กรณี การปรับตัวในระบบการปลูกผลไม้
คุณชุติมา น้อยนารถ เครือข่ายชาวสวนคลองจินดา จ.นครปฐม
จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ทำเกษตรหลายรูปแบบทั้งทำนา ปลูกผัก ปลูกผลไม้และเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน เป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรถึงแม้เกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่สำหรับเครือข่ายชาวสวนคลองจินดา ที่ก่อตั้งมากว่า 10 ปีแล้วนั้นได้เน้นสอนให้สมาชิกในกลุ่มได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของคนที่ต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เพียงแค่สอนว่าจะทำเกษตรอินทรีย์อย่างไร ปลูกผักอย่างไร แต่ได้ผนวกเรื่องราวคุณภาพชีวิตที่ดี ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศในการทำเกษตร และกระบวนการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในการเกษตร กลุ่มได้มีการรวบรวมผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงที่ตลาดน้ำคลองจินดา รวมทั้งการนำสมาชิกไปออกร้านขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในที่ต่างๆ จึงถือได้ว่าเป็นอีกกลุ่มที่เป็นตัวอย่างที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ และมีการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
ชุติมา น้อยนารถ แกนนำเครือข่ายชาวสวนคลองจินดา กล่าวว่า “การผลิตของเครือข่ายฯ เป็นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรอินทรีย์มีข้อจำกัดในการผลิตนอกฤดูที่ทำให้ผลผลิตมักมีราคาต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ หาทางออกด้วยการทำตลาดเอง จึงทำให้ราคาผลผลิตค่อนข้างนิ่ง เช่น ชมพู่ราคา 50 บาทต่อกิโลกรัมตลอดฤดูกาล ซึ่งทางเครือข่ายฯ เชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้น ต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ส่งผลต่อการทำเกษตรในพื้นที่คลองจินดาชัดเจนมากขึ้นในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนเรียกอากาศที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่ว่า “กระชากร้อน กระชากฝน กระชากหนาว” จากอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้พืชผลหลายชนิดเสียหายที่ชาวสวนเรียกว่า จำศีล คือไม่ติดดอก ไม่แตกใบหยุดให้ผลผลิตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
การตัดแต่งกิ่งไม้ผล ถือเป็นการจัดการเบื้องต้นที่ชาวสวนนำมาใช้ โดยหลังจากฤดูแล้งที่มีการเก็บไม้ผลไปแล้ว หากไม้ผลต้นใหญ่ที่เริ่มแก่ตัว ให้ผลผลิตน้อย และต้นสูงยากแก่การดูแล เก็บเกี่ยว ชาวสวนตัดแต่งกิ่งต้นนั้นๆ ออกไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าทำสาวให้กับไม้ผล แต่ถ้าเป็นไม้ผลที่ต้นไม่ใหญ่และเป็นทรงพุ่ม ก็ตัดแต่งกิ่ง 3-4 ปีต่อครั้ง การตัดแต่งกิ่งช่วยทำให้ต้นไม้ได้พักและเป็นวิธีเขตกรรมที่น่าสนใจมาก ช่วยลดการระบาดของโรคและแมลง เพราะทรงพุ่มโปร่งทำให้ต้นไม่สามารถสะสมโรคและแมลง หรือกิ่งที่เป็นโรคและแมลงก็ถูกตัดออกไป นอกจากนี้ยังทำให้ต้นไม้ผลมีรูปทรงตามที่ชาวสวนต้องการที่จะทำให้ง่ายต่อการดูแลและจัดการ ทำให้ออกดอกติดผลดีขึ้นจากใบที่ได้รับแสงแดดทั่วถึง อันเป็นประโยชน์ในขบวนการสังเคราะห์แสงของใบ ช่วยให้มีการสะสมอาหารในลำต้นได้พอเหมาะ ใบและกิ่งที่ตัดออก นำมาคลุมไว้บริเวณโคนต้นเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการบำรุงดิน ลดความเสียหายจากลมพายุ พุ่มต้นที่แน่นทึบรับแรงปะทะมากทำให้กิ่งฉีกขาด จึงช่วยลดต้นทุนในการจัดการสวนได้
การจัดการโรคและแมลง ชาวสวนจัดการเบื้องต้นโดยการรดน้ำ และฉีดพ่นสมุนไพรที่ต้องมีความถึ่ในการฉีดพ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันเชื้อรา เพลี้ยไฟ และไรแดง
การจัดการด้านตลาด จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ทำให้ไม้ผลลดน้อยลง เครือข่ายฯ จึงต้องปรับช่องทางขายตรงให้กับผู้บริโภคประมาณร้อยละ 70-80 แต่เปิดช่องทางใหม่ที่มีผู้บริโภคเข้าใจในระบบการผลิตของเครือข่ายฯ อย่างการกินผลไม้ตามฤดูกาล เช่น โรงพยาบาล ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้ได้กลายเป็นฐานการตลาดหลักให้กับเครือข่ายฯ อย่างกรณีการแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้ตลาดต้องปิดตัวลง แต่เครือข่ายฯ สามารถจัดส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคได้ โดยการติดต่อผ่านเพจของเครือข่ายฯ และด้วยผลผลิตหลักของเครือข่ายฯ ยังเป็นผลไม้สดเป็นหลัก เครือข่ายฯ จึงมีแนวทางที่ต้องเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ผ่านการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตมากขึ้น เช่น การทำกล้วยตาก กล้วยนิ่ม ไชเดอร์กล้วย น้ำส้มสายชูกล้วย เต้าหู้ออร์แกนิค เทมเป้ น้ำสลัด การทำผงโรยข้าวจากผักไชยา ผักดองกิมจิ ฯลฯ ซึ่งนอกจากการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตแล้ว ยังเป็นช่องทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เพราะหากว่าผลผลิตไม่หลากหลายแล้ว เครือข่ายฯ ก็ยังคงอยู่เพียงแค่การจำหน่ายผลผลิตที่มีอยู่ ไม่ผ่านการแปรรูปที่หลากหลาย