เหล่า
  • ฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพจากการรุกล้ำของไร่ข้าวโพด โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และเกษตรกร เพื่อร่วมวางแผนและหาแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมสภาพจากการรุกล้ำของไร่ข้าวโพดให้กลับสู่ระบบการผลิตผสมผสานที่สอดคล้องในพื้นที่
  • ปรับตัวในแปลงกาแฟเดิม สำหรับแปลงกาแฟที่ถูกทำลายโดยโรคและแมลง สามารถจัดหาพันธุ์กาแฟมาปลูกใหม่ หรือปลูกเสริมในพื้นที่ หรือสามารถเพาะเมล็ดกาแฟให้โตพอที่จะนำมาเสียบกับต้นกาแฟเดิมที่มีอยู่เพื่อช่วยร่นเวลาในการเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรทำควบคู่กับการยกระดับการแปรรูปกาแฟที่หลากหลายมากขึ้น
  • ไม่ควรเลือกปลูกสายพันธุ์โรบัสต้าร่วมกับอาราบิก้า เพื่อลดการแพร่ระบาดของแมลง เนื่องด้วยระยะเก็บเกี่ยวผลจะสุกไม่พร้อมกัน จะส่งให้แมลงมี host ให้อยู่ได้ทั้งปี นั่นหมายความว่า การระบาดของแมลงยังคงอยู่เหมือนเดิม และสามารถอยู่ได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น ควรปรับเป็นการปลูกพืชผสมผสานกับพืชตัวอื่นที่เกษตรกรสามารถจัดการ และสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

บทความแนะนำ