ตอนที่ 19 หลักคิดเบื้องต้นในการจัดการแปลงการผลิตที่ยั่งยืน
“เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพจากการแพ้สารเคมีในการเร่งผลผลิต ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ครอบครัวหันมาตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่แต่เดิมปลูกถั่วแขกใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น การตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางรอดของครอบครัวได้จริงทั้งสุขภาพ อาหาร และรายได้” เป็นเสียงสะท้อนของคุณอรุณศรี หรือพี่หล้า เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่บ้านโป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่หันมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตโดยมีมิติของการตระหนักเรื่องสุขภาพเป็นหลัก
การขยายแนวคิดเช่นเดียวกับพี่หล้าในหลายชุมชนนั้นยังคงจำกัด เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวที่ยึดเอาตัวเลขรายได้มาเป็นตัวชี้วัดว่าควรผลิตในระบบใด รวมถึงภาวะหนี้สิน การยอมรับของคนในครอบครัวและชุมชนถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกันที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกระบบการผลิต ดังเช่นกรณีเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนเดียวกับพี่หล้าที่ส่วนใหญ่ปลูกพริก ซาโยเต้ ไม้ดอกไม้ ที่ต่างก็สะท้อนว่าหากรอบการผลิตใดมีรายได้ที่ 4,000-5,000 บาทนั้นถือว่าไม่ได้อะไรเลย ต้องได้อย่างต่ำ 10,000 บาทถึงจะอยู่ได้ เพราะมีการลงทุนปัจจัยการผลิตมากทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ทำให้ต้นทุนสูง โดยนัยยะของรายได้และรายจ่ายนี้มีคนกล่าวว่า ทำเกษตรเคมีได้เงินก้อนหมดเร็ว ทำเกษตรอินทรีย์ทยอยได้เงินแต่ได้เรื่อยๆ
ในกรณีของพี่หล้านั้น การปรับระบบการผลิตสู่เกษตรอินทรีย์เป็นการตัดสินใจร่วมกันของคนในครอบครัวที่เข้าใจ และช่วยกันจัดการแปลงการผลิตโดยไม่ได้จ้างแรงงานภายนอกเลย การจัดการแปลงการผลิตจากเชิงเดี่ยวเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานของพี่หล้ามีทั้งการปลูกพืช (พืชตามฤดูกาล พืชผักสวนครัว พืชพื้นบ้าน) ไม้ผล และการเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการจัดการเชิงระบบที่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างรายได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอรายได้ต่อรอบการผลิตแบบเชิงเดี่ยวที่บางทีนานถึง 3-4 เดือน ปัจจุบันพี่หล้าทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ แยกเป็นพื้นที่พืชผักอยู่ที่ 3 ไร่ และอีก 4 ไร่เป็นไม้ผลควบคู่กับบ่อปลาและสระน้ำที่กระจายอยู่ในแปลงการผลิต พี่หล้าเล่าถึงหลักการเลือกปลูกพืชแต่ละชนิดว่า การทำเกษตรนั้นเราต้องฝึกเป็นนักวิจัยควบคู่กับการผลิตที่ต้องศึกษาเรียนรู้ลักษณะนิสัยความชอบของพืช หรือพืชตัวใดสามารถปลูกร่วมกันได้ในการเจริญเติบโต รวมถึงการสังเกตลักษณะอาการโรคหรือแมลงที่มารบกวน เพื่อจะได้วางผังการปลูกพืชให้เอื้อกันได้เป็นระบบเพื่อลดการเกิดขึ้นของโรคและแมลงได้ สำหรับแผนการจัดการแปลงในอนาคตนั้นพี่หล้ามองว่าด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นอาจจัดการแปลงได้ไม่เข้มข้นเท่าตอนนี้ จึงวางแผนที่จะปรับแปลงการผลิตเป็นพืชพื้นบ้าน และไม้ผลให้มีสัดส่วนให้มากขึ้นเพราะไม่ต้องจัดการดูแลมากแต่ให้ผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
จากการจัดการแปลงการผลิตของพี่หล้าดังข้างต้น เป็นการยืนยันได้ว่าการวางแผนและผังการผลิตเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้มีผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่ามีเพียงครอบครัวเดียวทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชนที่บางครั้งชุมชนไม่เข้าใจ บางครั้งอาจไม่ยอมรับ แต่ด้วยความเข้าใจของครอบครัวและศรัทธาในระบบการผลิตก็สามารถพิสูจน์ว่าอยู่ได้จริงที่ทำอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน