ข้าวพันธุ์ทองระย้า เป็นข้าวพันธุ์ดีในท้องถิ่นของมณฑลนครไชยศรีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดพันธุ์ข้าวในการประกวดพันธุ์ข้าวครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นงานแสดง “กสิกรรมแลพานิชการครั้งที่ 1” (อ้างอิงจาก อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. บอร์ดเล่าขานตำนานศาลายา ครั้งที่ 10 “ในน้ำมีปลา ศาลายามีข้าว”)
ข้าวทองระย้าปรากฏในพระราชดำรัสตอบโต้ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิราญาณวโรรส (พระยศในขณะนั้นซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า) เกี่ยวกับข้าวที่ทรงได้รับจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ว่า ข้าวที่พระราชทานมานั้นมีเลี่ยนไม่เหมือนข้าวทองระย้า ดังข้อความต่อไปนี้ (อ้างอิงจากจาก งานข้าวใหม่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560 โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือข่ายต่างๆ )
นายประภาส ปิ่นตบแต่ง บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 2 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ได้ขอความอนุเคราะห์พันธุ์ข้าวทองระย้าจากศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดปทุมธานีกลับเมื่อปี 2559 และได้ขยายพันธุ์ปลูกในปี 2562 จำนวน 5 ไร่ ปลูกในระบบอินทรีย์แบบนาดำ เก็บเกี่ยวด้วยวิธีการเกี่ยวข้าวกำสุ่มซัง และนวดด้วยแรงคน
ลักษณะพันธุ์
เป็นข้าวนาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุสั้น ออกรวงเร็ว อายุเก็บเกี่ยว 135 – 140 วัน ทรงต้นสูง กอตั้งตรง แตกกอมาก เฉลี่ย 14-15 ต้นต่อกอ ความสูงต้นถึงปลายรวง169 เซนติเมตร สีปล้องในระยะออกดอก 50 % เป็นสีเขียวอ่อน ความแข็งต้นในระยะออกดอก 20 วันแข็งแรง ลักษณะใบ ในระยะแตกกอเต็มที่สีเขียว ปลายใบโค้งงอ แผ่นใบมีขน กาบใบสีเขียว ความยาวใบ 64 เซนติเมตร ความยาวลิ้นใบ 2.7 เซนติเมตร ใบธงโค้งงอ ยาว 56.8 เซนติเมตร ความยาวรวงระยะเก็บเกี่ยว 31.8 เซนติเมตร การแตกระแง้ปานกลาง 9-10 ระแง้ต่อรวง คอรวงยาว จำนวนเมล็ดต่อรวง 202 เมล็ด (บันทึกลักษณะพันธุ์โดยทีมนักวิจัยของ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) วิธีการปลูก
ปลูกช่วงเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม โดยวิธีดำนา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นนาโยน เพื่อข้าวจะแตกกอดีมากขึ้น ไม่งั้นจะแน่นเกินไปหรือใช้การปักดำ (จ้างรถดำนา)
การแปรรูป
การหุงใช้น้ำไม่เยอะเวลาหุงออกจะมีความร่วนฟู กินกับน้ำแกง สำหรับการแปรรูปเหมาะทำข้าวผัด หรือใช้เป็นส่วนผสมขนมครก 50% กับ แป้งข้าวหอมนครชัยศรี 50% เพราะ เนื้อสัมผัสมีความร่วน จึงไปเพิ่มความกรอบให้กับตัวขนมครกได้ดี
แหล่งอ้างอิง
วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า จ.นครปฐมและรศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย