โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 20 ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ : สถานการณ์โควิด-19 ผลกระทบ การปรับตัว และแนวทาง

       ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์หลายแห่งต้องมีการยุติไป บางแห่งที่เปิดได้ ต้องมีการปรับเวลาเปิด-ปิด มีจุดคัดกรอง การเว้นระยะห่างของผู้ผลิต และอื่นๆ ในความเป็นจริงแล้ว “อาหารปลอดภัย” เป็นความต้องการของผู้บริโภคหลายๆ คนโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด ผู้คนให้ความสนใจ ต้องการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น “ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์” ควรเป็นคำตอบให้กับผู้บริโภคทุกๆ คน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ภายใต้มาตรการป้องกันที่ปลอดภัยต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น

ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ : สถานการณ์โควิด-19 ผลกระทบ การปรับตัว และแนวทาง

       ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ เป็นระบบตลาดที่มีการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยไม่มีคนกลาง และเป็นระบบที่เชื่อมร้อยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคมากไปกว่าการซื้อ-ขาย เป็นพื้นที่เรียนรู้การอยู่การกินวิถีชีวิต และสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ต้องเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่านั้น

       ภายใต้การดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาคและมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ก่อให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายเกษตรกรทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาค ในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต เน้นการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ คำนึงความหลากหลายของพันธุกรรมพืชและสัตว์ที่สอดคล้องในแต่ละนิเวศ การเกิดขึ้นของตลาดอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของการรองรับผลผลิตที่เกิดขึ้น ถึงวันนี้ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ หรือตลาดนัดสีเขียวได้ตั้งกระจายในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สงขลา พัทลุง และที่อื่นๆ  ตลาดเหล่านี้จะกำหนดวันเปิดเพียง 1 หรือ 2 วัน ในแต่ละสัปดาห์ ไม่ได้เปิดขายทุกวัน อีกทั้งกำหนดเวลาเปิดเป็นช่วง คือเช้าถึงสายๆ หรือบ่ายๆถึงเย็น และเพื่อให้มีสถานที่สำหรับวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ดังนั้น ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่จะตั้งในพื้นที่สาธารณะของเมือง เช่น สวนสาธารณะ หอนาฬิกา ในโรงพยาบาล หน้าสถานที่หน่วยงานของรัฐ ในมหาวิทยาลัย และบางจังหวัดเริ่มที่จะเข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์นับวันขยายมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพและตระหนักถึงพิษภัยสารเคมีที่ตกค้างในพืชผักที่ผลิตในระบบเคมี….

       เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์หลายแห่งได้ถูกปิดไปตามมาตรการป้องกันการระบาดในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีเพียงบางแห่ง เช่น ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดขอนแก่น ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดยโสธร ได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดซื้อขาย ทั้งนี้ผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องร่วมมือมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดด้วยกัน

โควิด-19 ผลกระทบตลาดนัดเกษตรอินทรีย์

       ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ผลิตภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก พบว่าในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีมาตรการในการปิดตลาดไม่ให้มีการซื้อขายนั้น ทำให้รายได้ของผู้ผลิตจากที่เคยจำหน่ายผลผลิตได้ลดลงไป 50% เนื่องจากผลผลิตไม่สามารถเอาไปจำหน่ายในตลาดได้ ทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกิน ถึงแม้ว่าบางแห่งจะสามารถประสานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องขอเปิดตลาดนัดก็ตามแต่พบว่า ผู้ผลิตเองไม่กล้าออกมาขายเนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ลูกหลานห่วงใยไม่ให้ออกมา เช่น ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า “เกษตรกรภายใต้เครือข่ายเกษตรทางเลือกที่เป็นผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ดูเหมือนยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิทรุนแรงมากนัก เนื่องจากยังสามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหารที่มีอยู่ในระดับแปลงรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ แต่อาจมีปัญหาเรื่องการติดขัดเงินทุนสำหรับการหมุนเวียน แต่ที่สุดแล้วจำเป็นต้องค้นหาทางเลือกและปรับตัวกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น” อารัติ แสงอุบล เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้เสนอข้อคิดเห็น

โควิด-19 การปรับตัวตลาดนัดเกษตรอินทรีย์

       เมื่อตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ถูกปิดตัวไป ผู้ผลิตย่อมต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทั้งการปรับระบบการจัดจำหน่ายผลผลิต และการปรับระบบการผลิต ตัวอย่างเช่น

       จัดผลผลิตใส่กล่องบริการส่งถึงบ้าน ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดขอนแก่น และตลาดนัดสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม ใช้กรุ๊ฟไลน์ของแต่ละกลุ่มให้ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกสั่งสินค้า แล้วจัดผลผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักใส่กล่องจัดส่งถึงบ้าน ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดขอนแก่น จะจัดผลผลิตตามที่มีในแปลงเกษตรอินทรีย์ของผู้ผลิตแล้วจัดให้กับผู้บริโภคในอัตรากล่องละ 300 บาท 400 บาทและ 500 บาท มีค่าบริการจัดส่งกล่องละ 50 บาท แต่ราคาผักจะสูงกว่าราคาที่ซื้อในตลาด สำหรับตลาดนัดสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม จัดทำรายการสินค้าผลผลิตที่มีแล้วส่งผ่านกรุ๊ฟไลน์ให้สมาชิกเลือกซื้อแบบสั่งจองล่วงหน้าในราคาเดียวกันกับที่วางขายในตลาด ถึงกำหนดวันจะจัดส่งถึงบ้านหรือนัดจุดรับ ซึ่งจะคิดราคาค่าบริการจัดส่งกล่องละ 30 บาท อย่างไรก็ตามวิธีการจัดการดังกล่าวอาจไม่มีความคุ้มทุนเนื่องจาก “เราต้องเอาผักมาจัดใส่กล่องใหม่ เนื่องจากผักจะมารวมกันที่ตลาดในช่วงเย็นของวันศุกร์ แล้วเราต้องจ้างคนในการแพ็ค ผลผลิตที่ผู้ผลิตเอามาในตลาดมาไม่พร้อมกันทำให้ต้องรอและกว่าผลผลิตไปถึงผู้บริโภคบางครั้งก็เป็นเวลาทุ่มหนึ่ง ถ้าจะให้คุ้มต้องมีสมาชิกสั่งไม่น้อยกว่า 20 กล่อง ” จงกล พารา ผู้ประสานงานตลาดนัดสีเขียว จังหวัดขอนแก่น เล่าให้ฟัง เช่นเดียวกับนุดจาด โฮมแพง ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม ได้เล่าว่า “ปริมาณของผู้บริโภคที่จะสั่งผลผลิตแล้วให้ส่งถึงที่บ้านนั้น ยังมีไม่มากนักความคุ้มทุนจะต้องไม่ต่ำกว่า 10 รายแต่ละรายต้องสั่งผลผลิตไม่ต่ำกว่า 300 บาท”

       ซื้อขายโดยตรงจากชุมชน/แปลงเกษตร โดยเฉพาะตลาดนัดที่มีการดำเนินการซื้อขายกันมานาน ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สนิทสนมกัน ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตโควิดผู้บริโภคจะสั่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร แล้วนัดจุดรับส่ง อย่างเช่นตลาดนัดสีเขียวจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโฉนดชุมชนลานตากฟ้า อำเภอลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าในชุมชนที่มีเกษตรกรทำระบบเกษตรอินทรีย์ จะมีผู้บริโภคเข้ามาซื้อผลผลิตถึงแปลงซึ่งอาจเป็นคนในและนอกชุมชน หรือผู้ผลิตเอาผลผลิตในแปลงตะเวณขายในชุมชน ซึ่งวิธีนี้ได้รับความนิยมมาก พรรณี เชษฐสิงห์ กลุ่มอารยะฟาร์ม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าว่า “ในแต่ละวันเอาผักจากแปลงใส่จักรยานปั่นขายในชุมชน ใช้เวลาไม่นานก็ขายหมด ถ้ามีผักเยอะได้เงินวันละ 100-200 บาท”

ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เครือข่ายเกษตรกรในระดับพื้นที่ได้มีการจัดทำเพจของเครือข่ายขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารและจำหน่ายผลผลิต ซึ่งจะมีผู้บริโภควงกว้างจากทั่วประเทศที่สนใจและเข้าถึงเพจเข้ามาเลือกสั่งผลผลิต อย่างไรก็ตามพบว่าผลผลิตที่จำหน่ายในช่องทางเพจนี้ ส่วนใหญ่จะผลผลิตที่เก็บรักษาได้นาน เช่น ข้าวชนิดต่างๆ เมล็ดพันธุ์ หรือพืชตระกูลถั่ว

