โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ปลูกข้าวไร่ในสวนยาง…ปลูกอาหารเพื่อชุมชน เก็บมาเล่าจากเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกข้าวไร่พื้นบ้าน ณ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคอกช้าง

ท่ามกลางจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องพืชเศรษฐกิจ มองไปทางไหนก็เห็นยางพาราและปาล์มน้ำมันสุดลูกหูลูกตา แต่ยังคงมีชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาบอกกับคนรอบข้างว่าต่อจากนี้ไป นอกจากทิวป่ายางและดงปาล์มน้ำมัน อาหารจะเริ่มงอกงามขึ้นมาจากดิน อาหารที่เราทุกคนกินกันทุกมื้อทุกยาม อาหารที่อยู่คู่กับชุมชนมานานแสนนาน อาหารที่หลายคนอาจลืมกันไปเมื่อข้าวพื้นบ้านกลับมาสู่ชุมชนเช้า วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ณ หมู่ที่ 6 บ้านคอกช้าง ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ผู้ที่เข้าร่วมเวทีกว่า 65 มีทั้งคนในชุมชนและคนต่างถิ่นที่มาเยือน ต่างมีนัดหมายมารวมกัน โดยมีจุดหมายอยู่ที่แปลงยางปลูกใหม่ที่ไถปรับไว้พร้อมสำหรับให้นำข้าวลงปลูก ที่ชาวชุมชนเรียกว่าการ “หนำข้าว” นั่นเอง     นายวิจิตร ลูกเหล็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองพน เป็นประธานในงาน ได้กล่าวต้อนรับ คณะที่มาเยือนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้กล่าวชื่นชมสมาชิกชุมชนบ้านคอกช้างที่ได้ร่วมไม้ร่วมมือกันทำกิจกรรม ของชุมชน จนเป็นที่ประจัก ถือได้ว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง ในการแก้ปัญหาของชุมชน

นางนิภาพร คงสบาย ประธานกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคอกช้าง ได้กล่าวรายงานสรุป ให้เห็นถึงข้อมูลพื้นฐานของชมชน เช่นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลประชากร ข้อมูลทางเศรษฐกิจ สภาพปัญหา หลักคิด และกิจกรรมของชุมชน

รู้จักชุมชนคอกช้าง

บ้าน คอกช้าง เคยมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งสมัยการปกครองที่ เมืองกระบี่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้นำทหารมาตั้งค่ายพักแรมและสร้างคอกเพื่อจับช้าง เพราะสมัยนั้นบ้านคอกช้างอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะช้างป่า จึงได้เรียกชื่อชุมชนแห่งนี้ว่าบ้านคอกช้าง

ชุมชน บ้านคอกช้างมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 70 ครัวเรือน 200 คน ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่ง หมู่ที่ 6 มีด้วยกัน 2 ชุมชน 2 วัฒนธรรม คือ ชุมชนบ้านคอกช้าง ซึ่งเป็นชุมชนคนนับถือศาสนาพุทธ และชุมชนบ้านพรุใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม คนในชุมชนมีรายได้จากการทำการเกษตร ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเกือบ 80% ของคนในชุมชน มีรายได้ในฐานะปานกลาง

เนื่องจากการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ทำให้คนในชุมชนมีรายได้แล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับชุมชนไม่น้อย เช่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยที่สร้างความมั่นคง ทางด้านอาหาร และความเสื่อมโทรมทางวิถีวัฒนธรรมชองชุมชน ทำให้คนในสังคมแตกแยกและเห็นแก่ตัวมาขึ้น และหลงไปตามกระแสการบริโภคนิยม ทำให้ในอนาคตจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

ฉะนั้น ชุมชนบ้านคแกช้างได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้น จึงได้จัดตั้งกลุ่มชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคอกช้างขึ้น เพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหา และพัฒนาชุมชนในอนาคต

บทความแนะนำ