จากโจทย์ใหญ่ที่ว่า เกษตรกรจะปรับตัวอย่างไรที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงระบบการทำการเกษตรเอง โดยยังคงเป้าหมายในเรื่องการพึ่งตนเองเอาไว้ได้
ภายใต้แนวทางดังกล่าว รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงดำเนินการศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าวทนร่มเงา โดยได้ดำเนินการคัดพันธุ์ข้าวไร่ที่ดีที่สุดจำนวนไม่กี่สายพันธุ์มาทดลองปลูกในพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดไม่เต็มที่ หรือได้รับเพียงรำไร
มุ่งเป้ารับมือการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากในกรณีของพื้นที่ภาคใต้ แต่เดิมมีรูปแบบการเกษตรเป็นสวนสมรมที่ใช้วิธีการปลูกพืชและต้นไม้หลากหลายชนิดแซมปะปนไปกับที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันเป็นหลัก เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือไม้ผล แม้แต่พื้นที่นาก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ของพืชเศรษฐกิจแทบทั้งหมด
“พื้นที่เกษตรของภาคใต้ประมาณ 86% เป็นปาล์มน้ำมัน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ระหว่างแถวปาล์มน้ำมันไม่สามารถเอาพืชใดๆ ไปปลูกได้ นั่นทำให้ต้องสูญเสียการใช้ประโยชน์พื้นที่ไปอย่างมาก และในการปลูกยางพาราก็มีการสูญเสียพื้นที่มากเช่นกัน” รศ.ดร.ร่วมจิตรกล่าวถึงสถานการณ์จริงที่ดำรงอยู่
ด้วยเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างทางเลือกให้คนภาคใต้อยู่รอดและมีข้าวที่ดีกิน ภายใต้โจทย์สถานการณ์ของพื้นที่ รศ.ดร.ร่วมจิตร จึงได้ศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าวทนร่มเงา โดยมุ่งไปที่พันธุ์ข้าวไร่ ด้วยมองว่า พันธุกรรมข้าวไร่มีหลากหลายพันธุ์ และมีปริมาณโปรตีนอยู่ที่ 10-14% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนโปรตีนในระดับที่สูงเช่นกัน
แนวคิดและแนวทางสำคัญของงานศึกษาคือ ข้าวไร่เป็นพืชที่มีความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนในพื้นที่ดอนไม่มีน้ำขัง ข้าวไร่มีศักยภาพต่อการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นท้าทายต่อการอยู่รอดของเกษตรกรในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งข้าวไร่เป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาปลูกแซมในสภาพร่มเงาของสวนยางพารา สวนมะพร้าว และปาล์มน้ำมันที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาและปริมาณผลผลิตตกต่ำ
เส้นทางการศึกษาเกือบ 10 ปี
จุดเริ่มต้นในการศึกษาคือการพิจารณาลักษณะข้าว ว่าพันธุ์ใดสามารถพัฒนาเป็นพันธุ์ทนร่มเงาได้ เช่น มีใบกว้าง ใบยาว ความสูงต้นข้าวต้องไม่เกิน 125 เซนติเมตร ในใบข้าวมีคลอโรฟิลล์บีมากกว่าคลอโรฟิลล์เอ ความยาวรากต้องไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร จำนวนรากต้องไม่น้อยกว่า 115 ราก และมีความหนา จำนวน Stomata หรือจำนวนปากใบประมาณ 0.625 ตารางมิลลิเมตร และจะต้องมีจำนวนปากใบไม่น้อยกว่า 32 ปากใบ
ที่สำคัญคือผลผลิตต่อไร่ต้องสูง เนื่องจากปกติของการปลูกข้าวในสภาพร่มเงาที่ได้รับแสงน้อยจะให้ผลผลิตลดลงมากกว่ากลางแจ้งอยู่แล้ว นอกจากนั้น พันธุ์ข้าวควรต้องสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