       จัดระยะห่างและมีจุดคัดกรองในตลาด เช่น ข่วงเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ และตลาดสถาบันวิจัยหิริภุญชัย จังหวัดลำพูน มีการจัดระยะห่างของแม่กาดที่มาขาย ให้แม่กาดสวมหน้ากากและถุงมือ มีจุดคัดกรองสำหรับผู้บริโภค และต้องรักษาระยะห่าง ต้องสวมหน้ากาก หรือมีการรวบรวมผลผลิตจากชุมชนแล้วให้ตัวแทนมาจำหน่ายที่ตลาดนัด เช่น ชุมชนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่

       การแลกเปลี่ยนผลผลิต และการส่งต่อผลผลิต ในวิกฤตโควิด ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรไม่สามารถเอาผลผลิตออกไปขายได้ ทำให้มีผลผลิตล้นเหลือในชุมชนไม่เพียงแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ประมงพื้นบ้านก็ต้องประสพปัญหาดังกล่าว ดังนั้น จึงมีโครงการแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน อย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ จังหวัดยโสธร นำข้าวอินทรีย์ไปแลกกับปลาทะเลของประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังมีโครงการปันอาหาร ปันชีวิต ที่โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) และมูลนิธิสุขภาพไทย ได้ดำเนินการโดยเป็นตัวกลางประสานจัดระดมเงินทุนจากสาธารณะ แล้วนำเงินไปซื้อผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ไม่ว่าเป็นผัก ข้าว หรือไข่ เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มผู้เปราะบางในเมือง ทั้งที่เป็นแรงงานนอกระบบ คนทำงานรับจ้างซึ่งได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือไม่มีงานทำ

       ปรับตัวในระบบการผลิต กลุ่มวิสาหกิจโฉนดชุมชนลานตากฟ้า อำเภอลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม เมื่อผลผลิตไม่สามารถออกไปจำหน่ายได้ สมาชิกของกลุ่มหลายคนจำต้องลดปริมาณการผลิตลงโดยเฉพาะการปลูกผัก แต่จะไถกลบพื้นที่ไว้ หากเมื่อไรตลาดนัดเกษตรอินทรีย์เปิดให้จำหน่ายอย่างเต็มที่ ก็สามารถลงพืชผักในแปลงที่ได้เตรียมไว้แล้ว

แนวทางและอนาคตหลังโควิ-19

       ในวิกฤตโควิดสิ่งที่เกิดขึ้นต่อความต้องการบริโภคผลผลิตอินทรีย์นั้นเด่นชัดมากขึ้น ผู้บริโภคให้ความสนใจและหาซื้อผลผลิต ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ที่เปิดขายและมีมาตรการป้องกันอย่างดี อย่างเช่น ข่วงเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดยโสธร และตลาดนัดสีเขียวจังหวัดยโสธร ผู้บริโภคมารอซื้อ หรือมีผู้บริโภคไปซื้อถึงชุมชน รวมถึงคนในชุมชนเองก็ซื้อหามากิน นอกจากนั้นรูปแบบการซื้อขายใหม่ๆ ถูกนำมาใช้อย่างการนำผลผลิตใส่กล่องส่งถึงบ้าน การขายผ่านระบบออนไลน์ มีแนวโน้มที่ได้รับความสนใจ เป็นสิ่งที่เครือข่ายเกษตรกรต้องยกระดับพัฒนาการเรียนรู้ต่อไป รวมไปถึงการส่งผลผลิตให้กับโรงเรียนหรือโรงพยาบาลโดยตรง หรือการแลกเปลี่ยนผลผลิต การนำผลผลิตไปให้กับกลุ่มคนเปราะบาง

       เหล่านี้อาจเป็นแนวทาง หรือเป็นแนวโน้มของความช่วยเหลือ แบ่งปันในอนาคตเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้น และสำหรับวิกฤตโควิดในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า การรักษาทรัพยากรให้มีความหลากหลายทั้งในระดับแปลงเกษตรและระบบธรรมชาติป่า แม่น้ำและทะเล สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี

       ที่สำคัญสุดภายใต้สถานการณ์หรือวิกฤตต่างๆ “ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์” ยังมีความจำเป็นที่ต้องเปิดซื้อ-ขาย เนื่องจากอาหารปลอดภัยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกคน ดังนั้นควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม ภายใต้มาตรการการป้องกันที่มให้ความปลอดภัยทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

ขอขอบคุณ : รูปภาพจาก เกษศิรินทร์ พิบูลย์ และรูปภาพจากโพสต์ของ Fuang Fung / Jongkol para / jack sungkachart และตลาดนัดสีเขียว มหาสารคาม

บทความแนะนำ