โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ออกปากเก็บข้าวนารวม : กิจกรรมคณะทำงานชาวนาทางเลือกภาคใต้

 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552
ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

                วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 ท้องฟ้าโปร่งใส แม้แดดจะร้อนไปสักนิด แต่วันนี้เหล่าพี่น้องชาวนาและเยาวชนจากสามจังหวัดกว่า 98 ชีวิต (สงขลา 15 คน พัทลุง 25 คน นครศรีธรรมราช 14 คน และเยาวชนจากสามจังหวัด 36 คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมอื่นๆ 8 คน) ได้มารวมตัวกันตามการนัดหมายเพื่อเก็บข้าวในแปลงนารวมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ที่เหลืออยู่ หลังจากที่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาได้ช่วยกันเก็บข้าวไปแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวหอมจันทร์ข้าวนางกลาย และข้าวเหนียวตอก ซึ่งข้าวเหล่านี้ทางศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงก็ได้นำไปรวบรวมเก็บไว้อย่างดี เพื่อรอส่งมอบให้เป็น “กองทุนกลางเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านทางเลือกภาคใต้”

                ในวันนี้เราก็พบว่าข้าวที่เหลืออีก 6 สายพันธุ์ได้แก่ ไข่มดริ้น ช่อจังหวัด เล็บนกปัตตานี เข็มทองพัทลุง เหนียวกาบโหนด และเหนียวเหลือง กำลังสุกพร้อมเก็บเกี่ยว และบางพันธุ์ก็สุกเต็มที่จนคอรวงเริ่มหักลงมา เช่น ข้าวไข่มดริ้น และข้าวเข็มทอง เป็นต้น

                 บรรยากาศในแปลงนาตั้งแต่ช่วงเช้าจึงอบอวลไปด้วยเสียงพูดคุยทักทายของบรรดา ลุงป้านาอาชาวนาภาคใต้ ยิ่งเมื่อลูกหลานเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ เดินทางมาถึง ความสนุกสนานและภาพแห่งความร่วมแรงร่วมใจจึงดำเนินไปพร้อมกัน กลุ่มเด็กๆ ต่างก็ลงไปช่วยเก็บข้าวอย่างพร้อมเพรียงโดยมีลุงป้าน้าอาคอยชี้แนะวิธีการ เก็บ เด็กๆ บางส่วนที่เหนื่อยจากการเก็บข้าวก็ลองฝึกทำปี่ซัง โดยมีผู้ใหญ่คอยสอนและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ช้าไม่นานเสียงปี่ซังก็ดังระงมไปทั้งท้องทุ่ง ลุงป้าน้าอาบางคนอดใจไม่ไหว ก็ร้องเพลงพื้นบ้านประกอบ บ้างก็หยอกล้อกันเองเป็นที่สนุกสนาน จนลืมความร้อนของแดดไปได้ทีเดียว

                 เมื่อยามเย็นมาถึงกลุ่มพี่น้องชาวนาก็ทยอยเดินทางกลับ ภาพแปลงนาที่ถูกเก็บเกี่ยวจึงเป็นตัวแทนแห่งความร่วมแรงร่วมใจ แม้ในวันนี้จะไม่สามารถเก็บข้าวได้ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ แต่กลุ่มชาวนาก็ได้นัดหมายที่จะกลับมาช่วยกันเก็บข้าวอีกครั้งในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อเก็บข้าวที่เหลืออีกสองพันธุ์ คือ เหนียวเหลืองและช่อจังหวัด (ส่วนข้าวเหนียวกาบโหนด ทางพี่สำเริง แซ่ตัน แจ้งว่าศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงจะเป็นผู้ช่วยเก็บให้เพราะข้าวพันธุ์นี้มีการปน ค่อนข้างสูง จำเป็นต้องเลือกเก็บเอาเฉพาะที่ตรงลักษณะพันธุ์)

                 อีกไม่นานแล้วที่กลุ่มชาวนาจะได้ มีกองทุนเมล็ดพันธุ์เป็นของตัวเอง กองทุนที่เกิดจากความร่วมใจและน้ำพักน้ำแรงของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้าน ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กองทุนที่จะขยายลงไปสู่ชุมชน กองทุนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำข้าวกลับคืนท้องถิ่น เปรียบดังกองทุนเมล็ดพันธุ์ภาคประชาชนอย่างแท้จริง…

บทความแนะนำ