โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        ชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายประการนับตั้งแต่เริ่มต้นทำนาจนเก็บเกี่ยว แปรรูป การตลาด รวมไปถึงการเตรียมตัวที่จะทำนาในฤดูกาลถัดไป ดังนั้นในวิถีชาวนาจึงต้องคิดค้น ปรับตัวหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ข้าวมีผลผลิตที่ดี มีรายได้ดำรงชีพ มีเงินลงทุนทำนาในรอบถัดไป และผู้บริโภคได้มีข้าวกิน

        จากวงคุย “บทเรียนชาวนา ร่วมแก้ปัญหาการผลิต” งานเทศกาลข้าวใหม่ปี 65 ในวันที่ 15 มกราคม 2565  ที่จัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิชีววิถี แผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ได้มีตัวแทนชาวนา 4 ภาคและนักวิชาการ นำเสนอสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปรับตัวหรือแก้ปัญหานั้นๆ มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดการปัญหาที่สอดคล้องเหมาะสมในแต่ละนิเวศที่แตกต่างกันต่อไป

สภาพปัญหาที่ส่งผลต่อการทำนา

        ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จากการทำนาในแต่ละช่วงฤดูการผลิตทั้งนาปีและนาปรัง ปัญหาสำคัญที่ชาวนาต้องเผชิญสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

  1. นกและหนู พบว่า ปริมาณนกที่เข้ามาจิกกินเมล็ดข้าวในแปลงนามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี นกที่เข้ามาจิกกินข้าวในแปลงนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงหว่านข้าว จะเป็นนกตัวใหญ่ เช่น นกพิราบ นกเขา และช่วงข้าวน้ำนมจนกระทั่งออกรวง จะเป็นนกตัวเล็กๆ  เช่น กระติ๊ดขี้หมู กระจาบ กระจิบ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก มักเลือกมาในช่วงเช้าแดดอ่อนๆ จิกกินเสร็จก็บินไปเป็นฝูง เกาะต้นไม้ หรือสายไฟ เที่ยงวันลงมาจิกอีก และลงมาอีกครั้งช่วงเย็น ซึ่งนกตัวเล็กๆ จะทำลายข้าวได้มากกว่านกตัวใหญ่
  2. แมลงสิง ปัญหานี้พบมากในพื้นที่ข้าวไร่ของภาคใต้ ซึ่งแมงสิงจะออกหากินในเช้ามืด และบ่ายๆ โดยจะเกาะเรียงแถวบริเวณใบข้าว แล้วดูดน้ำเลี้ยงจากใบข้าว และเมื่อโตเต็มวัยจะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะข้าวน้ำนมจนข้าวออกรวงทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์ ซึ่งแมงสิงสามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว จึงทำลายต้นข้าวให้เสียหายเป็นจำนวนมาก
  3. วัชพืช ถ้าจัดการน้ำได้สามารถควบคุมวัชพืชได้ สำหรับพื้นที่นาน้ำฝน หรือการทำนาหว่านนั้นวัชพืชจะเป็นปัญหาในการทำนา บางครั้งวัชพืชติดมากับเมล็ดข้าวที่หว่าน หรือตกค้างอยู่ในผืนนา ทำให้เติบโตพร้อมกับข้าว เมื่อได้รับน้ำฝนหรือมีความชื้นที่เหมาะสมจะเติบโตได้ดีเป็นตัวแย่งธาตุอาหารจากข้าว เป็นปัญหาในการผลิตข้าวของชาวนา
  4. ผลจากการพัฒนา การสร้างถนนหนทางไม่มีทางระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำที่ทำให้ พื้นที่นาเป็นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เมืองโดยเฉพาะชาวนาในภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม ส่งผลให้ชาวนาไม่สามารถทำนาได้ ได้แต่รอรับเงินชดเชย ชาวนาที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่แก้มลิงมักไม่ได้รับการดูแล รวมไปถึงการส่งเสริมทำนาที่มุ่งเน้นเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
  5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในนาน้ำฝนต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เช่น หว่านหรือหยอดข้าวไปแล้ว ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จึงต้องมีการหว่านหรือหยอดมากกว่าหนึ่งครั้ง ทำให้ต้นทุนการผลิตจากการซื้อเมล็ดพันธุ์สูงขึ้น หรือช่วงเวลาข้าวตั้งท้องฝนตกในปริมาณมาก พื้นที่น้ำท่วมข้าวเสียหาย หรือในพื้นที่ข้าวไร่ หากปริมาณฝนมีมากในช่วงข้าวตั้งท้องจะทำให้เมล็ดข้าวลีบ หรือเป็นเชื้อราที่กาบใบ หรือกาบใบเน่า หรือการหว่านข้าวไร่ในร่มเงา หากเจอความชื้นในดินที่สูงเกินไปทำให้ข้าวไม่งอก
  6. ปัญหาที่ดินทำกิน กรณีพื้นที่สูงภาคเหนือ กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับสิทธิในที่ดินทำกิน และถูกกล่าวอ้างว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายพื้นที่ได้อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานหรือป่าสงวนแห่งชาติ และมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับทรัพยาธรรมชาติที่ดำรงอยู่ได้ และมีความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียนที่มีความหลากหลายทั้งพันธุ์ข้าว พืชผัก รวมถึงการมีประเพณีต่างๆ ถึงแม้มีนก หนู โรค แมลงเกิดขึ้นแต่ไม่ได้สร้างปัญหา แต่ข้อจำกัดด้านสิทธิในที่ดินทำกินจึงมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ไร่หมุนเวียน หรือพื้นที่ปลูกข้าวลดลง แต่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตหากสิทธิที่ดินยังไม่มีการบริหารจัดการอย่างเท่าเทียม เชื่อว่า วิถีชีวิตของของกลุ่มชาติพันธุ์จากการเกื้อกูลกับธรรมชาติ การมีความหลากหลายของพันธุ์ข้าว พืช ผัก สัตว์ที่ลดลง กับการระบาดขอองโรคและแมลงที่เพิ่มมากขึ้น

        สำหรับพื้นที่นาในที่ราบภาคกลางเอง ชาวนาหลายครอบครัวอยู่ในภาวะที่ดินใกล้หลุดมือ อันเนื่องจากภาระหนี้สินที่พอกพูนสูงขึ้น การทำนาที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง การเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้วิถีชาวนาแย่ลง

ประสบการณ์ปรับตัวและแก้ไข

        จากประสบการณ์ในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการแลกเปลี่ยนทั้งการวางแผนจัดการแปลงนาทั้งระบบ และประสบการณ์จัดการแก้ปัญหาในเฉพาะประเด็น ดังนี้

        1.การปรับรูปแบบและวางแผนการทำนา โดยลดพื้นที่ทำนาลงเพิ่มความหลากหลายทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปรับพื้นที่นาให้เป็นเกษตรผสมผสานหรือเกษตรนิเวศ หรือใช้พื้นที่นามาปลูกพืชอาหารสัตว์แทน หรือปลูกข้าวให้เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

        จังหวัดชุมพร เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน เช่น ข้าวสามเดือน ข้าวเล็บนก ข้าวภูเขาทอง พร้อมคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ ในการปลูกข้าวไร่จะไม่ปลูกทั้งแปลงใหญ่แต่จะสลับพืชหมุนเวียนไป เช่น หากปลูกข้าวหลังเก็บเกี่ยวจะปลูกพืชตระกูลถั่ว ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ฯลฯ หรือปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ผสมผสานลงไป เช่น พริก ข้าวโพด ปลูกหญ้าเนเปียร์ ปลูกพริกไทย เลี้ยงไก่ โคขุน แม้กระทั่งหมู จังหวัดนครปฐม ได้ลดพื้นที่ทำนาลงโดยมาปลูกพืชอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์แทน

        ตัวอย่างของจังหวัดสงขลา การทำข้าวไร่โดยใช้ผสมผสานลงในแปลงต้นยางพาราที่ยังเล็ก เมื่อต้องเผชิญกับสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต จึงได้นำตอซังหรือฟางข้าว ไปใช้ประโยชน์ในการคลุมไม้ผล เช่น ทุเรียน ลองกองแทน ในขณะที่ได้มีการปลูกพืชอายุสั้น ผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่ เช่น พริก มันขี้หนู ถั่วลิสง ข้าวฟ่าง พืชผักต่างๆ

        2.การจัดการนก และหนู วิธีการที่นิยมและทำกัน ไม่ว่าอัดเสียงไล่นก จุดประทัดไล่ ซึ่งชาวนาต้องใช้เวลาในการเฝ้านาหรือไร่ข้าวเพื่อไล่นก การใช้ประทัดส่งผลอันตรายต่อผู้ขว้างประทัดหลายครั้งระเบิดใส่นิ้วตัวเอง หรือสร้างความรำคาญให้แก่คนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้แปลงนา แต่เมื่อประทัดหมดนกก็กลับมา หรือไม่ก็หลบตัวตรงกอข้าว เมื่อคนไม่อยู่นกก็ออกมาจิกกินข้าวได้อีก สำหรับประสบการณ์ในการจัดการนกที่ผ่านมามีดังนี้

