ดร.จตุพร เทียรมา คณะสิ่งแวดล้อมทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ข้อเสนอภาคเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ความพยายามสร้างภาพการทำเกษตรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้กลับกลายเป็นปัญหาหนึ่งของภาคการเกษตร เนื่องจากไม่ได้นำไปสู่ผลผลิตโดยรวมที่สังคมต้องการตามความคาดหวังว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในบางครั้งพบว่า การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากๆ ได้กลายมาเป็นศัตรูกับตัวเอง เกษตรกรจึงต้องเข้าใจความหมาย การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นเกษตรกรยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยหลักที่มากระทบโดยตรง ไม่ว่าราคาผลผลิตที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมและกำหนดให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรเองได้ เนื่องจากราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดโลก และต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรยังต้องเผชิญกับต้นทุนในการผลิตที่สูง ซึ่งภาครัฐเองไม่มีรูปธรรมที่มานำเสนอ หรือมาแก้ปัญหาต้นทุนที่สูงได้ นอกจากมีมาตรการร่วมทุน หรือร่วมจ่ายในกิจกรรมบางประเภท เพื่อให้ต้นทุนของเกษตรกรลดลงเพียงครั้งคราวเท่านั้น
แนวทาง การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากปัญหาต้นทุนการทำเกษตรที่สูงและราคาผลผลิตที่ตกต่ำ เกษตรกรไม่สามารถจัดการควบคุมได้นั้น สาเหตุเป็นเพราะการพึ่งพาต้นทุนที่เป็นตัวเงินมากเกินไป แต่หากเกษตรกรเข้าใจความหมายและวิธีปฏิบัติของเกษตรนิเวศอย่างแท้จริงก็สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเกษตรนิเวศหรือนิเวศเกษตรได้ให้ความหมายต่อการใช้ทรัพยากรทุนที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทดแทนต้นทุนที่เป็นตัวเงิน โดยการจัดการและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าน้ำ ดิน พืชพรรณ ฯลฯ ที่มีอยู่ในแปลงเกษตร เพื่อนำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดตามความเหมาะสมของนิเวศนั้นๆ เช่น
การจัดการน้ำ ต้องมีการคำนวณปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ คำนวณการซึมของน้ำใต้ดิน คำนวณปริมาณการใช้น้ำทั้งปี และจำนวนพืชพรรณที่ปลูกในแปลง ลักษณะสภาพของพื้นที่ เช่น ในบางพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้ในระดับผิวดิน บางพื้นที่สามารถเก็บน้ำได้ในระดับใต้ดิน บางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่รับน้ำมากเพราะลักษณะพื้นที่เป็นระบบน้ำหลากที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรต้องเรียนรู้แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อจัดการตามความเหมาะสม และสามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้ตลอด ตามความต้องการของเกษตรกรเอง หากแต่ระบบการจัดหาแหล่งน้ำของหน่วยงานรัฐสำหรับภาคการเกษตร มักเน้นระบบชลประทานที่มีคลองส่งน้ำ เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งคลองดังกล่าวไม่สามารถมีน้ำส่งให้เกษตรกรได้ หรือมีมาตรการจัดหาแหล่งน้ำใต้ดิน หากพื้นที่ไม่เหมาะสมน้ำใต้ดินก็ไม่เพียงพอ กระบวนการดังกล่าว ไม่ได้วิเคราะห์ถึงศักยภาพข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน และเป็นการทำงานที่แบ่งแยกเฉพาะกรม จึงไม่สามารถตอบโจทย์ระบบการจัดการน้ำที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการทำเกษตรได้
การปรับโครงสร้างของดิน ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก หากเกษตรกรต้องการปรับโครงสร้างดินและยังต้องจัดซื้อปุ๋ยสำหรับเป็นธาตุอาหารให้กับพืช ก็ยังต้องใช้ในต้นทุนที่สูงถึงแม้จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก็ตาม ดังนั้น การปรับโครงสร้างดินในระบบเกษตรนิเวศ จึงต้องคำนึงถึงการกักเก็บ หรือตรึงธาตุอาหารไว้ในระดับรากพืช หรือการทำให้ธาตุอาหารที่อยู่ในระดับลึกหมุนเวียนขึ้นมาในระดับผิวดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพืชให้มากที่สุด โดยอาศัยการเกื้อกูลระบบนิเวศในแปลงนั่นเอง เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วบริเวณโคนต้นไม้ผล เพื่อให้รากไม้ผลหยั่งลึกลงในดินได้ หรือการปลูกพืชไร่ที่มีระบบรากลึกอย่างข้าวโพด เพื่อให้รากข้าวโพดช่วยทะลุทะลวงดินลงไปให้เกิดความร่วนซุยของโครงสร้างดิน และต้นข้าวโพดยังเป็นอินทรียวัตถุปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินได้อีกด้วย ดังนั้นการปรับโครงสร้างของดินในระบบเกษตรนิเวศ ต้องมีการเพิ่มอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ในดินให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการปลูกพืชได้ทุกชนิดในแปลง และสิ่งที่ต้องตระหนัก คือการทำความเข้าใจว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทุก 1,000 มิลลิเมตรนั้น มีไนโตรเจนอยู่ 10 กิโลกรัม ซึ่งเห็นได้ว่าฝนที่ตกลงมาทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและใบมีสีเขียวเข้ม ดังนั้นหากมีฝนตกลงมากปริมาณไนโตรเจนจึงเพียงพอกับความต้องการของพืช การซื้อปุ๋ยไนโตรเจนมาใส่ให้พืชจึงไม่จำเป็น
ข้อเสนอ การเกษตรกับสิ่งแวดล้อม
ถ้าเกษตรกรเรียนรู้และเข้าใจทรัพยากรธรรมชาติในแปลงเกษตร ก็สามารถนำจัดการและใช้ประโยชน์ให้เกิดการหมุนเวียนและเกื้อกูลกัน สิ่งแวดล้อมจะได้รับการฟื้นฟู ต้นทุนการผลิตจะลดลง ปริมาณผลผลิตที่ได้ก็คือกำไรทั้งหมด ดังนั้น การทำเกษตรนิเวศแล้วใช้ต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้ทำให้ผลผลิตตกต่ำหรือลดลงหากเปรียบเทียบกับการเกษตรแบบเข้มข้น แต่สิ่งเหล่านี้จะเอาไปแปลงเป็นนโยบายในการส่งเสริมได้อย่างไร ในขณะที่ระบบโลกไปไกลในเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่บางตัวได้กลับไปลดทอนการทำงานทางนิเวศที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเกษตรที่สมบูรณ์และมีคุณภาพ รวมทั้งไม่กระทบต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย
- ต้องมีการบูรณการหรือปฏิรูประบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องมาทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้น มีความพยายามพูดถึงการรักษาป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่มีตัวเลข 20-30%ที่บ่งบอกว่าภาคการเกษตรได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าภาคการเกษตรสามารถเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ก็เท่ากับเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งสามารถลดภาวะโลกร้อนไปได้
- เกษตรกรต้องเรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศในแปลงไม่ว่าการไหลของน้ำ ลักษณะโครงสร้างของดิน พันธุ์พืชที่เหมาะสม เพื่อนำมาจัดการและใช้ประโยชน์ให้เกิดการหมุนเวียนสูงสุด อันจะนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ
- ต้องมีการสื่อสารเผยแพร่รูปธรรมการใช้ทรัพยากรทุนธรรมชาติ หรือการทำเกษตรนิเวศ ต่อสังคมให้เกิดการยอมรับและขยายผลมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าถ้าเกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยก็อยู่ได้เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นกลุ่มคนที่ยากจนมากที่สุด