โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 34 ความต่างนิเวศสร้างความหลากหลายพันธุกรรม
ผศ.ดร.ปราโมทย์ แก้ววงศ์ศรี คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทำไมต้องสนใจและอนุรักษ์พันธุกรรมไม้ผล ?

          บ้างก็ว่าอนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานได้มีกินมีใช้ต่อไป บ้างก็ว่าพันธุกรรมที่หลากหลายมีความเชื่อมโยงและช่วยรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม บ้างก็ว่าการอนุรักษ์พันธุกรรมลักษณะนิเวศที่แตกต่าง จะทำให้พันธุ์พืชชนิดเดียวกันเกิดความแตกต่างในผลผลิต รสชาติ ความทนทาน หรืออื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายพันธุกรรมมากขึ้น รวมทั้งในชุมชนต้องรวมกันอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะพันธุ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมไว้ เพื่อป้องกันความสูญเสียของพืชท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น แต่เดิมในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีสายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านเยอะมาก แต่ละต้นอายุเยอะ ต้นสูง มีรสชาติที่แตกต่างกันไป แต่สายพันธุ์ทุเรียนหายไป เพราะไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค จึงตัดทิ้งไปและเอาสายพันธุ์ทุเรียนที่เป็นความต้องการของผู้บริโภค เช่น หมอนทองมาปลูกแทน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ความหลากหลายพันธุกรรมพืชโดยเฉพาะพืชท้องถิ่นหายไป จึงควรต้องให้ความสนใจหรือมีการอนุรักษ์พันธุกรรมขึ้นมาด้วยการปลูกไว้ในท้องถิ่น หรือเอาพันธุ์นั้นๆ ไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ เพื่อรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์นั้นให้คงอยู่ไว้ โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ที่มีความหลากหลายของชนิดพืชและสัตว์อยู่แล้วเป็นฐาน แต่พันธุกรรมบางอย่างได้หายไปทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจตามกาลเวลาและยุคสมัย

ทำอย่างไรให้ยั่งยืน

          การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ต้องสร้างให้มีความหลากหลายและต้องมีแนวทางต่างๆ ที่ทำให้เกิดความยั่งยืน เช่น

  • ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูล หากต้องการให้การอนุรักษ์พันธุกรรมดั้งเดิมนั้นคงอยู่ ต้องมีการศึกษาค้นคว้าถึงคุณค่าด้านต่างๆ และต้องนำมาใช้ให้เกิดใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง
  • ต้องสร้างความร่วมมือหลายฝ่าย ปัจจุบันมีทั้งหน่วยงานรัฐ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย และเกษตรกร ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และพัฒนาความหลากหลายของพันธุกรรมมากขึ้น แต่ควรสร้างกระบวนการเพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน เช่น นำเอาความรู้ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ ความเชื่อทางประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน มาผสานหรือประยุกต์กับความรู้ใหม่ซึ่งอาจเป็นความรู้ทางเทคนิคหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิชาการมี
  • ต้องมีเอกลักษณ์บอกความสำคัญพันธุกรรมนั้นๆ เพื่อให้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงพันธุกรรมท้องถิ่น มีความจำเป็นต้องนำเสนอให้เห็นเอกลักษณ์ของนิเวศที่ได้มาของผลผลิต เช่น ทุเรียนทรายขาว ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ส้มโชกุนเบตง เป็นต้น

          สิ่งสำคัญคือ นอกจากการสร้างความหลากหลายชนิดพืชในแปลงเกษตรแล้ว ต้องเพิ่มเรื่องราวความเป็นมาของพันธุ์พืชที่เอามาปลูกในแปลง และสามารถบ่งบอกลักษณะเด่นที่เกิดขึ้นของสายพันธุ์นั้นๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจรายได้และแปลงเกษตร

อ้างอิง ข้อมูลจากเวทีเสวนา “พันธุกรรมไม้ผล : นวัตกรรมของการอนุรักษ์และพัฒนาบนฐานภูมินิเวศและความยั่งยืน วันที่ 25 มิถุนายน 2563 มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านปี 2563

บทความแนะนำ