การคัดเลือกพันธุ์ข้าวไร่ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดยในที่สุดได้คัดพันธุ์ที่ดีที่สุดไว้ 11 พันธุ์ แล้วนำเอา 11 พันธุ์ข้าวนั้นกับพันธุ์เปรียบเทียบของกรมการข้าวมาคัดในตาข่ายพรางแสงขนาด 50% 60% และ 70% พร้อมกับมีการวัดอุณหภูมิก่อน เพื่อเปรียบเทียบกับแปลงกลางแจ้ง
จากนั้นจึงคัดเลือกลักษณะที่พึงประสงค์ในแปลง ดังนี้ 1) ต้นแข็งแรง มีเปอร์เซ็นต์การหักล้มไม่เกิน 20% 2) ความสูงต้นไม่เกิน 120 เซนติเมตร และไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร 3) จำนวนต้นกอไม่เกิน 3 ต้นต่อกอ เพราะถ้าเกิน รวงจะไม่มีประสิทธิภาพ รวงจะไม่ใหญ่ 4) อายุเก็บเกี่ยวสั้นถึงปานกลาง ที่ 80-120 วัน กับ 110-130 วัน หลังงอก 5) จำนวนเมล็ดต่อรวงจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% ของแปลงเปรียบเทียบที่ปลูกกลางแจ้ง
ผลการปลูกในช่วงแรกปรากฏว่าข้าวล้มแทบจะไม่ได้ผลผลิต จนกระทั่งในการปลูกรอบ 2-3 ข้าวจึงเจริญเติบโตสมบูรณ์มากขึ้น การคัดพันธุ์ดำเนินมาต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2564 ปริมาณผลผลิตข้าวก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 300 กก./ไร่ จากนั้นจึงมาถึงการทดลองปลูกในพื้นที่จริง
ผลการทดลองปลูกจริงบนแปลงพืชเศรษฐกิจ
ผลการทดลองปลูกข้าวไร่ในแปลงพืชเศรษฐกิจพบว่า ในสวนมะพร้าวใช้วิธีเว้นระยะจากต้น 2-2.5 เมตร จะทำให้มีพื้นที่ปลูกระหว่างต้นมะพร้าวถึง 4 เมตร เนื่องจากพื้นที่ระหว่างต้นมีมากถึง 9 เมตร ในขณะที่ระบบรากมะพร้าวมีการกระจายออกรอบโคนต้นในรัศมีประมาณ 2 เมตร แต่แสงในพื้นที่ระหว่างแถวมะพร้าวมีประมาณ 50% เท่านั้น และอุณหภูมิต่างกับแปลงกลางแจ้ง ดังนั้นพันธุกรรมพืชที่จะนำไปปลูกต้องสามารถปรับตัวได้ในสภาพร่มเงา
ส่วนการปลูกในแปลงปาล์มน้ำมันต้องไถให้ห่างจากโคนต้นด้านละ 2.5 เมตร ดังนั้น หากใครต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างแถวปลูกปาล์มน้ำมัน จึงมีข้อแนะนำว่าควรปลูกห่างระยะ 9×10 เมตร ไม่ใช่ 9×9 เมตร ทั้งนี้ อุณหภูมิในสวนปาล์มน้ำมันต่ำกว่ากลางแจ้ง กรณีที่ปลูกข้าวในสวนปาล์มน้ำมัน แม้ว่าเป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วงก็จะไม่มีผลกระทบต่อข้าว เนื่องจากได้รับความชื้นจากสวน
ขณะที่การทดลองปลูกข้าวในสวนยางพาราที่มีระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 6-7 เมตร โดยเริ่มต้นจากการปลูกข้าวในท่อซีเมนต์ และอีกส่วนหนึ่งปลูกในร่องสวนยางพารา พบว่าการปลูกในร่องสวนดีกว่าปลูกในท่อซีเมนต์
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะสวนปาล์ม สวนยาง สวนมะพร้าวก็ล้วนปลูกข้าวได้
รศ.ดร.ร่วมจิตร กล่าวว่า ข้อดีของพันธุ์ข้าวไร่ทนร่มเงา ได้แก่ ผลผลิตสูง อายุสั้น อายุกลาง ทนวัชพืช มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทนแล้ง ตัวอย่างเช่น พันธุ์ภูเขาทอง เป็นกลุ่มพันธุ์ข้าวอายุสั้น ทนแล้งมากที่สุด พันธุ์นางเขียน นางดำ ดอกขาม เล็บนก นางครวญ จะเป็นพันธุ์อายุกลางอยู่ที่ 121-124 วัน พันธุ์สามเดือน จากเดิมที่พัฒนาพันธุ์ 108 วัน ปัจจุบัน 87 วัน และยังคงพยายามลดจำนวนวันให้เหลือเพียง 80 วัน
“เพราะว่ายิ่งสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ ทำให้ต้องพัฒนาพันธุ์ที่อายุสั้นยิ่งขึ้นเท่านั้น เพื่อที่เกษตรกรมีข้าวปลูกและกินได้ทั้งปี” รศ.ดร.ร่วมจิตร กล่าว
พันธุกรรมคือกุญแจสำคัญ
จากงานศึกษาที่ได้ดำเนินการมา รศ.ดร.ร่วมจิตร ระบุว่า หัวใจสำคัญยังคงอยู่ที่การคัดต้นข้าว นั่นคือต้องเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูง แตกกอดี (ไม่เกิน 3 ต้น/กอ) และต้นแข็งแรง ประกอบกับความสูงของต้นต้องคัดให้เหมาะสมตามพื้นที่ และในการคัดเลือกพันธุ์ต้องใช้ข้อมูลพันธุกรรมร่วมกับสภาพพื้นที่ด้วย
“สภาพแวดล้อมบ้านเราไม่มีใครรู้ดีมากกว่าตัวเกษตรกร เราต้องศึกษาข้อมูลตรงนี้ให้ชัด และเอาพันธุกรรมของเรามาศึกษาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวไร่ ข้าวนาน้ำฝน ข้าวนาชลประทาน เราจะไม่อดตาย แล้วยังสามารถรักษาพันธุกรรมและต่อยอดพันธุกรรม”
ในความเห็นของ รศ.ดร.ร่วมจิตร ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะพาให้เกษตรกรรอดได้อยู่ที่เรื่องของพันธุกรรม โดยเกษตรกรจำเป็นจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมพืชที่ตนเองมีอยู่ เช่น ลักษณะประจำพันธุ์เป็นอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสีย หรือจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร จากนั้นจึงมาพิจารณาว่าจะมีระบบการจัดการที่ดีอย่างไร จะปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างไรที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังคุกคามโลกทั้งใบอยู่ในเวลานี้
“ถ้าเราเป็นชาวนา เราต้องมีฐานพันธุกรรมที่หลากหลาย ทั้งอายุสั้น อายุกลาง และอายุยาว รวมถึงเป็นพันธุ์ข้าวไวแสง ไม่ไวแสง ไวแสงปานกลาง”
รศ.ดร.ร่วมจิตร ยังชี้ประเด็นอีกว่า ปกติพันธุกรรมข้าวมีอายุที่หลากหลายช่วง ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องไปนาทุกวัน การลงไร่นาที่ต่างกันก็จะทำให้เห็นข้อดีข้อเสียของต้นพืชได้ชัดเจน เพื่อที่จะนำมาพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
“ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าว พันธุ์พืช พันธุ์ผัก หรือพันธุ์พืชไร่ มันเป็นหัวใจหลักสำคัญ มีความเกี่ยวพันของชีวิตเกี่ยวเนื่องไปจนถึงสังคม เพราะถ้าหากคุณภาพชีวิตของเราดี ก็จะพลอยให้เพื่อน/สังคมเกิดการแบ่งปัน”
การเตรียมการเพื่อรองรับแนวโน้มในอนาคต
นอกจากนั้น รศ.ดร.ร่วมจิตร ยังเตรียมการสำหรับแนวโน้มในอนาคตว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น พันธุ์ข้าวอาจสูญหาย ดังนั้นเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัวรับมือ จึงจำเป็นต้องมีการทดลองต่อเนื่อง โดยการนำพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวแสงมาปลูกภายใต้โรงเรือนคลุมพลาสติก เพื่อทดสอบว่าข้าวสามารถเจริญเติบโตได้หรือไม่ภายใต้อุณหภูมิ 48-49 องศาเซลเซียส
ตลอดจนมีการทดลองปลูกข้าวไร่ร่วมกับพืชตระกูลถั่ว เพื่อที่ในระหว่างที่รอข้าวไร่สุกแก่ เกษตรกรก็สามารถมีรายได้จากพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ ปลูกสลับกัน รวมทั้งจะทำให้ผืนดินได้ธาตุไนโตรเจนจากถั่วที่ปลดปล่อยมาให้กับข้าวไร่ด้วย