ตอนที่ 21 การสร้างพื้นที่สีเขียวต่อนัยยะความมั่นคงทางอาหาร
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในชนบทและในเมืองโดยเฉพาะปัญหาควันพิษที่ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเกิดความตื่นตัวในการสร้างความร่วมมือในการหาแนวทางพัฒนาคุณภาพอากาศร่วมกันผ่านหลายช่องทาง ทั้งงานศึกษาวิจัย หรืองานเชิงนโยบายที่พยายามขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมในระดับพื้นที่ได้จริง
สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังข้างต้น ที่ได้ระดมคนทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน ในการใช้ระบบอาสาสมัครผลักดันงานตามความถนัดและความสนใจ และมีการประสานงานผ่านระบบสื่อสารภายในและแบบเปิดภายนอก ที่ถือเป็นองค์กรใหญ่ของประชาคมที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าของ เป็นพื้นที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทำงานของภาคประชาสังคมและสมาชิกในการร่วมกันผลักดันงาน รักษาทิศทางของขบวนให้ไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาเมืองหลัก 3 ด้าน คือ การสร้างพื้นที่สีเขียว การลดมลภาวะจากท่อไอเสียในเมือง และการทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นสังคมที่ปลอดขยะหรือให้มีขยะน้อยที่สุด
จากบทบาทของสภาลมหายใจเชียงใหม่ที่ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มได้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อหาทิศทางในการทำงานร่วมกันนั้น ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนโดยผ่านการจัดเวทีไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่ในเมืองฝุ่นควัน” ที่มีตัวแทนของคนรุ่นใหม่จากหลากหลายองค์กรมาร่วมแลกเปลี่ยน ที่ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อแนวทางการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีนัยยะต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่เชื่อมกันทั้งชนบทและเมือง ซึ่งสรุปได้ 2 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
- การสร้างพื้นที่สีเขียวผ่านกิจกรรมสวนผักคนเมือง ที่ถือเป็นพื้นที่อาหารจากการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการทำงานเชื่อมโยงในด้านองค์ความรู้ และการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์-กล้าพันธุ์ของกลุ่ม/เครือข่ายเกษตรกรที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงกลุ่ม/องค์กรที่เกี่ยวข้อง
- การลดช่องว่างระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารอินทรีย์ โดยผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสนับสนุนผลผลิตเกษตรกรโดยตรงซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องผ่านระบบตลาดหลายทอด นอกจากนี้การทำความเข้าใจร่วมกับผู้บริโภคในการผลิตอาหารอินทรีย์ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการขยายพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้น ด้วยหลักคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ถือเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในหลายมิติ
จากมุมมองของตัวแทนคนรุ่นใหม่ดังข้างต้น สามารถสะท้อนได้ว่าแนวคิดในการพัฒนาทั้งเมืองและชนบทนั้นไม่ได้แยกออกจากกัน แต่มีความสัมพันธ์ที่สำคัญที่ไม่ได้มองเฉพาะในแง่สิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ได้มองเป็นเชิงระบบ ดังสถานการณ์วิกฤติทั้งไวรัสที่ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่เกิดภาวะสั่นคลอนด้านความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาฝุ่นควันที่กระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้นการร่วมหาทางออกเชิงระบบในการเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบองค์รวมนั้นสำคัญ
อ้างอิงข้อมูล
อ้างอิงรูปภาพ
facebook.com/ChiangmaiUrbanFarm/photos