        – สังเกตระบบนิเวศ จังหวัดชุมพรที่พบว่าในช่วงปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไป จนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่นกเหยี่ยวอพยพเข้ามา จึงวางแผนการและเลือกพันธุ์ข้าวที่ออกรวงช่วงนกเหยี่ยวอพยพมา ซึ่งสามารถป้องกันนกตัวเล็กๆ ไม่ให้มาจิกกินข้าวได้เพราะกลัวนกเหยี่ยวที่ตัวใหญ่กว่า

        – เลือกลักษณะพันธุ์ที่เหมาะสม การทำข้าวไร่ในภาคอีสาน พบว่า ข้าวที่มีลักษณะเมล็ดใหญ่ มีหาง และมีขน เช่น ข้าวพญาลืมแกง หรือข้าวที่มีใบธงชี้ตรงปิดรวงข้าวไว้ เช่น ข้าวปกาอำปึล นกไม่สามารถเข้าทำลายได้ หรือ นกมักจะเลือกจิกกินข้าวที่รสชาติดี มีกลิ่นหอม ดังนั้นการทำนาในแปลงขนาดใหญ่ และพันธุ์ข้าวที่นกชอบก็จะถูกทำลายจนหมด ดังนั้น ชาวนาอาจการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อปลูกกินหรือสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน

        สำหรับประสบการณ์ การจัดการหนูถึงแม้ในภาคอีสานได้จับหนูมาเป็นอีสานจึงไม่ถือเป็นปัญหาเท่ากับนก อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากจังหวัดมหาสารคามก็มีการจัดหนู โดยสังเกตเห็นว่าบริเวณช่วงข้าวออกรวง ผืนนาที่ไม่เรียบหรือเป็นที่ดอน หนูมักจะไปอาศัยอยู่บริเวณนั้น ไปกัดกินต้นข้าวแล้วเอามาทำรัง แต่ช่วงก่อนข้าวตั้งท้องได้สูบน้ำเข้าในแปลงนาสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร พอข้าวเริ่มตั้งท้องสูบน้ำออก แล้วทำความสะอาดบริเวณคันนา ตัดหญ้าให้เตียนติดดิน พบว่าไม่มีหนูอาศัยในนาเลย เนื่องจากหนูไม่มีที่อยู่นั่นเอง เพราะหนูจะอาศัยบริเวณหญ้ารกตรงคันนา

        จังหวัดชุมพรได้ทดลองปลูกข้าวไร่แทรกลงไประหว่างช่องว่างของต้นปาล์ม ซึ่งพบว่าในช่วง 1-2 ปี ไม่มีปัญหาเรื่องหนู แต่พอย่างปีที่ 3 มีหนูข้าวมากัดกินต้นข้าว จึงสร้างบ้านนกแสกขึ้นมาบริเวณดังกล่าว เพื่อให้นกแสกมาอยู่และกินหนูเป็นอาหาร

  1. การจัดการวัชพืช ถ้าจัดการน้ำได้สามารถควบคุมวัชพืชได้ สำหรับพื้นที่นาน้ำฝนอย่างจังหวัดยโสธร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาอินทรีย์ เมื่อเกิดวัชพืชที่เติบโตพร้อมข้าวจะใช้วิธีตัดใบข้าวในช่วงที่ข้าวกำลังแตกตอกับวัชพืชพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับข้าว ช่วยลดการเจริญเติบโตของวัชพืช แต่จะทำให้ต้นข้าวสูงแตกกอสม่ำเสมอ

        ในจังหวัดมหาสารคาม การจัดการวัชพืชได้ใช้วิธีการวางแผนเลื่อนการทำนา โดยนำสถิติการตกของฝนในพื้นที่มาคำนวณ จากสภาพที่เป็นดินเหนียวเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จจะปล่อยทิ้งไว้ จนฟางข้าวแห้งกรอบ เมื่อฝนแรกตกในเดือนกุมภาพันธ์ ทำการไถแล้วหว่านปอเทือง จากนั้นฝนจะตกมาอีกเมื่อครบ 50 วันจะไถกลบปอเทือง แล้วหว่านปอเทืองอีกครั้ง ซึ่งสามารถไถกลบพร้อมที่จะลงมือทำนาได้ในปลายเดือนกรกฏาคม ซึ่งจะเลือกข้าวมะลิที่สามารถปลูกได้ภายในเดือนกรกฏาคม วิธีการนี้สามารถควบคุมวัชพืชได้ อีกทั้งได้ปุ๋ยบำรุงดินจากปอเทืองด้วย เมื่อหว่านหรือหยอดข้าวไปแล้วหากฝนตกในปริมาณที่พอเหมาะจะใช้โรตารี่หรือเครื่องมือกำจัดวัชพืชลงไปไถบริเวณร่องต้นข้าว แต่หากฝนตกในปริมาณมากทำให้ดินแฉะโรตารี่ลงไปไถไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีถอน

        แต่จะไม่ถอนทุกชนิด เพราะวัชพืชตระกูลกก เมื่อเติบโตได้ 120 ก็จะตายไปก่อนที่ข้าวออกรวง รวมถึงหญ้านกสีชมพู ถึงเวลาก็ตายและยุบไปเอง แต่ปัญหาหญ้ากระดูกไก่ และโสนผีหรือโสนคางคกที่ต้องถอนออกให้หมด

แนวทางและข้อเสนอ

        ในการแก้ปัญหาของชาวนาต้องแก้ในบริบทของแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกัน ปัญหาต้องถูกแก้ในระดับครัวเรือน ชุมชน อำเภอไปสู่ระดับจังหวัด มากกว่าการแก้ปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศ ที่สำคัญชาวนาต้องวางวัตถุประสงค์ในการทำนาของตนเองว่าปลูกข้าวเพื่ออะไร ? เพื่อกิน หรือ เพื่อขาย หรืออุตสาหกรรม เพื่อมากำหนดวางแผนว่าจะต้องปลูกในเนื้อที่มากน้อยเพียงไร พร้อมจัดสรรพื้นที่ในการปลูกพืชอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในหลายภาคส่วน เช่น

  • ส่งเสริมนวัตกรรม หรือพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมกับชาวนา โดยเป็นเครื่องมือขนาดเล็กที่ชาวนาสามารถเข้าถึงได้ง่าย ประดิษฐเอง ราคาถูก จัดการและแก้ไขหรือซ่อมเองได้ เช่น อุปกรณ์ไล่นก ไล่หนู นวัตกรรมจัดการวัชพืชในแปลงนา เครื่องมือการจัดการน้ำในไร่นา การจัดการวัชพืช การจัดการโรคแมลง การเก็บเกี่ยว เครื่องมือย้ายกล้าสำหรับข้าวไร่ ฯลฯ ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่ต้องคิดค้นศึกษาผ่านการพัฒนาโจทย์และศึกษาวิจัยร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ เครือข่ายชาวนา นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาด้านเทคโนโลยี่ นักสิ่งแวดล้อม
  • ชาวนาต้องเป็นนักสังเกตและวิเคราะห์ในแปลงนาของตัวเอง เช่น พบว่าบริเวณริมคันนาเคยมีต้นขี้เหล็กปรากฏว่ามีนกเข้ามาทำลายจิกกินข้าว แต่เมื่อต้นขี้เหล็กถูกตัดทิ้งไปไม่มีนกอีกเลย หรือสังเกตว่านกไม่เกาะต้นสะเดา ซึ่งต้องสังเกตและวิเคราะห์อีกต่อไป เช่นเดียวกับการสังเกตและวิเคราะห์ลักษณะของพื้นที่นาว่าเป็นอย่างไร ดินเป็นแบบไหน พันธุ์ข้าวชนิดใดที่เหมาะสม
  • รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินทำกินสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มชาวนาที่ตกอยู่ในภาระหนี้สินจากการผลิตและที่ดินกำลังจะหลุดมือ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรที่สูงของภาคเหนือ กับการแก้ปัญหาหมอกควันจากไฟป่า ซึ่งควรมีการจัดการที่แตกต่างกันกัน ทั้งนี้หน่วยงานรัฐต้องมีส่วนร่วมทั้งเครือข่ายชาวนา นักวิชาการ และภาคีที่เกี่ยวข้อง
  • รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสนับสนุนข้อมูลหรือมีเครื่องมือที่ทำให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเท่าทัน โดยเฉพาะสถิติปริมาณน้ำฝน และสภาวะการตกของฝนในแต่ละปี ในแต่ละพื้นทีเพื่อชาวนาได้วางแผนการทำนา และเลือกพันธุ์ข้าวได้ตามเหมาะสม

ผู้ร่วมเวที :
คุณภาคภูมิ อินทร์แป้น  – วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ จ.สุรินทร์
คุณกนกพร ดิษฐกระจันทร์ – กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
คุณณฐา ชัยเพชร- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สงขลา
คุณสุพจน์ หลี่จา – สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) จ.เชียงราย
คุณดาวเรือง พืชผล – กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร
คุณณรงค์ กลิ่นถือศีล – ชาวนาตำบลแหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
คุณสุเมธ ปานจำลอง – เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน
ดร.จตุพร เทียรมา – คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร จ.ชุมพร
ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา- คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง – คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย คุณสุภา ใยเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา